13 มีนาคม 2563
2,796
“เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ” ตอน ระบบ Feeder ช่วยการเดินทางคนกรุง แบบไร้รอยต่อ | BangkokStories
Highlight
- “ระบบ Feeder” แนวคิดที่ช่วยการเดินทางคนกรุง ช่วยให้การเดินทางระบบขนส่งสาธารณะแบบไร้รอยต่อ
- เปิด 3 เส้นทางนำร่อง
- จุดจอดรถ Shuttle Bus เป็นจุดจอดเฉพาะ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง แต่จะมีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร เฉพาะจากต้นทาง ได้แก่ ชุมชนสถานที่ราชการต่างๆ และปลายทาง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้า
ชีวิตของคนกรุงเทพที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ แต่ก็ยังต้องการความสะดวกสบายอยู่ เพราะความสะดวกสบายถือเป็นเรื่องสำคัญ ในการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทาง … (ใช่มั้ย ?)
ปัญหาหนึ่งที่พบ คือ ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของเรายังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ เท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
ลองนึกถึงหากเราต้องการให้เริ่มต้นการเดินทางจากบ้าน โดยไม่ใช้รถส่วนตัว ถ้าวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กว่าจะเดินไปถึงป้ายรถเมล์ป้ายแรก กว่าจะเดินไปถึงสถานีรถไฟสถานีแรกไกลมาก คำว่าไกลมาก ก็แปลว่า เปลี่ยนใจทันที เปลี่ยนใจ ก็กลับไปหารถยนต์เหมือนเดิม… จริงมั้ยครับ ?
จึงเป็นที่มาของระบบ Feeder เพื่อช่วยการเดินทางคนกรุง แบบไร้รอยต่อ !!
“ระบบ Feeder” แนวคิดที่ช่วยการเดินทางคนกรุง
แนวคิดการทำ “ระบบ Feeder” ที่เป็นระบบการเชื่อมต่อ “ล้อ-ราง-เรือ” การเดินทางให้ช่วยให้ผู้โดยสาร ได้รับความ สะดวกสบายมากขึ้น
โดย กทม. ได้เตรียมพัฒนาขึ้น เพื่อให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบหลักยังไปไม่ถึง โดยจะร่วมกับภาคเอกชนทดลองเดินรถ Shuttle Bus ให้เป็นขนส่งระบบรอง (Feeder) ในเส้นทางที่ยังไม่มีบริการขนส่งมวลชนอื่นๆ และหลีกเลี่ยงการทับซ้อนเส้นทางเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถสองแถว ที่ให้บริการในปัจจุบัน
สำหรับ 3 เส้นแรกที่เราจะทดลองเดินรถนำร่อง ได้แก่
1. สถานีขนส่งมวลชนสายใต้ – สถานี BTS บางหว้า
2. ดินแดง – สถานี BTS สนามเป้า
3. ชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานี ARL ลาดกระบัง
โดยเส้นทาง สถานีขนส่งมวลชนสายใต้ – สถานี BTS บางหว้า จะเริ่มให้บริการ วันอังคารที่ 17 มี.ค. 63
ประเภทรถ: Shuttle’s Bus (NGV) ประมาณ 40 – 50 ที่นั่ง
ช่วงเวลาเดินรถ: ระหว่างเวลาปกติ 05.00 – 21.00 น.
ความถี่ของการให้บริการเดินรถ: ประมาณ 15 – 30 นาทีต่อคัน (มีตารางการเดินรถระบุไว้ชัดเจน)
ส่วนอีก 2 เส้นทาง คือ ดินแดง – สถานี BTS สนามเป้า และชุมชนเคหะร่มเกล้า – สถานี ARL ลาดกระบัง คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการประมาณสิ้นเดือนมีนาคม
โดยทั้ง 3 เส้นทาง ทาง กทม. เปิดให้บริการฟรี 6 เดือน หลังจากนั้นกรุงเทพมหานคร จะมีการประเมินผลการดำเนินงาน และผลการตอบรับของประชาชนเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป
ส่วนอีก 7 เส้นทางที่เหลือ กทม. จะศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมก่อนที่จะเปิดให้บริการในลำดับต่อไป สำหรับทั้ง 7 เส้นทาง ประกอบด้วย
1. พระราม 6 – สถานี BTS อารีย์
2. ทองหล่อ – เอกมัย
3. ท่าเรือกรุงเทพ – สถานี BTS อ่อนนุช
4. ซอยเสนานิคม – สถานี BTS เสนานิคม
5. สถานี BTS สยามสแควร์ – สนามหลวง
6. ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) – มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
7. สายไหม – สถานี BTS สะพานใหม่
นอกจากนั้น เรายังมีแผนที่จะเพิ่มเส้นทางอื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางด้วยระบบต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมือง สถานีรถไฟฟ้า ท่าเรือ ฯลฯ เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในพื้นที่ กทม. เป็นระบบการเดินทางหลักของคนกรุงเทพฯ
เส้นทางเดินรถของระบบ Feeder กับ รถเมล์ ต่างกันยังไง?
ระบบ Feeder คือ การรับจากจุด Pick Up และไปส่งที่ปลายทาง หรือเรียกว่า Origin to Destination) แต่ระบบรถเมล์ จะเป็นการรับระหว่างจุด (ป้ายรถเมล์)
อีกทั้งจุดจอดรถ Shuttle Bus เป็นจุดจอดเฉพาะ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง แต่จะมีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารเฉพาะจากต้นทาง ได้แก่ ชุมชนสถานที่ราชการต่างๆ และปลายทาง ได้แก่ สถานีรถไฟฟ้า
เป้าหมายสำคัญเพื่อให้พี่น้องประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย ปลอดภัย และรวดเร็ว โดยไม่ต้องใช้รถส่วนตัว เพื่อให้กรุงเทพฯ มีศักยภาพในการพัฒนาเมืองทุกมิติ และเกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุด
สิ่งที่ท้าทายในการเปลี่ยนคนกรุงเทพฯ จากรถยนต์ส่วนตัว มาสู่ระบบขนส่งสาธารณะ ในสายตาของ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร คือ “การประสานงาน” เพราะปัจจุบัน ระบบขนส่งมวลชน กทม. ไม่ได้มีอำนาจในการบริการรถเมล์ รถไฟใต้ดิน หรือ รถไฟหลายๆ สาย เราจะทำอย่างไร ให้ทุกหน่วยงานมีแนวทางในการพัฒนาเมืองไปในทิศทางเดียวกัน
ระบบ Feeder คือ สิ่งที่เราพยายามทำนำร่อง ลงมือทำเพื่อสร้างการบริการที่ดี ระบบ Feeder จะนำประชาชนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนหลักระบบราง เป็นการเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดปัญหาการจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ลดปัญหามลพิษด้านอากาศและเสียงได้อีกด้วย
สุดท้ายแล้ว เมืองที่พัฒนา ประชาชนต้องมีความสะดวก การใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล