“สมัชชาสุขภาพ ” อีกทางออกของคน กทม. เสียงเล็กๆ ของคน 1 คน ช่วยกรุงเทพมหานครดีขึ้นได้
Written by ทันข่าวToday
Highlight
กรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศ และศูนย์กลางการท่องเที่ยวของโลก มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เมื่อคนจำนวนมากอยู่ร่วมกัน ย่อมนำมาซึ่งปัญหาต่างๆที่หลากหลาย
หัวใจการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จำเป็นต้องใช้แนวทางการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย ความร่วมมือ เพื่อทำให้เกิดขึ้นจริง จึงเป็นที่มาของ “สมัชชาสุขภาพ กรุงเทพมหานคร”
คุณชวินทร์ ศิรินาค
รองปลัดกรุงเทพมหานคร
เชิญชวนประชาชนและภาคีเครือข่าย รวมพลังความคิด ร่วมเสนอประเด็น สู่วาระการประชุม “กระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564" เพื่อพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับสร้างสุขภาวะคนกรุงเทพฯ
ลองนึกภาพวิถีคนเมือง 10 ล้านคน ที่มีการขยายตัวที่รวดเร็ว แน่นอนว่าย่อมมีปัญหาที่ซับซ้อน ไหนจะปัญหา
▪️ ชุมชนแออัด สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
▪️ ฝุ่นควัน PM 2.5
▪️ ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น
▪️ ปัญหาผังเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและ สังคม
▪️ เข้าถึงบริการสุขภาพ การใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน
และเรื่องที่กระทบกับคนไทยทุกคน คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
1. สมัชชาสุขภาพ คืออะไร
พูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า สมัชชาสุขภาพ เปรียบเหมือน เครื่องมือในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ตามพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 จากคำอธิบายของ คุณชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร
4 ภารกิจของ “สมัชชาสุขภาพ”
เพื่อรวมสานพลังการมีส่วนร่วมของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อคลี่คลายปัญหา และเพิ่มเติมคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร
สิ่งสำคัญในการจัดทำให้เห็นผล ก็คือ ต้องคุยภาษาเดียวกัน และมองเห็นเป้าหมายร่วมกัน
2. จุดเริ่มต้นของ ‘สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร’
ก่อเกิดขึ้นโดยมีกลไกการทำงาน คือ คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ซึ่งได้จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ณ ศาลาว่าการ กทม. เขตดินแดง เพื่อแสวงหาฉันทมติต่อการแก้ไขปัญหาร่วม ของคนกรุง ท่ามกลางมาตรการเข้มในการป้องกันโรคโควิด-19 งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 เพื่อเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น โดยการมีส่วนร่วมของทุกๆ คน
3. ‘2 มติ’ สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1
▪️ ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร
▪️ การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร
บ่อยครั้งที่เราอาจมองว่า หาบเร่แผงลอยเต็มไปด้วยความระเกะระกะ ไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งที่คนกรุงรู้สึกรำคาญเพราะถูกรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ทว่าอีกมุมหนึ่ง หาบเร่แผงลอยกลับคือโอกาส รายได้ และเสน่ห์ของกรุงเทพมหานคร
โดยเฉพาะในวิกฤติโควิด-19 ที่พบว่า หาบเร่แผงลอยมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศอาหาร ช่วยให้คนกรุงยังชีพและประทังชีวิตได้ในสถานการณ์อันยากลำบาก พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร จึงมุ่งไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เน้นในเรื่องของการ “สร้างความสมดุล” เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
4. ร่วมกำหนดอนาคตกรุงเทพฯ! สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2
เปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็น กทม. สู่ ‘มหานครแห่งสุขภาวะ’
การจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 ก่อนจะมีมติกำหนดจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยเปิดพื้นที่รับเสนอประเด็นจากประชาชนและภาคีเครือข่าย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้อย่างสมานฉันท์ พัฒนาสู่การเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน
5. เสียงเล็กๆ ของคน 1 คน ช่วยกรุงเทพมหานครดีขึ้นได้
ทางกรุงเทพมหานคร จึงอยากเชิญชวนประชาชนและภาคีเครือข่าย รวมพลังความคิด ร่วมเสนอประเด็น สู่วาระการประชุม “กระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564" เพื่อพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะสำหรับสร้างสุขภาวะคนกรุงเทพฯ