10 เมษายน 2563
2,394
“เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ” ตอน กรุงเทพฯ เมืองสีเขียว สร้าง Green Bangkok 2030
Highlight
- ปัญหาโลกร้อนเป็นโจทย์ที่หลายเมืองทั่วโลกเผชิญร่วมกัน และวิธีการที่ถูกที่สุดคือการปลูกต้นไม้และการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียว
- พื้นที่สีเขียว ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชน
- สิ่งที่คนกรุงเทพฯ จะได้เห็นพื้นที่นำร่องโครงการ Green Bangkok 2030 จำนวน 11 แห่ง
ปัญหาโลกร้อนเป็นโจทย์ที่หลายเมืองทั่วโลกเผชิญร่วมกัน หนึ่งในแนวทางรับมือความท้าทายดังกล่าวร่วมกัน คือการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และวิธีการที่ถูกที่สุดคือการปลูกต้นไม้และการเพิ่มปริมาณพื้นที่สีเขียวนั่นเอง
พื้นที่สีเขียว ถือเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตของประชาชน
การเจริญเติบโตของเมืองอย่างรวดเร็ว มีผลต่อพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร ที่มีพื้นที่ต่ำกว่ามาตรฐานตามที่องค์การอนามัยโลกกำหนด
ปัจจุบัน กทม.มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเพียง 6.9 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น เมื่อเมืองมีพื้นที่สีเขียวน้อย ก็จะทำให้เกิดการผลิตก๊าซออกซิเจนน้อย และส่งผลให้สภาพอากาศเป็นพิษ
ดังนั้น กทม.จึงเร่งวางแผนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว (โดยตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก กำหนดพื้นที่สีเขียวต่อสัดส่วนประชากรที่เหมาะสมคือ 9 ตารางเมตรต่อคน )
พื้นที่สีเขียว ถือเป็นปอดสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่มีจำนวน 10 ล้านคน
จึงเป็นที่มาของแนวคิด “มหานครสีเขียว” จึงเป็นหนึ่งในแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี โดยตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (2561-2565) ระบุว่า “เมืองกรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวกระจายครอบคลุมไปทั่วพื้นที่ กรุงเทพมหานคร มีจำนวนพื้นที่สีเขียวและแหล่งดูดซับมลพิษ ทางอากาศไม่น้อยกว่า 9 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณท้องถนนเพื่อความสวยงาม มีต้นไม้ใหญ่ๆ เป็นหลัก เพื่อให้เป็นแหล่งดูดซับมลพิษเพิ่มมากขึ้น”…
อีกทั้งในปี 2030 หรือ พ.ศ. 2573 เป็นปีที่รัฐบาลไทยได้กำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20- 25 ตามข้อตกลงปารีส ที่ประเทศไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ร่วมด้วยช่วยกันในการสร้างมหานครสีเขียว
เพื่อให้ทุกภาคส่วนรวมทั้งประชาชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างมหานครสีเขียวอย่างยั่งยืน กรุงเทพมหานคร จึงได้ร่วมกับ ปตท. และภาคีเครือข่าย อาทิ กลุ่ม We Park และ กลุ่ม Big Tree ประกาศเจตนารมณ์เพื่อผลักดันกรุงเทพมหานครสู่เมืองสีเขียว โดยมุ่งเน้นการสร้างพื้นที่สีเขียวอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมาย
1. ระยะการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียว ไม่เกิน 400 เมตร (แต่แค่เพิ่มพื้นที่สีเขียวอาจจะยังไม่พอ UN habitat ได้ออกเกณฑ์ใหม่เรื่องระยะการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวขึ้นมาว่า พื้นที่สีเขียวนั้นควรเข้าถึงได้ในระยะ 400-800 เมตร หรือ 5- 10 นาที (ซึ่งกรุงเทพฯ ของเรามีพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงได้ในระยะ 400 เมตรเพียง 13 %) ดังนั้นโครงการ Green Bangkok 2030 จึงต้องการกระจายการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเพิ่มให้เป็น 50 % ภายในปี 2030
2. อัตราเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรในกรุงเทพมหานคร (เท่ากับว่ากทม. เองต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 1.1 หมื่นไร่)
3. พื้นที่ร่มไม้ต่อพื้นที่เมือง เพิ่มจากปัจจุบันร้อยละ 14 เป็นร้อยละ 30 ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เมืองสีเขียว และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
สำหรับประชาชนมีความประสงค์จะนำพื้นที่ของตนเองเข้าร่วมโครงการ Green Bangkok 2030 สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก หรือที่ แฟนเพจ Green Bangkok 2030
สิ่งที่คนกรุงเทพจะได้เห็น
กรุงเทพมหานคร ได้เสนอพื้นที่นำร่องโครงการ Green Bangkok 2030 จำนวน 11 แห่ง ได้แก่
1. สวนสาธารณะบริเวณทางแยกต่างระดับถนนร่มเกล้ากับถนนเจ้าคุณทหาร พื้นที่ 18 ไร่
2. สวนสาธารณะภายในสถานีพัฒนาที่ดินกรุงเทพมหานคร (ถนนบางขุนเทียนชายทะเล) พื้นที่ 37 ไร่
3. สวนปิยะภิรมย์ พื้นที่ 10 ไร่
4. สวนสันติพร พื้นที่ 2.5 ไร่
5. สวนชุมชนเขตบางรัก พื้นที่ 0.5 ไร่
6. สวนภายในซอยวิภาวดี 18 แยก 3 พื้นที่ 3 ไร่
7. พื้นที่ภายในศูนย์กำจัดขยะอ่อนนุช พื้นที่ 20 ไร่
8. พื้นที่ สีเขียวภายใน ปตท. สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดี)
9. ภูมิทัศน์ทางเท้าริมถนนพหลโยธิน
10. พื้นที่ใต้ทางด่วนศรีรัช – วงแหวนรอบนอก (บริเวณหน้าสถานีรถไฟฟ้าบางซ่อน) และ
11. พื้นที่ใต้ทางด่วนฉลองรัช (บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 2)
โดยคาดว่าพื้นที่นำร่องทั้ง 11 แห่งนี้ บางส่วนดำเนินการเสร็จเรียบร้อย บางส่วนกำลัง
ดำเนินการจะแล้วเสร็จได้ภายในปี 63-65
การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และอยากให้ทุกคนปรับเปลี่ยนมุมอง บางคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญของต้นไม้ “ทุกคน” คือโซลูชั่นที่จะสามารถสร้างเมืองที่ดีกว่า
วิธีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทำได้หลายแนวทาง และประโยชน์ที่ได้รับก็ครอบคลุมหลายมิติ นอกจากเป็นการรับมือปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพในเขตเมือง แถมยังทำให้คนเมืองได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
กรุงเทพมหานคร เปรียบเสมือนบ้านของเราทุกคน มาช่วยกันสร้างบ้านเราให้น่าอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า