ชัชชาติ ผู้ว่า กทม.คนใหม่ ชนะแลนด์สไตล์เพราะอะไร?
Highlight
ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นผู้ว่า ก.ท.ม. คนใหม่ ชนะคู่แข่งแบบขาดลอย งานนี้โผไม่พลิก เป็นไปตามผลโพลต่างๆ เรียกว่านำม้วนเดียวจบ ตั้งแต่ออกสตาร์ทจนถึงเข้าเส้นชัย จากการเปิดตัวชัดเจนเป็นคนแรก มีนโยบายมากถึง 214 นโยบาย เน้นเรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ มีเวลาในการเปิดตัวและเข้าถึงชุมชนต่างๆ ได้ก่อนใครและมีบุคคลิกที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม การเลือกตั้งนี้เป็นสัญญาณบ่งบอกการเลือกใหญ่ในอนาคต ที่ฝั่งรัฐบาลหรืออนุรักษ์นิยมต้องทำการบ้านอย่างหนัก
กรุงเทพมหานครโดยสำนักประชาสัมพันธ์ รายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครอย่างเป็นทางการ
ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ปรากฎว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้สมัครอิสระ เบอร์ 8 คว้าชัย ด้วยคะแนนสูงสุด 1,386,215 คะแนน
ทั้งนี้เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้
การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,357,098 คน
- ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,635,283 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.48
ผลการเลือกตั้ง ส.ก.
- เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน
- พรรคก้าวไกล 14 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน
- พรรคไทยสร้างไทย 2 คน
- พรรคพลังประชารัฐ 2 คน
- กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน
- ผู้สมัครอิสระ 2 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน
- ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน
- ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73
- บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80
- บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50
- บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65
- เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
ศูนย์ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร รายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 0.10 น. ของ 23 พ.ค. หลังจากนับคะแนนครบ 100% อย่างไม่เป็นทางการ พบว่า
อันดับ 1 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สมัครในนามอิสระ 1,386,215 คะแนน
อันดับ 2 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ พรรคประชาธิปัตย์ 254,647 คะแนน
อันดับ 3 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล 253,851 คะแนน
อันดับ 4 นายสกลธี ภัททิยกุล สมัครในนามอิสระ 230,455 คะแนน
อันดับ 5 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง สมัครในนามอิสระ 214,692 คะแนน
กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในสามสิบวัน
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
ชัชชาติ เป็นใคร ทำไมชนะท่วมท้น "แลนด์สไลด์"
"ชัชชาติ ในวัย 56 ปี ตัดสินใจลงสู้ศึกชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระ กับนโยบายมากกว่า 200 นโยบาย ภายใต้โจทย์ "กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน"
เขาแนะนำตัวเองว่า “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิด ได้เห็นปัญหาและเรียนรู้เมืองกรุงเทพฯ จากหลากหลายมุม ผ่านการใช้ชีวิตไม่ต่างจากพวกเราอีกนับล้าน ๆ คนในกรุงกรุงเทพฯ”
ชัชชาติมักเอ่ยถึง "นโยบายเส้นเลือดฝอย" เปรียบเทียบกรุงเทพฯ เป็นร่างกายมนุษย์ที่มีเส้นเลือดใหญ่อยู่ส่วนกลาง และมีเส้นเลือดฝอยกระจายไปยังส่วนต่างๆ เหมือนกับชุมชนที่เป็นหน่วยย่อยของกรุงเทพฯ ที่ต้องแข็งแรงด้วย
จึงกำหนดนโยบายไว้ 9 ด้าน ได้แก่ ปลอดภัยดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี เศรษฐกิจดี เดินทางดี สุขภาพดี โครงสร้างดี เรียนดี และบริหารจัดการดี โดยระบุไว้ว่า นโยบายทั้งหมดกลั่นกรองมาจากปัญหาจริงของชาวเมืองกรุง ผ่านอาสาสมัครและการเข้าพื้นที่พบกับคนที่อยู่อาศัยทั่วกรุงเทพฯ
3 เดือนแรกจะทำอะไร?
จากการดีเบตที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เขาตอบว่า อยากให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ดังนั้น 100 วันแรกทุกคนต้องมีชีวิตที่น่าอยู่ขึ้น โดยได้กำหนดนโยบายไว้ 9 ด้าน มีแผนปฏิบัติงานกว่า 200 แผนและต้องขับเคลื่อนทั้ง 200 เรื่องไปพร้อมกัน
ยกตัวอย่าง นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 100 วันแรก จะเห็นโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เริ่มทำงาน กำหนดให้ทุกเขตปลูกต้นไม้ 100 ต้นทุกวันอาทิตย์ ใน 1 ปีจะได้ต้นไม้เพิ่ม 250,000 ต้น โครงการนี้ไม่ต้องใช้เงินทุน ใช้เพียงกล้าไม้และหาที่ปลูกเท่านั้น
นอกจากนี้ยังประกาศสงครามกับฝุ่น PM2.5 โดยให้เหตุผลว่า อากาศบริสุทธิ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ส่วนโครงการด้านสาธารณสุข 100 วันแรก จะขยายการให้บริการ ขยายเวลาดูแลประชาชน เพิ่มหมอพาร์ตไทม์ ให้บริการแพทย์ทางไกล ทดลองต่อรถเชื่อมต่อกับหมอ พร้อมยืนยันว่า ทุกโครงการสำคัญทั้งหมด หัวใจคือคนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องมีชีวิตที่ดีขึ้น
"ชัชชาติ" กว่าจะถึงวันนี้
ชัชชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เคยทำงานด้านวิศวกร อาจารย์
ระหว่างปี 2555-2557 ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต รวมถึงโครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กทม. แต่แผนของชัชชาติ ไม่ได้เดินหน้า หลังศาลรัฐธรรมนูญตีตกแผนกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชื่อ ชัชชาติ กลับมาอยู่ในสนามการเมืองอีกครั้ง เมื่อปี 2562 พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อของชัชชาติ เป็น 1 ในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ร่วมกับชื่อของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ได้เสนอชื่อจากบัญชีนี้ในการชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ชัชชาติ เคยติดโผ "รัฐมนตรีโลกลืม" เพราะประชาชนแทบไม่รู้จัก ทั้งที่เป็น รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่เมื่อปรากฎรูปถ่ายที่เขาถือถุงแกง ใส่ชุดวิ่ง เดินเท้าเปล่า ระหว่างรอใส่บาตรที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ จนกลายเป็นภาพไวรัลและจุดเปลี่ยนชีวิตที่ทำให้ได้ฉายา "รัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี"
บทวิเคราะห์การกวาดชัยชนะจนทำให้ฝั่งประชานิยมแพ้หมดรูป
จากบทวิเคราะห์จาก 3 ผู้เชี่ยวชาญที่อยู่เบื้องหลัง โพลผู้ว่าฯ กทม.มาตั้งแต่ต้น คือ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็น สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล และ รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล
ชัชชาติ ชนะเพราะอะไร?
ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ที่ปรึกษาสวนดุสิตโพล
ข้อได้เปรียบของ “คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์” คือ ออกตัวเป็นคนแรกว่าต้องการลงสมัครเป็นผู้ว่าฯ กทม. รวมทั้งมีการแสดงความมั่นอกมั่นใจมาโดยตลอดว่า พร้อมที่จะทำงาน ซึ่งจุดนี้พูดกันตรงๆ คือ คุณชัชชาติ กอบโกยคะแนนส่วนตัวเอาไว้ล่วงหน้าก่อนคนอื่นๆ นานแล้ว
และด้วยอาจจะเพราะเหตุนี้ จึงทำให้คนกรุงเทพฯ ที่ตัดสินใจล่วงหน้าเอาไว้นานแล้ว จึงไม่ยอมเปลี่ยนใจ แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ท้ายๆ ของการหาเสียงจะมีความพยายามปลุกเร้าในทำนองที่ว่า “ไม่เลือกเราเขามาแน่” เพื่อหวังให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในช่วงโค้งสุดท้ายขึ้นมาก็ตาม
ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของ สวนดุสิตโพล ที่ว่า คนกรุงเทพ “จะไม่เปลี่ยนใจ” ในช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่มีสัดส่วนสูงถึง 91.67% ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มคนที่ “เปลี่ยนใจ” มีเพียง 8.33%
สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวคะแนนในศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้ ค่อนข้างเป็นไปด้วยความระมัดระวังตัวกันสูงมาก ด้วยอาจจะเพราะเกรงว่าจะเกิดข้อผิดพลาด จนถูกฝ่ายตรงข้ามนำไปแฉจนเกิดแพ้ฟาล์ว และถูกนำไปขยายผลจนกระทั่งมีผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมีขึ้นก็เป็นได้
ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการสำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้าโพล
“คำตอบง่ายๆ เลย คือ คนกรุงเทพต้องการคุณชัชชาติ และคนกรุงเทพฯ มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ คุณชัชชาติจึงได้คะแนนจากทั้งฐานพรรคเพื่อไทย และกลุ่มที่ไม่ใช่เพื่อไทย รวมถึงกลุ่มที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยด้วย”
ประการแรกสิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ คนกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งมองข้ามความขัดแย้งทางการเมืองไปแล้วและเชื่อว่า คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สามารถเป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ดีได้ รวมถึงไม่สนใจเรื่องอดีตทางการเมืองที่ผ่านมาด้วย ประการที่สอง ผลของการลงพื้นที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถให้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริงๆ และนี่คือ บทเรียนสำคัญที่สอนให้ทุกพรรคการเมืองได้เห็นแล้วว่า “อย่ายึดติดกับสงครามครั้งก่อน” เพราะสถานการณ์ ณ ปัจจุบันย่อมไม่เหมือนกับสถานการณ์ที่เคยผ่านล่วงไปแล้ว
“หลายคนไปยึดติดกับสงครามครั้งก่อน เช่น ไม่จำเป็นต้องรีบเปิดตัว เปิดตัวก่อนเดี๋ยวโดนโจมตีก่อน ไม่ใช่แล้วครับ เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดแล้วครับว่า คิดผิดแล้ว การเปิดตัวก่อน ลงพื้นที่ก่อนของคุณชัชชาติ แสดงให้เห็นชัดเลยว่ามันได้ประโยชน์ 2 ปีที่ผ่านมาช่วยสร้างฐานให้คุณชัชชาติจากเดิมที่มีประมาณ 20% จนโดดมาเป็น 30-40% และวันนี้คือ 50%”
และอีกประเด็นที่แสดงให้เห็นชัดว่า การยึดติดกับสงครามครั้งก่อนจนทำให้พ่ายแพ้คือ การปล่อยเวลาให้ล่วงเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายจริงๆ แล้วจึงพยายามหันไปเน้นกลยุทธ์ “โจมตีฝ่ายตรงข้าม” ซึ่งเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว แต่ครั้งนี้เห็นชัดเลยว่า “ไม่ได้ผล” และ “สายเกินไปแล้ว”
“ปี 2556 อาจจะใช้ได้เพราะการแก้ข่าวมันทำได้ยาก แต่ในยุคนี้โซเชียลมีเดียทำให้การแก้ข่าวสามารถทำได้แทบจะในทันที และสามารถตอบโต้กลับจนกระทั่งเห็นผลได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมงเท่านั้น และนี่คืออีกหนึ่งบทเรียนสำคัญที่พรรคการเมืองจะต้องปรับกลยุทธให้เท่าทันโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป”
ประการที่สาม การรู้จักประคองตัวเมื่อรู้ตัวเองว่า “คะแนนนำขาด” คุณชัชชาติ เดินเกมดีมากในการ “ตอบโต้” กลยุทธ์ในช่วงโค้งสุดท้ายของฝ่ายตรงข้าม โดยการหลีกเลี่ยง “การปะทะวาทกรรม” จนกระทั่งทำให้เรื่องราวมันลุกลามขยายใหญ่โตออกไป ซึ่งหากสังเกตดีๆ คุณชัชชาติ จะตอบโต้เพียงสั้นๆ เช่น “ผมยืนยันว่าผมเป็นอิสระ” หรือ “ขอให้ประชาชนอย่าไปเชื่อ Fake News” จากนั้นก็จะไม่ตอบอะไรอีกเลย แค่นี้ทุกอย่างก็จบ...
เหตุใดจึงพ่ายแพ้ :
1. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง
ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ “คำตอบง่ายๆ เลยสำหรับกรณีนี้คือ ผู้ว่าฯ กทม. ทำไมจึงต้องมาแข่งกับ รองผู้ว่าฯ กทม.ด้วย แค่นี้ก็จบแล้ว”
เพราะหากมีการดำเนินยุทธศาสตร์เอาคะแนนของ พล.ต.อ.อัศวิน มากองรวมกับ คุณสกลธี เสียตั้งแต่แรกทุกอย่างมันก็จะง่ายขึ้น นอกจากนี้ จุดที่พลาดมากๆ ของ พล.ต.อ.อัศวิน คือ การอ้ำๆ อึ้งๆ ว่าจะลงหรือไม่ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ตั้งแต่แรก กว่าจะชัดเจนว่าจะลง ทุกอย่างมันก็สายเกินไปเสียแล้ว
นอกจากนี้ดูเหมือน พล.ต.อ.อัศวิน เองก็ดูเหมือนจะไม่สามารถตอบคำถามสำคัญของชาว กทม. ได้อีกด้วยว่า “อยู่มา 5-6 ปี แล้ว ทำอะไรให้ กทม. ดีขึ้นได้บ้างหรือไม่? ด้วย”
ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา : ในช่วงแรกที่ซูเปอร์โพลสำรวจความเห็นประชาชน จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พล.ต.อ.อัศวิน ได้รับคะแนนนิยมเพียงไม่เกิน 1-2% เท่านั้น ในขณะที่มากถึง 97-98% บอกว่าจะไม่เลือก พล.ต.อ.อัศวิน เพราะอยู่มา 5-6 ปี ไม่มีอะไรดีขึ้น
นอกจากนี้ การแสดงออกของ พล.ต.อ.อัศวิน ในช่วงที่ กทม. ประสบปัญหาต่างๆ ก็ดูจะไม่เข้าตาคน กทม. พอสมควร สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อยู่ในความทรงจำของคนกรุงมาโดยตลอดอีกด้วย
ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ : ประการแรก การเป็นผู้ว่าฯ กทม.มานานร่วม 5-6 ปี ทำให้มี “จุดอ่อน” ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีเยอะมาก ประการที่สอง “อายุ” ประเด็นนี้ทำให้ พล.ต.อ.อัศวิน ไม่สามารถได้คะแนนนิยมในกลุ่มเจเนอเรชัน Z ได้เลย ประการที่สาม “โชคร้าย” ในช่วงโค้งสุดท้าย จู่ๆ ก็เกิดมีฝนตกหนักจนทำให้หลายพื้นที่ของ กทม. น้ำท่วม ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่อง “อ่อนไหว” สำหรับคนเมืองหลวงมาโดยตลอด และทำให้ พล.ต.อ.อัศวิน ต้องเสียคะแนนนิยมในช่วงโค้งสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญไปอย่างน่าเสียดาย
นอกจากนี้ นับตั้งแต่นิด้าโพลทำผลสำรวจคะแนนในตัว พล.ต.อ.อัศวิน เป็นต้นมา จนเห็นได้ว่า คะแนนนิยมอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 9-12% มาโดยตลอดนับตั้งแต่เปิดตัวลงชิงผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งการที่ตัวเลขไม่ขยับขึ้นไปมากกว่านี้ น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้ชัดเจนว่า ฐานคะแนนนิยมของ พล.ต.อ.อัศวิน ที่ทำมาตลอดระยะเวลาการเป็นผู้ว่าฯ กทม. น่าจะมีอยู่เพียงเท่านั้นจริงๆ
2. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (ดร.เอ้)
ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ : เปิดตัวช้าไปสักนิด และเสียคะแนนไปพอสมควรจาก “สารพัดการรับน้องทางการเมือง” นอกจากนี้ในความเห็นส่วนตัวคิดว่า บางทีชาวกรุงเทพอาจจะเกิดความรู้สึก “เบื่อ” นักวิชาการและมองภาพ “นักปฏิบัติ” และ “มีผลงาน” จาก ดร.สุชัชวีร์ ได้ยังไม่ชัดเจนนักก็เป็นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังมาผสมเข้ากับ “ความสั่นคลอนภายใน” พรรคประชาธิปัตย์เข้าพอดิบพอดีในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อีกด้วย
“แต่ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าหากพรรคประชาธิปัตย์ ตัดสินใจเอาลูกหม้อของตัวเองที่ทำงานในพื้นที่มายาวนาน ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ บางทีแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์แบบเหนียวแน่นอาจจะตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคได้ง่ายกว่านี้ก็เป็นได้”
ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา : การถูกรับน้องทางการเมืองและความสั่นคลอนภายในพรรคประชาธิปัตย์กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่กลบ “จุดเด่น” เรื่องวิสัยทัศน์และนโยบายของ ดร.สุชัชวีร์ ไปเสียเกือบหมด อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้ถือเป็นบททดสอบครั้งสำคัญในการเดินทางจาก แวดวงวิชาการ สู่ แวดวงการเมืองในท้ายที่สุด
“จากผลสำรวจซูเปอร์โพลพบว่า แฟนพันธุ์แท้พรรคประชาธิปัตย์ถึง 50% เลือก ดร.สุชัชวีร์ นอกจากนี้ ยังได้รับคะแนนจากกลุ่มขั้วตรงข้ามอยู่บ้างด้วย เพราะฉะนั้นสำหรับ ดร.สุชัชวีร์ จึงถือว่าเป็นการเปิดตัวบนเวทีการเมืองที่ดีพอสมควร”
ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ : ฐานคะแนนของคุณสุชัชวีร์ หลังเปิดตัวสมัครผู้ว่าฯ กทม. มีเพียงประมาณ 3% กว่าๆ เนื่องจากเป็นที่รู้จักค่อนข้างน้อยสำหรับคนกรุงเทพมหานครทั่วๆ ไป ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ มี 4% กว่าๆ รวมกันได้เพียงแค่ 8% เท่านั้น ซึ่งห่างไกลกับคุณชัชชาติ ซึ่งที่ลงพื้นที่มา 2 ปี ฐานคะแนนเสียงวิ่งไปร่วม 30% กว่าๆ เข้าไปแล้ว และกว่าที่ คุณสุชัชวีร์ จะเริ่มเป็นที่รู้จักของคนกรุงเทพฯ ก็ต้องใช้ระยะเวลาในการหาเสียงไปนานพอสมควรอีกด้วย แต่เสน่ห์ของคุณสุชัชวีร์ คือ การปราศัยหาเสียง ฉะนั้นการเริ่มสร้างฐานเสียงได้ในครั้งนี้จะมีผลดีต่อการเล่นการเมืองต่อไปในอนาคตอย่างแน่นอน
3. สกลธี ภัททิยกุล
ความเห็น รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ : ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ความพยายามปลุกเร้าเรื่องการแบ่งขั้วทางการเมือง น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับชาวกรุงเทพฯ ที่กำลัง “เหนื่อยล้า” ณ เวลานี้ เพราะคนกรุงเทพฯ อาจจะรู้สึกว่า ความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมือง “ไม่ได้ช่วยอะไร” และอาจจะยิ่งทำให้เกิดความ “แตกแยก” มากขึ้นอีกด้วย
ความเห็น ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา : การเปิดลงสมัครที่ล่าช้าในขณะที่ฝ่ายคุณชัชชาติทำคะแนนทิ้งห่างไปไกลมากแล้ว นอกจากนี้กว่าที่ผู้ใหญ่ในขั้วการเมืองฝ่ายเดียวกันจะพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ก็ดูช้ามากเกินไป จนกระทั่งทำให้การปรับกลยุทธ์ การเชื่อมประสานการทำงาน เพื่อสร้างพลังและกระแสความนิยมผ่านอินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงตอบสนองความต้องการของประชาชนจึงไม่ทันการณ์
“ในความเห็นส่วนตัวผม หากมีความชัดเจนเสียตั้งแต่แรกว่าจะส่งเพียงคนเดียวอาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดูน่าลุ้นมากกว่านี้ก็เป็นได้ เพราะในช่วงโค้งสุดท้าย คะแนนคุณสกลธีดีขึ้นกว่าในช่วงเปิดตัวมาก”
ความเห็น ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ : เปิดตัวช้า และเกิดการตัดคะแนนในกลุ่มผู้สนับสนุนที่ใกล้เคียงกันของ พล.ต.อ.อัศวิน ซึ่งหากจะว่ากันตามจริง หากมีการตัดสินใจส่งคุณสกลธี หรือ พล.ต.อ.อัศวิน ลงสมัครแค่คนใดคนหนึ่ง บางทีอาจทำให้กลุ่มผู้สนับสนุนตัดสินใจได้ง่ายกว่านี้ และอาจจะได้คะแนนมากกว่านี้ก็เป็นได้
หากแต่สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับ คุณสกลธี คือ คะแนนเสียงที่ได้รับในครั้งนี้ต้องถือว่า “ดีเกินคาด” ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการตัดสินใจใช้ “กลยุทธ์การเทคะแนนให้” มาช่วยส่วนหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้าย แต่คะแนนที่ได้รับมาเหล่านี้ สามารถนำไปใช้สำหรับเส้นทางอนาคตทางการเมืองได้เช่นเดียวกับกรณีของ คุณสุชัชวีร์ เช่นกัน
บทสรุปสนามเลือกตั้งกทม. บ่งชี้อะไรในสนามเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงผลโพลหลายสำนักที่ชี้ชัดคะแนนนิยมของชัชชาติ ไม่เคยแผ่วลงนับตั้งแต่ประกาศตัวลงสนามแข่งขัน จนมาถึงช่วงโค้งสุดท้าย และรอเพียงกกต.ประกาศผลอย่างเป็นทางการเท่านั้น
รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส คณบดีวิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก มองว่า เหตุผลหนึ่งมาจากคนใช้สิทธิค่อนข้างมาก เพราะระยะเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ควรเป็น 4 ปีครั้ง แต่กลับกลายเป็น 9 ปี และกว่าจะเลือกตั้ง ส.ก.ก็ใช้เวลา 12 ปี เป็นความรู้สึกของผู้คนที่ต้องการตัวแทนไปดูแลพวกเขา คือ ส.ก. และต้องการผู้ว่าฯ กทม. มาทำในสิ่งที่ต้องการได้รับ ไม่ใช่มาชี้นิ้ว อย่างที่เคยทำ
คนต้องการหยุดการใช้อำนาจที่มีมานาน แทนที่จะฟังเสียงประชาชน และทุกเขตที่มีทหารก็เลือกชัชชาติ แสดงให้เห็นว่าไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนสายลมแล้ง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2562
นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นการเลือกตั้งครั้งหน้า แม้ไม่ยุบสภา แต่ต้องเลือกตั้งในเดือนมี.ค.ปีหน้า ซึ่งระยะเวลาใกล้กันมาก เพราะ “มู้ดแอนด์โทน” ของคนยังอยู่ในอารมณ์นี้ เป็นอันตรายต่อพรรคร่วมรัฐบาลกับปีกอนุรักษนิยม ที่เคยกอดคอกันใช้อำนาจจนได้ผล แต่ยิ่งนานไปยิ่งทำให้คนพร้อมจะเปลี่ยน
อีกหนึ่งสิ่งที่เห็นจากคะแนนรวมกันของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. 3-4 คน ในปีกอนุรักษนิยม พบว่ายังน้อยกว่าชัชชาติ และวิโรจน์ ลักขณาอดิศร แสดงให้เห็นความพ่ายแพ้ เพราะไม่มีเขตใดเลือก ทำให้คะแนนชัชชาติ เป็นสถิติใหม่ กลายเป็นชนะทุกเขตแบบไม่เคยมีมาก่อนและเป็นปรากฏการณ์ใหม่ สะท้อนคะแนนนิยมของรัฐบาล ไม่ใช่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ไม่ชนะเท่านั้น แต่เป็นพล.อ.ประยุทธ์ ด้วย
หรือแม้แต่โพลที่ก่อนหน้าพบว่า พล.ต.อ.อัศวิน มาเป็นอันดับสอง แต่ผลเลือกตั้งออกมากลับเป็น วิโรจน์ แสดงให้เห็นว่าคนเปลี่ยนตัวเลือกไปแล้ว จากคะแนนนิยมของพล.ต.อ.อัศวิน ที่มาจากการสนับสนุนของ พล.อ.ประยุทธ์ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม และเป็นการตัดสินใจที่พลาดของรัฐบาล ที่คิดว่า พล.ต.อ.อัศวิน จะสามารถใช้กลไก กทม.ในการให้ประโยชน์กับชุมชนได้ คิดว่าคุมคะแนนเสียงได้ จึงไม่ให้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ลงแข่งขัน กระทั่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.มาถึง และรู้ผลคะแนนที่ชัดเจน ยิ่งสะท้อนความนิยมของรัฐบาลที่ลดลงมากขึ้นในที่สุด
อ้างอิง : กรุงเทพมหานคร สำนักประชาสัมพันธ์
https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2399456
Thaipbs