“เรื่องเล่าดีดี ของคนกรุงเทพฯ” ตอน กทม. เปิดมาตรการสู้วิกฤต “ไวรัสโคโรนา” | BangkokStories

Highlight
  • กทม.วางมาตรการคุมเข้ม ไวรัสโคโรนา 2019 สั่งติดป้ายเตือน 3 ภาษา ที่พัก โรงเเรม 922 แห่งทั่วกรุง ตั้งด่านคัดกรองท่าเรือคลองเตย พร้อมเตรียมโรงพยาบาลรองรับ
  • หากมีอาการ ไอ ไข้สูง น้ำมูก เบื้องต้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย จากนั้นโทรติดต่อ มาที่ 1422 เป็นสายด่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ พร้อมส่งต่อไปยังขั้นตอนของการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอย่างปลอดภัย


สถานการณ์ไวรัสโคโรนาในไทย เป็นเรื่องที่คนไทยทั้งประเทศต่างรู้สึกกังวลกับการแพร่ระบาดที่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ และไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้เป็นอันดับต้นๆของโลก เนื่องจากกรุงเทพมหานครเป็นจุดหมายปลายทางเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน และนักท่องเที่ยวทั่วโลก

ทางกทม. ได้เตรียมความพร้อมและมาตรการเข้มงวดในการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประชุมด่วนพร้อมศูนย์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเชื้อไวรัสโคโรนาแบบบูรณาการ ทั้งหน่วยงานที่สังกัดใน กทม. เช่น สำนักแพทย์ สำนักอนามัย และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

“เราเร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ แนวทางปฏิบัติตัวสำหรับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะหากมีอาการ ไอ ไข้สูง น้ำมูก เบื้องต้นแนะนำให้สวมหน้ากากอนามัย จากนั้นโทรติดต่อ มาที่ 1422 เป็นสายด่วนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยเจ้าหน้าที่จะคัดกรอง ตรวจสอบข้อมูล ตามขั้นตอนทางการแพทย์ อย่างปลอดภัย”

ถ้ามีความสงสัยว่าอยู่ในระยะเฝ้าระวัง ทางศูนย์เอราวัณ เบอร์ 1669 จะจัดรถพิเศษไปรับ พร้อมส่งต่อไปยังขั้นตอนของการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล” ข้อแนะนำจาก พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

มาตรการ พร้อมข้อแนะนำ จาก กทม.

📍หลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง!!

  • หลีกเลี่ยงการเดินทางไปบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น ในพื้นที่อับอากาศ เช่น คอนเสิร์ต หรือ บริเวณที่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนไป
  • สิ่งสำคัญในช่วงเวลาแบบนี้ คือ การใส่หน้ากากอนามัย  และล้างมือบ่อยๆ แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการป่วย  เพราะการใส่หน้ากากอนามัยเป็นการช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง

📍 ประชาสัมพันธ์โรงแรม 922 แห่ง อพาร์ตเมนต์ และคอนโด ทำป้ายแจ้งเตือน 3 ภาษา

  • กทม. มีโรงแรมที่ขึ้นทะเบียน อยู่ 922 แห่ง  ได้จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ 3 ภาษา ทั้ง ไทย-จีน-อังกฤษ

หากมีอาการเจ็บป่วยจะติดต่อกทม. อย่างไร ?

  • ในกรณีที่ผู้เข้าพักมีอาการที่สงสัย ทางผู้ประกอบการ หรือผู้พบเห็น สามารถติดต่อมาที่ 1422  ทางกรุงเทพมหานครจะดำเนินการต่อให้สู่กระบวนการตรวจ รักษา อย่างถูกต้อง

ส่วนตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็จะมีการประชาสัมพันธ์ การสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือบ่อยๆ

📍เตรียมห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure สำหรับเฝ้าสังเกตอาการผู้สงสัยการติดเชื้อ

ความร่วมมือระหว่าง กทม. และกระทรวงสาธารณสุข ในกรณีที่มีผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังไวรัสโคโรนา เบื้องต้น มีการเตรียมห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure สำหรับเฝ้าสังเกตอาการผู้สงสัยการติดเชื้อ โดยห้องคลีนรูมชนิดนี้เป็นห้องที่ปรับความดันภายในห้องให้เป็น Negative คือ ความดันภายในห้องต่ำกว่าห้องข้างเคียง ทำให้เชื้อไม่สามารถแพร่ไปสู่ภายนอกได้ ที่รพ.ตากสิน รพ.กลาง และ รพ.เวชการุณย์รัศมิ์ พร้อมรับสถานการณ์ และสามารถทำวอร์ดกักกันโรคนี้โดยเฉพาะได้หากมีความจำเป็นเพิ่ม

