กทม. ยืนยันน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 คาดหลัง 5 ต.ค. สถานการณ์จะคลี่คลาย เปิดแผนก่อสร้าง 6 อุโมงยักษ์ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ แบบยั่งยืน

กทม. ยืนยันน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 คาดหลัง 5 ต.ค. สถานการณ์จะคลี่คลาย เปิดแผนก่อสร้าง 6 อุโมงยักษ์ ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ แบบยั่งยืน
Highlight

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่า กทม.ประเมินว่าน้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554 และลงพื้นที่ตรวจสอบแนวคันป้องกันน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตามได้เตือนชุมชนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คาดจะคลี่คลาย หลังวันที่ 5 ต.ค.นี้ พร้อมเปิดแผนการก่อสร้างอุโมงยักษ์เพิ่ม 6 แห่งครอบคลุมพื้นที่หลัก เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพแบบยั่งยืน


กรุงเทพมหานครมหานคร (กทม.) ยืนยันว่าปีนี้น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ เหมือนปี 2554 ซึ่งได้เตรียมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ ทั้งการพร่องน้ำในคลองเพื่อรองรับน้ำ สร้างธนาคารน้ำ (water bank) สร้างท่อเร่งระบายน้ำ (Pipe jacking) ขุดลอกคลอง ลอกท่อระบายน้ำ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงเรือติดตามการเตรียมความพร้อมการรับมือสถานการณ์น้ำเหนือในพื้นที่ กทม. ในช่วงวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2564 พร้อมตรวจเยี่ยมความเป็นอยู่ของประชาชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 เขตบางพลัด ถึงชุมชนโรงสี เขตยานนาวา

พร้อมทั้งตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึง บางนา ความยาวประมาณ 78.93 กิโลเมตร 

พล.ต.อ. อัศวิน กล่าวว่า หลังจากปี 2554 เป็นต้นมาได้มีการเสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาให้สูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับความสูง 2.80 -3.50 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง รวมทั้งใช้กระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่างๆ 14 จุด รวมระยะทาง 2,512 เมตร

20211004-a-01.jpg

นอกจากนี้ยังตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 97 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น  พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

สำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 11 ชุมชน 239 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชน และให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง

20211004-a-03.jpg

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่าได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่างๆ อย่างทันท่วงที คาดว่าภายใน 1 สัปดาห์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะคลี่คลาย

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำป่าสัก คาดว่ามีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 1-5 ต.ค.64 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประชาชนที่อาศัยอยู่นอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา

สถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา วันนี้ (4 ต.ค.) เมื่อเวลา 06.00 น. ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่าน กทม. เฉลี่ย 3,091 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.72 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.28 เมตร จึงยังไม่ส่งผลกระทบในพื้นที่ กทม. โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 19.02 น. ที่ระดับ +1.13 ม.รทก.

20211004-a-04.jpg

กทม.วางแผนเพิ่มประสิทธิภาพแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืน

พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีอุโมงค์ยักษ์ช่วยระบายน้ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5-5.0 ม. กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ โดยอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณที่มีปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากเป็นที่ลุ่มต่ำและระบบระบายน้ำในพื้นที่ เช่น ท่อระบายน้ำ  คู คลอง มีขีดจำกัดไม่สามารถนำน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยเร็ว จึงมีความจำเป็นต้องก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายน้ำจากพื้นที่น้ำท่วมขังให้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาโดยตรง
 
นอกจากนี้ยังช่วยเร่งระบายน้ำหลากจากพื้นที่ภายนอกให้ระบายผ่านคลองระบายน้ำเข้ามาในพื้นที่ป้องกัน แล้วไหลลงสู่อุโมงค์ระบายน้ำใต้ดิน เพื่อระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งสามารถช่วยให้การระบายน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมนอกพื้นที่ป้องกันของกรุงเทพมหานคร    ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน     มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของกทม. ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม.

2. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.            

3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม.  มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที 

4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าว ถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที

20211004-a-02.jpg

เร่งเดินหน้าก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มเติม 6 แห่ง ครบคลุมทุกพื้นที่กรุงเทพฯ
          
ทั้งนี้ กทม. จะดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ เพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ความยาวรวม 39.625 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 238 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้ 

โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันออก ของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งพระนคร) จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอน ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตประเวศ บางนา พระโขนง และสวนหลวง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2565 

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร จากคลองบางบัวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะได้รับประโยชน์ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และเขตจตุจักร อยู่ระหว่างเตรียมงานก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569
     
  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบจากอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวถึงบริเวณซอยลาดพร้าว 130 พื้นที่ได้รับประโยชน์เขตบางกะปิ สะพานสูง บึงกุ่ม และเขตคันนายาว คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และ

  • โครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของเขตห้วยขวาง เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายใน พ.ศ. 2566 และแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2568

สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตก ของแม่น้ำเจ้าพระยา (ฝั่งธนบุรี) จำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนาบริเวณคอขวด พื้นที่ได้รับประโยชน์  เขตทวีวัฒนา หนองแขม และเขตบางแค คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2567 และ

  • โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ฝั่งธนบุรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน พ.ศ. 2569

นอกจากนี้ ในส่วนการบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ กทม. ได้จัดให้มีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำสถานีสูบน้ำตลอดเวลา เพื่อบำรุงรักษาและจัดเก็บขยะหน้าตะแกรงไม่ให้กีดขวางช่องทางรับน้ำเข้าสู่อุโมงค์ รวมทั้งได้ดำเนินการขุดลอกท่อระบายน้ำ ขุดลอกคู คลองระบายน้ำ   ในพื้นที่ กทม. เพื่อเปิดทางน้ำไหลและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่เป็นประจำ โดยได้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนถึงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี

ที่มา : ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร

ติดต่อโฆษณา!