รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. วันแรกคึกคัก แห่สมัคร 17 ราย
Highlight
การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กำหนดเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นับเป็นการเลือกตั้งในรอบ 9 ปี นับจากผู้ว่าฯคนสุดท้ายที่มาจากการเลือกตั้งคือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งเป็นผู้ว่า กทม.คนที่ 15 ศึกในครั้งนี้ มาทั้งในนามพรรคใหญ่ และผู้สมัครอิสระ ที่ได้เปิดตัวกันมาระยะหนึ่งแล้ว ยังมองไม่ออกว่าใครจะเข้าวิน จากนี้ไปหาเสียงเข้มข้น จัดเต็มนโยบาย ใครจะได้ใจชาว กทม. รออีกไม่นาน
(31 มี.ค.65) นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวการเปิดรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ประจำปี พ.ศ. 2565 ณ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
ในวันแรกของการรับสมัตรเลือกตั้ง (วันที่ 31 มี.ค.) ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม. 2 เขตดินแดง ซึ่งเป็นสถานที่รับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และสมาชิกสภา กทม.ระหว่างวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย.2565 ได้เปิดรับสมัครเป็นวันแรกพร้อมจับหมายเลขใช้หาเสียงและเลือกตั้ง ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นมา สรุปลำดับการยื่นใบสมัครของ ผู้สมัครได้ดังนี้
โดยในช่วงเช้าวันนี้มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก่อนเวลา 08.30
น. จำนวน 14 ราย ได้แก่
เบอร์ 1 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร (พรรคก้าวไกล)
เบอร์ 2 พ.ท.หญิง ฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล อดีต ส.ส. ปี 2544-2548 และอดีตโฆษกกระทรวงกลาโหม (อิสระ)
เบอร์ 3 สกลธี ภัททิยกุล อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (อิสระ)
เบอร์ 4 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตอธิการบดี สจล. (พรรคประชาธิปัตย์)
เบอร์ 5 วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ (อิสระ)
เบอร์ 6 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่ากทม. และอดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (อิสระ)
เบอร์ 7 รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. (อิสระ)
เบอร์ 8 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่การกระทรวงคมนาคม (อิสระ)
เบอร์ 9 วัชรี วรรณศรี (อิสระ)
เบอร์ 10 ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ (อิสระ)
เบอร์ 11 น.ต.ศิธา ทิวารี ประธานคณะกรรมการอำนวยการและพัฒนาพรรคไทยสร้างไทย (พรรคไทยสร้างไทย)
เบอร์ 12 ประยูร ครองยศ อดีตรอง ผอ. สำนักป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย กทม. (อิสระ)
เบอร์ 13 พิศาล กิตติเยาวมาลย์ (อิสระ)
เบอร์ 14 ธเนตร วงษา (อิสระ)
ส่วนผู้มาสมัครหลังเวลา 08.30 น. จะได้หมายเลขในลำดับต่อไป จำนวน 3 ราย ได้แก่
หมายเลข 15 พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที
หมายเลข 16 นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์
หมายเลข 17 นายอุเทน ชาติภิญโญ
ในส่วนของผู้สมัคร ส.ก.มีผู้สมัครจำนวน 327 ราย โดยผู้สมัครสามารถตกลงลำดับการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งกันได้ 5 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตสัมพันธวงศ์ เขตหลักสี่ เขตบางแค เขตบางกอกใหญ่ เขตบางขุนเทียน นอกนั้นมีการจับสลากเรียงทีละเขตจนครบทั้ง 45 เขต
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง จะตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้น จะประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ ที่เลือกตั้งหรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร
สำหรับการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร จะมีไปถึงวันที่ 4 เมษายน 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-16.30 น. โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตดินแดง
สำหรับการรับสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้งในครั้งนี้ จำนวนทั้งสิ้น 1 คน ให้ถือเขตของกรุงเทพมหานครเป็น 1 เขตเลือกตั้ง และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ที่จะมีการเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 50 คน ให้ถือเขตของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครเป็นเขตเลือกตั้ง มีจำนวน 50 เขตเลือกตั้ง
และจากจำนวนประชากรผู้อาศัยในกรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 5,523,676 คน มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คน (ข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พ.ค.65) แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 1,996,104 คน เพศหญิง จำนวน 2,378,027 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย
เปิดทรัพย์สินว่าที่ผู้ว่า กทม. ดร.เอ้, ชัชชาติ อู้ฟู่
เปิดทรัพย์สินผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เผยหลายคนไม่มีข้อมูล สำหรัยผู้ที่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) "ดร.เอ้" รวยสุดกว่า 300 ล้านบาท "ชัชชาติ" มี 100 กว่าล้านฯ "วิโรจน์" 51 ล้านฯ "รสนา"เคยมีหนี้เกือบ 5 ล้านฯ ส่วนคนอื่น ๆ ยังไม่มีข้อมูล
สำหรับทรัพย์สินและหนี้สินของผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ในรายที่น่าสนใจ ที่เคยยื่นแสดง ต่อ ป.ป.ช. ประกอบด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. เมื่อครั้งครบ 1 ปี หลังจากพ้นตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558
โดยในครั้งนั้น นายชัชชาติ และคู่สมรส แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 106,309,812 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยเป็นทรัพย์สินของนายชัชชาติ 73,295,186 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 10,182,723 บาท เงินลงทุน 1,187,163 บาท ที่ดิน 55,145,000 บาท บ้าน 2,820,300 บาท รถยนต์ 1,900,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 2,060,000 บาท และไม่มีหนี้สิน ทรัพย์สินคู่สมรส 33,014,626 บาท แบ่งเป็นเงินฝาก 19,186,009 บาท เงินลงทุน 10,138,616 บาท ที่ดิน 600,000 บาท รถยนต์ 2,200,000 บาท และทรัพย์สินอื่น 890,000 บาท
ด้านนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 4 ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หลังพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 64 โดยในครั้งนั้น นายสุชัชวีร์ และคู่สมรส แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวม 341,205,717 บาท หนี้สินรวม 34,853,979 บาท
เป็นทรัพย์สินของนายสุชัชวีร์ 140,895,964 บาท แบ่งเป็นเงินสด 100,000 บาท เงินฝาก 5,032,930 บาท เงินลงทุน 18,863,034 บา ที่ดิน 32,100,000 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 65,000,000 บาท ยานพาหนะ 2,800,000 บาท สิทธิและสัมปทาน 8,000,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 9,000,000 บาท มีหนี้สิน เป็นเงินกู้จากธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 26,444,029 บาท ส่วนทรัพย์สินคู่สมรส 200,309,752 บาท แบ่งเป็นเงินสด 8 แสนบาท เงินฝาก 10,494,153 บาท เงินลงทุน 33,617,897 บาท เงินให้กู้ยืม 16,807,702 บาท โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง 30 ล้านบาท ยานพาหนะ 12,910,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 95,680,000 บาท มีหนี้สิน 8,409,950 บาท
นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 ที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. หลังพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ครบ 1 ปี เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 55 โดยนายสกลธี พร้อมด้วยคู่สมรส แจ้งว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 19,657,766 บาท ไม่มีหนี้สิน โดยเป็นทรัพย์สินของนายสกลธี 14,597,859 บาท แบ่งเป็น เงินสด 1,200,000 บาท เงินฝาก 596,162 บาท เงินลงทุน 2,802,947 บาท ที่ดิน 3,288,752 บาท บ้าน 1 หลัง 5,000,000 บาท รถยนต์ 3 คัน 1,500,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 210,000 บาท ส่วนทรัพย์สินคู่สมรส 4,699,425 บาท แบ่งเป็นเงินสด 600,000 บาท เงินฝาก 2,099,475 บาท รถยนต์ 1 คัน 1,200,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 800,000 บาท ส่วนบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ขณะนั้น) มีทรัพย์สิน 360,371 บาท
ส่วนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.รายอื่น ที่มีข้อมูลบัญชีทรัพย์สินเล็กน้อย อาทิ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล หมายเลข 1 มีข้อมูลว่า เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อปี 62 แจ้งว่ามีทรัพย์สิน 51,435,181 บาท หนี้สิน 42,701 บาท
น.ส.รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 7 มีข้อมูลว่า เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. เมื่อปี 51 แจ้งว่ามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 4,948,760 บาท
ขณะที่ พ.ท.หญิงฐิฏา รังสิตพล มานิตกุล ผู้สมัครหมายเลข 2, นายวีระชัย เหล่าเรืองวัฒนะ ผู้สมัครหมายเลข 5,พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6, น.ส.วัชรี วรรณศรี ผู้สมัครหมายเลข 9, นายศุภชัย ตันติคมน์ ผู้สมัครหมายเลข 10, น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 11, นายประยูร ครองยศ ผู้สมัครหมายเลข 12, นายพิศาล กิตติเยาวมาลย์ ผู้สมัครหมายเลข 13 และนายธเนตร วงษา ผู้สมัครหมายเลข 14 ไม่มีข้อมูลบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
กทม. ห่างหายการเลือกตั้งผู้ว่ามาราว 9 ปี หลังกระบวนการรับสมัคร เสร็จสิ้น ก็เข้าสู่การหาเสียงเลือกกันอย่างเข้มข้น ผลการเลือกครั้งในรอบนี้อาจมีความหมายชี้วัดไปถึงการเมืองระดับประเทศ ที่รออยู่ในวันข้างหน้า ซึ่งใกล้ถึงวาระเช่นเดียวกัน
อ้างอิง : ประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, BBC, Dailynews
ขอบคุณภาพ : ประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร, BBC