26 กุมภาพันธ์ 2564
2,750

กทม. เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

กทม. เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

Written by ทันข่าวToday

Highlights 
กทม. ลงพื้นที่  ขุดลอกคลอง 95 แห่ง เตรียมรับมือภัยแล้ง‼️
กทม. เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้ง ลงพื้นที่หนองจอก ลาดกระบัง ขุดลอกคลอง 95 แห่ง แล้วเสร็จ พร้อมผันน้ำจากคลองหลักสู่คลองซอย ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่กรุงเทพฝั่งตะวันออกได้เกือบ 100%

คุณ ศักดิ์ชัย บุญมา 
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  
ลงพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เขตหนองจอกและเขตลาดกระบัง ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด พบว่าครั้งนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าทุกปี 
 
กรุงเทพมหานครมีวิธีบริหารจัดการน้ำอย่างไรในการใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร แบบเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ลงไปดูแต่ละพื้นที่พร้อมกัน‼️

▪️ คลองสิบสาม เขตหนองจอก

เป็นคลองสายหลัก รับน้ำจากคลองหกวาสายล่างเพื่อเข้าสู่คลองแสนแสบ ในพื้นที่เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง มีนบุรี และคลองสามวา ปัญหาของคลองแนวเหนือ-ใต้ คือน้ำจะไหลลงคลองแสนแสบไปคลองประเวศบุรีรมย์ น้ำที่ไหลมาจะไหลออกไปหมด คลองย่อยที่อยู่ระหว่างสองคลอง ก็คือคลองลำปลาทิว เขตหนองจอก กับคลองหลวงแพ่ง คลองย่อย ที่หล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรทั้งหมด เมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในคลองย่อย คลองซอยเหล่านี้ จะไหลลงคลองหลักทั้งหมด ส่งผลให้ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร

20210226-a-1.jpg

กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงเกษตรกรในเขตหนองจอกที่ประสบปัญหาไม่มีน้ำทำการเกษตร จึงได้ประสานกับทางนายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของเขตหนองจอก ลาดกระบัง มีนบุรี และคลองสามวา เพื่อปรึกษาหารือกันถึงปัญหาดังกล่าว พร้อมทั้ง ทางรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้กรุงเทพมหานครดำเนินการขุดลอกคลองทั้งหมด จำนวน 95 คลอง ในเขตหนองจอก ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่ทำการเกษตรให้มากขึ้น

▪️คลองสนามกลางลำ เขตหนองจอก

เมื่อปี 2563 ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ น้ำในคลองแห้งขอด ผลของการขุดคลองในปีนี้ ส่งผลให้มีน้ำเข้ามาเต็มคลอง ด้วยวิธีการบริหารจัดการน้ำ
โดยการขุดคลองที่เป็นทรงกางปลาให้ลึกขึ้น กว่าคลองหลักเพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้น เกษตรกรในพื้นที่ก็จะสูบน้ำเข้านาของตนเองในช่วงหน้าแล้งได้

การลอกคลองเป็นช่วงๆ เป็นการทำทำนบช่วงปลายคลอง Stop Lock หรือ ประตูน้ำไว้ น้ำก็จะไหลผ่าน ทำให้ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เบื้องต้น คือ ทำฝายกั้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไม่ให้น้ำไหลผ่านไป ทั้งหัวคลองและท้ายคลอง ผลลัพธ์ คือ แก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี มีการต่อยอดดำเนินการในพื้นที่เขตลาดกระบัง คลองสามวา และมีนบุรี 

▪️คลองสอง เขตหนองจอก

เป็นคลองสายหลักจากรมชลประทาน ทางน้ำไหลยาวไปถึงพื้นที่เขตลาดกระบัง คลองด่าน ในช่วงภัยแล้งต้องมีการสูบน้ำจากคลองสองไปในคลองซอย ระยะความยาวของคลองประมาณ 7 กิโลเมตร 

▪️บึงลำหิน เขตหนองจอก

เป็นบึงขนาดใหญ่ มีพื้นที่ 70-80 ไร่ ก่อนหน้านี้เจ้าของที่ดิน ขุดดินเพื่อนำไปขาย จึงทำให้เกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ไว้ใช้กักเก็บน้ำในช่วงหน้าแล้ง และเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ทางกรุงเทพมหานครขอความร่วมมือของเจ้าของพื้นที่ เพื่อใช้เป็นบึงกักเก็บน้ำ ซึ่งน้ำในบึงสามารถกระจายเพื่อช่วยเหลือประชาชนในเขตหนองจอกได้ทั้งหมด 

▪️พื้นที่เขตลาดกระบัง

เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ซึ่งเกิดปัญหาของภัยแล้ง คลองน้ำแห้งขอด ซึ่งเขตลาดกระบัง มีคลองประมาณ 60 คลอง มีพื้นที่เพาะปลูกข้าว พื้นที่ประมงและปศุสัตว์ ประมาณ 11,000 ไร่ การแก้ปัญหาได้แบ่งจุดสูบน้ำเป็น 3 จุด คือจากคลองทับยาวมาคลองลำอ้ายแบน และคลองลำชะร่า พื้นที่รับน้ำ ทางทิศเหนือคือคลองทับยาวมาคลองลำอ้ายแบน ทิศใต้คือจากคลองประเวศบุรีรมย์มาคลองตาสอน

20210226-a-2.jpg  
20210226-a-3.jpg
กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการระบายน้ำ ใช้วิธีการปิดคลองซอย และสูบน้ำจากคลองหลักเข้าไปในคลองซอย เพื่อให้พื้นที่ในคลองซอยมีน้ำในการทำการเกษตร อุปโภคและบริโภค เกษตรกรในพื้นที่ของเขตหนองจอกและเขตลาดกระบังได้รับการแก้ไขปัญหาของภัยแล้งเกือบจะ 100% แต่จะมีอยู่บางส่วนที่ทางกรุงเทพมหานครต้องใช้เครื่องจักรเข้าไปขุดลอกคลอง ทำให้มั่นใจว่าปีนี้ภัยแล้งของกรุงเทพมหานครจะผ่านไปได้ด้วยดี 

ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครไม่ค่อยประสบปัญหาภัยแล้งเท่าไหร่นัก การขาดแคลนน้ำ เริ่มเมื่อปี 2563 อย่างที่กล่าวไปข้างต้น และในปีนี้ที่ภัยแล้งค่อนข้างจะรุนแรง โดยปกติเกษตรกรจะทำนา 1-2 ครั้งต่อปี ในช่วงภัยแล้ง จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องชาวนาทราบ เพื่อเว้นจากการทำนา 

กรุงเทพมหานครใช้น้ำในการทำการเกษตรในปริมาณมาก และส่วนหนึ่งต้องนำไปใช้ในการอุปโภค บริโภคด้วย เมื่อในปีนี้เกิดปัญหาน้ำแล้งและอาจเกิดขึ้นในปีต่อๆไปอีก ทางกรุงเทพมหานครจึงได้จัดสรรงบเป็นพิเศษให้สำนักงานเขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งมากที่สุด นำไปขุดลอกคลองซอย และมีการพิจารณางบกลางให้ทุกเขต เช่น ฝั่งตะวันออก ฝั่งธนบุรี ในกลางปีนี้ เพื่อใช้ในการเตรียมการรับมือป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งต่อไป 

ปัญหาเรื่องน้ำไม่ใช่เพียงแค่น้ำแล้ง ปัจจุบันน้ำในประเทศไทยลดลงไปมาก น้ำส่วนหนึ่งต้องใช้ในการผลักดันน้ำเค็ม กรุงเทพมหานครจึงอยากรณรงค์ให้พี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร ช่วยกันประหยัดน้ำ ใช้น้ำเท่าที่จำเป็น เพราะน้ำคือชีวิตของทุกคน หากช่วยกันใช้น้ำอย่างมีคุณค่า เราก็จะสามารถผ่านภัยแล้งและปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำไปด้วยกันได้ในที่สุด





ติดต่อโฆษณา!