“เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ” ตอน กทม. สานพลังร่วมดูแลประชาชนผ่านวิกฤต COVID – 19

Highlight
  • กรุงเทพมหานครเผชิญกับเหตุการณ์ที่เราเองคนกรุงเทพฯ ไม่เคยเจอมาก่อน “เวลา” และ “บุคลากร” กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญ
  • วิกฤตครั้งนี้ … ทำให้กทม. พัฒนานวัตกรรมและช่องทางต่างๆ
  • ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อ … กับ BKK COVID-19
  • กทม. สื่อกลางในการปันน้ำใจ

สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายอยู่ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ จนถึงวันนี้ สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย และมาตรการต่างๆ ที่ทันท่วงที

ไวรัสโควิด-19 … ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่

ความท้าทายในการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เรา รวมถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่เคยเจอกับสถานการณ์ของโรคนี้มาก่อน และกรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เราเองคนกรุงเทพฯ ไม่เคยเจอมาก่อน เรายอมรับว่าเราเตรียมงานรับมือกันอย่างหนัก ด้วยบุคลากรที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาล และทีมอาสาสมัครต่างๆ รวมไปถึงการทำงานของทีมเบื้องหลัง และหน่วยงานสนับสนุน ที่มีขั้นตอนละเอียด ซับซ้อน เนื่องจากเป็นเรื่องของระบบสาธารณสุข ที่เกี่ยวพันกับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย

“เวลา” กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญ ที่กทม. ต้องเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ การทำงานที่ต้องแข่งกับเวลา ในการค้นหาผู้ติดเชื้อในกลุ่มเสี่ยง / การรักษาผู้ติดเชื้อ ในสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่เชื่อว่าด้วยความเสียสละ ความเข้าใจ ความร่วมมือของทุกคนทั้งรัฐบาลเอง เอกชน และประชาชน เราสามารถจะก้าวข้ามทุกปัญหาไปได้

ระบบของการติดตามเป็นอีกกระบวนการที่สำคัญ เมื่อเราพบว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มเสี่ยง เราจะเข้าไปติดตาม เพื่อมาสู่กระบวนการรักษา กทม. มีโรงพยาบาลภายใต้สังกัดอยู่ 11 แห่ง พร้อมทีมแพทย์ในสังกัดสำนักอนามัย ที่ลงพื้นที่ปูพรมค้นหากลุ่มเสี่ยงและผู้ติดเชื้อ ทั้ง 50 เขต เพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการรักษา




สถานการณ์คลี่คลาย … จริงๆ แล้วหรือยัง ?
แม้ว่าตัวเลขที่รายการอัพเดทรายวันอาจจะดูดีขึ้น แต่ทางกทม. เองก็ยังไม่วางใจ เราพยายามลงพื้นที่ให้มากที่สุด เพราะจำนวนตัวเลขเพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้ประเมินสถานการณ์พลาดได้

สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ถ้าสงสัยว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ควรติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อเราจะได้ช่วยกัน

“เจ้าหน้าที่” … แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ

“เจ้าหน้าทุกคน ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ กับการต่อสู้โควิด-19”

ทั้งการดูแล สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่สำนักงานเขต พนักงานทำความสะอาด เพื่อช่วยลดการติดเชื้อ รวมไปถึงกระบวนการดูแลและเฝ้าติดตาม กลุ่ม Home Quarantine ที่ได้ผลเป็นอย่างดี ด้วยการลงพื้นที่ดูแล และติดตามกลุ่มเสี่ยงถึงบ้าน

อีกกลุ่มหนึ่งที่เราจะขาดพวกเขาไม่ได้เลย คือ พนักงานเก็บขยะ ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่ทำงานโดยมีความเสี่ยงตลอดเวลา  เราทุกคนสามารถช่วยเค้าได้ด้วยการให้ทุกคนแยกขยะทิ้งให้เหมาะสม เพื่อที่เขาจะไม่ต้องเสี่ยงชีวิตและเสี่ยงที่จะติดไวรัส เรามาร่วมกัน โดยการแยกทิ้งหน้ากากอนามัย และ ทิชชู หรือขยะติดเชื้อที่ใช้แล้วให้ถูกสุขลักษณะ มัดปากถุงให้มิดชิด เขียนบอกสักนิด ก่อนทิ้งลงถัง

