เช็กความพร้อมระบบระบายน้ำ กทม. รับมือหน้าฝนปี 64
HighLight :สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ยืนยัน แผนป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนปีนี้ พื้นที่เสี่ยงหลายจุด สามารถรับมือปริมาณฝนตก 80 มิลลิเมตร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือกรณีฝนตกปริมาณ 100 มิลลิเมตร ก็สามารถระบายน้ำได้ภายใน 30 นาที
ฤดูฝนปี 2564 ชีวิตท่ามกลางโรคระบาดครั้งใหญ่ คนกรุงยังต้องเผชิญเหตุการณ์ “ฝนตก น้ำท่วม” มาซ้ำเติมหรือไม่ ? “ทันข่าว Today” พาไปเช็กความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำปีนี้ กับ นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร
ปีนี้ฝนชุก
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่าสถานการณ์ฝนปี 2564 จะมีปริมาณมากกว่าปี 2563 ประมาณ 5-10% และช่วงกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน จะมีฝนตกชุกหนาแน่น ประมาณ 60-80% อาจทำให้เกิดน้ำท่วมได้ในหลายพื้นที่ รวมถึงกรุงเทพมหานคร
ปัจจัยที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร
- กรุงเทพมหานครมีการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การก่อสร้างขนาดใหญ่
และการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ
- สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง
- ขยะอุดตันในท่อระบายน้ำ
- ประชากรหนาแน่น ต้นไม้ลดลง
- ลักษณะภูมิศาสตร์เป็นที่ลุ่มต่ำ
กทม. วางแผนรับมือสถานการณ์ปี 2564 แล้ว
นายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า มีการวางแผนป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นช่วงน้ำเหนือไหลหลากและน้ำทะเลหนุน ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งแผนการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในภาพใหญ่ แบ่งออกมาได้ดังนี้
แผนการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำและการป้องกันน้ำท่วม ของ กทม.
- บริหารจัดการน้ำหลาก น้ำทะเลหนุน
- สร้างเขื่อนคอนกรีตริมแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 78 กิโลเมตร
- ตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดำเนินการซ่อมแซมแล้ว จำนวน 27 จุด
- เตรียมกระสอบทราย สำหรับเรียงตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 2.3 ล้านใบ
- เรียงกระสอบทรายไปกั้นในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ
ความยาว 3.2 กิโลเมตร จำนวน 87 แห่ง
- แผนรับมือสถานการณ์น้ำท่วมจากฝน
- ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ ความยาวประมาณ 3,300 กิโลเมตร ดำเนินการแล้ว ประมาณ 90%
- เปิดทางน้ำไหล ขุดลอกคลอง 130 คลอง ดำเนินการแล้วเสร็จ 90%
เปิดหลักการทำงาน “อุโมงค์ระบายน้ำ”
สถานีสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นตัวระบายน้ำในคลองให้ต่ำ รองรับปริมาณฝนที่ตกลงมา เพื่อป้องกันพื้นที่ไม่ให้เกิดน้ำท่วม ซึ่งนายสมศักดิ์ เล่าว่า “หลักการทำงานของอุโมงค์ระบายน้ำ ใช้ในการลดระดับน้ำในคลองสายหลักและสายรอง พวกพื้นที่ที่มีจุดเสี่ยงหรือจุดน้ำท่วมต่าง ๆ เวลาฝนตกลงมา ก็จะไหลลงท่อระบายน้ำ บางพื้นที่ เราใช้แบบปิดล้อม ซึ่งจะมีบ่อสูบที่จะสูบออกลงคลอง บางพื้นที่ที่เราไม่ได้มีบ่อสูบ ไม่ได้ปิดล้อม ก็จะไหลลงคลอง ถ้าคลองสูง น้ำบนพื้นที่ไม่สามารถไหลได้ ก็เกิดปัญหาน้ำท่วม แต่ถ้าเราสามารถลดระดับน้ำในคลองได้ พื้นที่ต่าง ๆ ก็จะระบายน้ำในพื้นที่ได้เร็ว ปัญหาน้ำท่วมก็จะไม่เกิด”
ยกตัวอย่าง “อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว” เป็นอาคารรับน้ำ ซึ่งรับน้ำจากคลองสายหลักด้านตะวันออกและตอนบนของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา
อุโมงค์ระบายน้ำ กทม. มีกี่จุด ?
อุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร สร้างเสร็จแล้ว จำนวน 4 แห่ง
- อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว
- อุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน
- อุโมงค์ระบายน้ำบางซื่อ
- อุโมงค์ระบายน้ำประชาราษฎร์ สาย 2
และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 1 แห่ง คือ อุโมงค์ระบายน้ำบึงหนองบอน อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
คาดว่าแล้วเสร็จประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565
ชาวกรุงไว้ใจได้ ! กทม. รับมือฝนตกปริมาณ 80 มิลลิเมตร สบาย ๆ
นายสมศักดิ์ บอกกับทีม “ทันข่าว Today” ว่า สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม (Pipe Jacking) ในพื้นที่เสี่ยงหลายจุด เช่น ถนนพหลโยธิน บริเวณแยกเกษตรศาสตร์ เป็นพื้นที่ต่ำ เมื่อมีการวางท่อใต้ถนน (Pipe Jacking) เป็นตัวบ่อรับน้ำ เพื่อระบายน้ำออกไปทางคลองลาดพร้าว นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิท 107 หรือซอยแบริ่ง และย่านเอกมัย ถ้าเปรียบให้เห็นภาพว่าประสิทธิภาพดีขนาดไหน ? นายสมศักดิ์ บอกว่า “ก่อนวางระบบ Pipe Jacking
ฝนตก 30-40 มิลลิเมตร น้ำก็ท่วมแล้ว ยิ่งถ้าตก 100 มิลลิเมตรขึ้นไป ต้องใช้เวลาในการระบายน้ำยาวนานถึง 5-6 ชม. การจราจรติดขัด ประชาชนเดือดร้อน แต่ตอนนี้ ฝนตกลงมา 80 มิลลิเมตร น้ำก็ไม่ท่วม ต่อให้ฝนตก 100 มิลลิเมตร ก็สามารถระบายน้ำได้ภายใน 10 นาที ถึง 30 นาที”
หากประชาชนพบเห็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สามารถแจ้งผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ดังนี้
ช่องทางติดต่อ :
ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร
โทร. 02-248-5115 (5 คู่สาย)
Facebook : ศูนย์ป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร @BKK_BEST
LINE : @BKK_BEST
เกาะติดสถานการณ์ได้แบบ Real Time
กลุ่มไลน์แบบเปิดสาธารณะ “ฝนตก-น้ำท่วม บอกด้วย”
วอนประชาชน “ไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง” อุปสรรคใหญ่ขวางทาง “ระบายน้ำ”
นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่เดินเครื่องสูบน้ำช่วงหน้าฝน จะเจอขยะสารพัดประเภทลอยมาติดอุโมงค์จำนวนมาก ต้องใช้เครื่องจักรคอยดักจับ นำออกไปจากอุโมงค์ วันนึงเฉลี่ยมากถึง 10-15 ตัน ในขณะที่ปัจจุบัน กทม. ได้เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ และระบบป้องกันน้ำท่วมได้ดีขึ้นแล้ว ดังนั้น ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน ไม่ทิ้งขยะลงคูคลอง เพราะขยะเป็นอุปสรรคขวางทางน้ำ ทำให้การระบายน้ำช้าลง
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว