นายกฯ สั่งคุมเข้มมาตรการโควิดหน่วยเลือกตั้งกทม.-พัทยา 22 พ.ค.นี้
Highlight
22 พ.ค. ชาวกรุงเทพฯอย่าลืมไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ เลือกคนเก่ง คนดีที่ใช่ พร้อม ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยโควิด สำหรับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ติดเชื้อโควิด และผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ก็สามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ โดยทางหน่วยเลือกตั้งได้จัดเตรียมสถานที่แยกคูหาเป็นการเฉพาะ ด้าน กทม. แนะ 5 ขั้นตอนใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. หากไม่สามารถไปใช้ิทธิได้ อย่าลืมแจ้งเหตุที่ไม่ได้ไปเลือกตั้ง ป้องกันการถูกจำกัดสิทธิบางประการ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รัดกุมการจัดสถานที่หน่วยเลือกตั้งสำหรับผู้มาใช้สิทธิการเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สมาชิกสภากทม. (ส.ก.) รวมถึงเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภาเมืองพัทยา ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ ตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
รวมทั้งให้มีการจัดคูหาแยกสำหรับผู้ติดเชื้อหรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 โดยหน่วยเลือกตั้งให้ติดตั้งเครื่องวัดอุณหภูมิ จัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ ลดความแออัดขณะรอลงคะแนนในพื้นที่คูหาเลือกตั้ง ระหว่างการนับคะแนนจัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชนอย่างน้อย 1-2 เมตร พร้อมขอความร่วมมือประชาชน หลีกเลี่ยงการส่งเสียงตะโกนเชียร์ในขณะนับคะแนนด้วย
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงนี้ยังคงต้องป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง จึงขอความร่วมมือแต่ละหน่วยเลือกตั้งให้เข้ม 6 ข้อปฏิบัติ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนี้
1. สถานที่เลือกตั้ง ควรมีการระบายอากาศที่ดี ไม่แออัด
2. ในหน่วยเลือกตั้งต้องกำหนดจุดให้มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ไว้ให้บริการประชาชนที่มาใช้สิทธิในทุกหน่วยเลือกตั้ง ทั้งก่อน และหลังเข้าคูหา
3. ควรมีเจ้าหน้าที่ตรวจอุณหภูมิผู้มาใช้สิทธิ หากพบว่ามีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ควรให้แยกใช้สิทธิลงคะแนนในคูหาพิเศษ ซึ่งอยู่บริเวณหน่วยเลือกตั้งเดียวกัน เพื่อไม่ให้ปะปนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งคนอื่น และแจ้งหน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อดำเนินการต่อไป
4. ควบคุม ดูแล ให้ผู้มีสิทธิ และผู้ที่อยู่ในหน่วยเลือกตั้งสวมหน้ากากผ้าหรือ หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
5. จัดระยะห่างของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนเข้าไปยังคูหา เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดระหว่างกัน
6. ควรมีการทำความสะอาดอุปกรณ์ หรือจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ หรืออาจให้ประชาชน นำปากกาส่วนตัวมาเอง ซึ่งสามารถทำได้ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
“ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ และเมื่อถึงหน่วยเลือกตั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เลี่ยงการรวมกลุ่มพูดคุย ใช้เวลาให้น้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการตะโกนเชียร์ขณะนับคะแนน รวมทั้งเมื่อกลับถึงบ้านให้รีบอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
กทม. แนะ 5 ขั้นตอนใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ค.)
กทม. แนะ 5 ขั้นตอนใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคมนี้ พร้อมย้ำเคร่งครัดมาตรการป้องกันโควิด-19 ขณะใช้สิทธิเลือกตั้ง เตือนผู้ที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ต้องแจ้งเหตุจำเป็นช่วงก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน มิฉะนั้นอาจเสียสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปี
กรุงเทพมหานคร (กทม.) แนะแนวทางการเตรียมตัวให้พร้อม ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมถึงขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่ 08.00 - 17.00 น. โดยย้ำว่า ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจคัดกรองอุณหภูมิป้องกันโควิด-19
5 ขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.
ใกล้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกไปใช้สิทธิเลือกคนดี คนเก่ง เข้ามาพัฒนากรุงเทพมหานครของเรา ก่อนจะออกไปใช้สิทธิเรามาดูขั้นตอนการเลือกตั้งกัน และอย่าลืมสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจคัดกรองอุณหภูมิป้องกันโควิด 19
ขั้นตอนที่ 1
ตรวจสอบรายชื่อ และลำดับที่ของตนเอง จากบัญชีรายชื่อที่ประกาศไว้หน้าหน่วยเลือกตั้งให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 2
ยื่นหลักฐานแสดงตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่น ๆ ที่ทางราชการออกให้ ที่มีภาพถ่าย และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมลงลายมือชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือในบัญชีรายชื่อ
ขั้นตอนที่ 3
ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือลงที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ และรับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ
ในกรณีที่ย้ายเขตที่อยู่ใหม่ จะได้รับบัตรเลือกตั้งที่เขตที่อยู่ใหม่เพียงใบเดียว คือ บัตรเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และจะต้องเดินทางไปยังเขตที่อยู่เดิมที่ได้ทำการเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร
ขั้นตอนที่ 4
เข้าคูหา ทำเครื่องหมายกากบาทลงในช่องให้เต็มช่อง โดยทำเครื่องหมาย ดังนี้
- บัตรสีน้ำตาล เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้ 1 คน เท่านั้น
- บัตรสีชมพู เลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร สามารถเลือกผู้สมัครได้เขตละ 1 คน ในเขตของตนเท่านั้น
- หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัครใดให้กากบาทที่ช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน แล้วพับบัตรเลือกตั้งทั้ง 2 ใบ ให้เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5
หย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบด้วยตนเอง โดยจะต้องสังเกตหีบบัตร และหย่อนให้ถูกประเภทด้วย
วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะเสียงคุณสำคัญ โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเอกสารที่ส่งไปที่บ้าน บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ณ สำนักงานเขตและสถานที่เลือกตั้ง แอปพลิเคชัน Smart Vote หรือเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย https://stat.bora.dopa.go.th/Election/enqelectloc/#/
อย่าลืมแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง เลี่ยงถูกตัดสิทธิการเมือง 2 ปี
หากไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิทางการเมือง โดยสามารถแจ้งก่อนหรือหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ ระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค. 65 หรือ 23-29 พ.ค. 65 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่
- ทำเป็นหนังสือ นำไปยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นไปยื่นแทน
- ทำเป็นหนังสือ จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน และ
- ระบบออนไลน์ ทางเว็บไซต์ https://stat.bora.dopa.go.th/Election/abscause/#/main หรือแอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อเลือกตั้งท้องถิ่น แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ถ้าหากไม่ไปเลือกตั้ง จะถูกจำกัดสิทธิอะไรบ้าง
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
- ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่
- ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง รองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรัฐสภา
- ไม่สามารถดำรงตำแหน่ง เลขานุการประธานสภาท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาท้องถิ่น และเลขานุการรองประธานสภาท้องถิ่น ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น