วิกฤต … ทำให้กทม. พัฒนานวัตกรรมและช่องทางต่างๆ

เพื่อช่วยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ทั้งในด้านการป้องกันอันตรายส่วนบุคคลและการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เช่น
– การริเริ่มทำหน้ากากผ้า และการจัดวิทยากรสอนตัดเย็บหน้ากากผ้าในสถานที่ต่างๆ รวมถึงการสอนออนไลน์
– การประดิษฐ์ Face Shield เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการป้องกันละอองฝอยจากเชื้อต่างๆ
– การจัดทำระบบ BKK COVID-19 เพื่อเป็นระบบคัดกรอง ให้ความรู้ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์
– การจัดทำเว็บไซต์ BKK Help ที่จะช่วยแจ้งจุดบริจาคสิ่งของ เป็นข้อมูลแก่ประชาชน
– การปรับแผนการรับยาของผู้ป่วย ให้สามารถไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน หรือรับยาทางไปรษณีย์ เพื่อลดการเดินทาง และลดความแออัดของโรงพยาบาล

การสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความปลอดภัยต่อคุณภาพชีวิตของเจ้าหน้าที่และประชาชน เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

ปูพรมค้นหาผู้ติดเชื้อ … กับ BKK COVID-19

การลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง / ค้นหาผู้ที่อาจติดเชื้อของรถตรวจเคลื่อนที่ ซึ่งอาจจะมีเห็นผ่านตาตามสื่อ Social Media หรือตามข่าวที่ต่างๆ กับ โครงการที่ กทม. ร่วมกับเพจหมอแล็บแพนด้า ในการลงพื้นที่ให้บริการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (SWAB) เพื่อนำไปทดสอบหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการเดินทางด้วยตัวเองของผู้ที่เข้าเกณฑ์สงสัย ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดความวิตกกังวลของประชาชน

สำหรับขั้นตอนก่อนการ SWAB นั้น ศูนย์บริการสาธารณสุขกทม. จะทำการตรวจคัดกรองบุคคลด้วยระบบ BKK COVID-19 ในเบื้องต้น หากพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ทางศูนย์ฯ จะส่งต่อบุคคลดังกล่าวไปเข้ารับการตรวจจากทีมหมอแล็บแพนด้า เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่ง (SWAB) ส่งตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ห้องแล็บของโรงพยาบาลวชิรพยาบาลต่อไป ซึ่งประชาชนสามารถเข้าลงทะเบียนผ่านระบบ BKK COVID-19  บนหน้าเว็บไซต์
http://bkkcovid19.bangkok.go.th/covid/frontend/web/

กทม. สื่อกลางในการปันน้ำใจ

อีกบทบาทสำคัญของ กทม. เปรียบเสมือนเป็นสื่อกลาง ส่งต่อความห่วงใยจากพี่น้องประชาชน ร่วมสร้างให้เกิดความ “แบ่งปัน” ช่วยเหลือ
เรามีการกำหนดจุดในการแจกจ่ายสิ่งของในแต่ละสำนักงานเขต เพื่อความเป็นระเบียบ และถูกต้องตามหลัก Social Distancing

หากประชาชนประสงค์จะนำสิ่งของไปมอบหรือจัดสรรด้วยตนเอง กทม.ก็ยินดี โดยขอให้ประสานกับสำนักงานเขตพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อจะได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดระเบียบการรับสิ่งของ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย

ขณะเดียวกันเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน ทางกทม. ก็เปิดรับบริจาคอีกช่องทางหนึ่ง
ข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม และสิ่งของจำเป็นเพื่อการดำรงชีพจากทุกภาคส่วนและประชาชนผู้มีจิตศรัทธา เพื่อเป็นสื่อกลางส่งต่อความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยสามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเลขานุการปลัดกรุงเทพมหานคร โทร. 0 2224 8651 และ 0 2221 2141 ต่อ 1280 ในวันและเวลาราชการ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นเป็นเรื่องที่เรายังต้องประเมินเป็นระยะๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนช่วยกันได้ คือการดูแลตัวเอง ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์ล้างมือ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด เว้นระยะห่างระหว่างกัน 1-2 เมตร  ซึ่งเชื่อว่าทุกคนทำได้ แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ติดต่อโฆษณา!