📍ติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้ แนะโทร 1422

อีกประเด็นที่สร้างความสับสน คือ Fake News และข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทางกรุงเทพมหานคร แนะนำให้โทร 1422 จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และแม่นยำ หรือ อาจจะติดต่อสอบถามมาที่โรงพยาบาลในสังกัดของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถให้ข้อมูล และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์


📍คุมเข้ม เพิ่มจุดคัดกรอง พร้อมเฝ้าระวัง
  • กรุงเทพมหานคร ได้เข้าไปช่วยเสริมเพิ่มจุดคัดกรองที่ “ท่าเรือคลองเตย” ที่มีการขนส่งสินค้าไปมาระหว่างจีนจำนวนมาก มีลูกเรือทำงานเข้าออกกว่า 10,000 คน
  • ทางสำนักอนามัย ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงสำนักงานเขตคลองเตย เข้าไปเสริมในการตรวจคัดกรองลูกเรือเพื่อความมั่นใจ

มาตรการ 3 ชั้นกับความพร้อมรับมือไวรัสแพร่ระบาด

นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้อัพเดทมาตรการควบคุมโรค 3 ชั้น ที่เตรียมรับมือ คือ

  • ชั้นแรก คือ จุดคัดกรอง บริเวณสนามบิน
  • ชั้นที่สอง คือ ความพร้อมสถานพยาบาล
  •  ชั้นที่สาม คือ มาตรการคุมเข้มตามโรงแรม และห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ

เส้นทางการคัดกรอง ยกตัวอย่าง สนามบินที่มีไฟลท์เดินทางระหว่างประเทศทุกที่ ทางกระทรวงสาธารณสุขมีด่านที่จะตรวจ โดยเฉพาะไฟลท์บินจากจีน ใครที่มีอาการไข้ หรือ ไอ มีน้ำมูก จะถูกคัดออกมา เพื่อมาเก็บเสมหะไปตรวจหาเชื้อ

ยกตัวอย่าง นาย ก. เดินทางมาจากอู่ฮั่น มีอาการ ไข้ ไอ น้ำมูก จะถูกเก็บเสมหะไปตรวจ พร้อมทั้งเชิญไปยังห้องความดันลบ ถ้าพบว่าเป็นเชื้อไวรัสโคโรนา

ผู้โดยสารที่มาในเที่ยวบินนั้น บริเวณที่นั่ง 2 แถวหน้า 2 แถวหลัง หรือ กรุ๊ปทัวร์ที่มาพร้อมนาย ก. จะต้องถูกเก็บเสมหะไปตรวจให้เชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน

ส่วนในกรณีที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่ได้แสดงอาการ จะเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่าระยะในการเดินทางเกิน 14 วันหรือไม่

ถ้าเกิน 14 วัน ถือว่าโอกาสในการติดน้อย

แต่ถ้าไม่ถึง 14 วัน  เราจะให้ผ่านเครื่องสแกนอุณหภูมิด้วย

ส่วนวิธีในการสังเกตอาการตัวเองแบบง่ายๆ‼️

ในช่วงนี้ตามโรงเรียน หรือออฟฟิศหลายแห่ง มีไข้หวัดใหญ่ระบาด หลายคนมีอาการ เป็นไข้ ไอ น้ำมูก อยากฝากพี่น้องประชาชนว่า ถ้าท่านมีอาการเหล่านี้ ทานยา 1-2 วันแล้วไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ แต่ถ้าต้องใกล้ชิดคนจีน หรือเดินทางกลับมาจากจีน แนะนำให้ติดต่อ 1422  และทางเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนในการให้คำแนะนำ

“ประเทศไทย สามารถตรวจพบผู้ป่วยได้ ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 63 กระบวนการในการเฝ้าระวังของไทยถือว่า ติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก ขอให้ประชาชนมั่นใจ แต่หาก…ท่านคลุกคลีกับชาวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยว หรือเพิ่งเดินทางกลับมาจากจีน ถ้าหากมี ไข้ ไอ น้ำมูก อยากแนะนำให้มาตรวจที่โรงพยาบาล พร้อมแจ้งประวัติให้แพทย์ทราบ ”นายแพทย์เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร


ติดตามให้ตระหนัก แต่ไม่ต้องตื่นตระหนก เพียงแต่ระมัดระวังตัวเอง เพราะทางเจ้าหน้าที่ รัฐบาล และกรุงเทพมหานคร ยังรับมือเรื่องนี้ได้ …

ทิ้งท้ายกันสักนิด … อยากฝากให้ทุกคนร่วมกันเพิ่มและดูแลพื้นที่สีเขียว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเราทุกคน
===========
มาร่วมแสดงความคิดเห็น ที่ทำให้เสียงของคุณดังและมีค่า พร้อมได้ลุ้นรับถุงผ้า Bangkok Stories ดีไซน์สวยแบบนี้ เพียงหยิบมือถือ มาสแกน QR

Code ตรงนี้เลย
ติดต่อโฆษณา!