บทบาทของ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง” สภากรุงเทพมหานคร
HighLight
การบริหารงานด้านการโยธาและผังเมืองของกรุงเทพมหานคร เช่น โครงการก่อสร้างอาคาร โครงการก่อสร้างถนน สะพานข้ามแยก สะพานข้ามคลอง อุโมงค์ทางเดินลอด เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซม เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร ผู้ที่ตรวจสอบการทำงานทั้งหมดนี้ คือ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ประจำสภากรุงเทพมหานคร”
การบริหารงานด้านการโยธาและผังเมืองของกรุงเทพมหานคร เช่น โครงการก่อสร้างอาคารโครงการก่อสร้างถนน สะพานข้ามแยก สะพานข้ามคลอง อุโมงค์ทางเดินลอด เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซม เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานคร
บทบาทและหน้าที่ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ประจำสภากรุงเทพมหานคร”
ผู้ที่ตรวจสอบการทำงานทั้งหมดที่ระบุไว้ข้างต้น คือ “คณะกรรมการการโยธาและผังเมืองประจำสภากรุงเทพมหานคร” เนื่องจากคณะทำงานนี้ มีหน้าที่และอำนาจในการศึกษาติดตาม ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานการวางแผนการโยธา การก่อสร้างและบูรณะ การควบคุมการก่อสร้าง การควบคุมอาคาร การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการวางผัง และการจัดทำผังเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการศึกษาปัญหา เพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ในการดำเนินงานของหน่วยงาน ก่อนรายงานผลการดำเนินงานต่อสภากรุงเทพมหานคร
เปิดใจประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร
นายนิรันดร์ ประดิษฐกุล ในฐานะประธานคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงบทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองว่า “สภากรุงเทพมหานคร มีคณะกรรมการสามัญประจำสภากรุงเทพมหานคร ทั้งหมด 12 คณะ ซึ่งคณะกรรมการการโยธาและผังเมืองสภากรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในนั้น มีหน้าที่ช่วยดูแล แนะนำ พิจารณาการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครส่วนที่เกี่ยวข้องกับการโยธาและผังเมือง”
การลงพื้นที่ทางลอดสะพานไทย-เบลเยียม ถนนพระราม 4 ใกล้จุดการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน (สถานีลุมพินี)สะท้อนภาพการทำงาน
ยกตัวอย่างการลงพื้นที่ทางลอดสะพานไทย-เบลเยียม ถนนพระราม 4 ใกล้จุดการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน(สถานีลุมพินี) เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2564 หลังจากประชาชนผู้ใช้เส้นทางร้องเรียนว่า พื้นผิวการจราจรบริเวณเชิงสะพาน มีลักษณะการยกตัวเป็นเนินสูง เกรงว่าจะเกิดอุบัติเหตุกับผู้สัญจรไปมา ตำรวจจราจรตรวจสอบพบว่า เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สายเฉลิมรัชมงคล บริเวณสถานีลุมพินี กับโครงการ วัน แบงค็อก ซึ่งบริษัทเอกชนได้ทำบันทึกข้อตกลงขออนุญาตกับทางกรุงเทพมหานคร เมื่อตำรวจแจ้งเหตุทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ได้รีบสั่งการให้บริษัทเอกชนเร่งซ่อมแซมให้สภาพพื้นผิวการจราจรให้ใช้ได้ตามปกติทันที
จากกรณีนี้ นายนิรันดร์ อธิบายว่า การแก้ไขปัญหาตามที่ประชาชนร้องเรียน เป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครส่วนการทำงานของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร คือการเข้ามาตรวจสอบว่าดำเนินการเรียบร้อยหรือไม่ ? นี่เป็นส่วนหนึ่งในการสะท้อนภาพการทำงานตรวจสอบของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร
เป้าหมายการทำงาน “คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง ประจำสภากรุงเทพมหานคร”
นายนิรันดร์ กล่าวว่า งานด้านการโยธาและผังเมืองของกรุงเทพมหานคร ยังมีอีกหลายแง่มุม ขณะนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่กรุงเทพมหานครนำงบประมาณไปดำเนินการอยู่ เพื่อพัฒนากรุงเทพมหานครให้มีความเจริญรุดหน้าต่อไป
เป้าหมายของคณะกรรมการการโยธาและผังเมือง สภากรุงเทพมหานคร คือ การเข้าไปตรวจสอบ เพื่อให้การดำเนินการตามข้อร้องเรียนดังกล่าว สอดคล้องกับการวางผังและพัฒนาเมืองระดับประเทศ ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว