"GPSC จับมือ สวทช." ผนึกงานวิจัยนวัตกรรมสร้างเศรษฐกิจชุมชน นำร่อง Smart Farming มุ่งยกระดับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
Highlight
GPSC ลงนามบันทึกข้อตกลง โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” กับ สวทช. นำร่อง Smart Farming 2 ชุมชน บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน พัฒนาโรงเรือนอัจฉริยะ ใช้เทคโนโลยีผสมผสาน นำ IoT มาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาเกษตรวิถีใหม่ 2 องค์กร ผสานเทคโนโลยี เตรียมขยายผลสู่ชุมชนเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
ประเทศไทยมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม ซึ่งประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศประกอบอาชีพเกษตรกร ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการพลังงานมาประยุกต์ใช้กับภาคเกษตร สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนการผลิต พัฒนาเกษตรวิถีใหม่
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เล็งเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภาคการเกษตรของไทย จึงได้ลงนามข้อตกลงด้านการดำเนินงาน “โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน” กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. นำร่อง Smart Farming ใน 2 ชุมชน คือ พื้นที่บ้านสวนต้นน้ำ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง และ บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน มีเป้าหมายการดำเนินงานภายในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน และเตรียมขยายผลสู่ชุมชนเครือข่ายในพื้นที่ทั่วประเทศ
นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในส่วนของการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ ทางด้านของเทคโนโลยีต่างๆ เราก็จะนำเอาเทคโนโลยีที่ทางด้านสวทช. ได้มีกำหนดมาไว้ ได้มีการคิดค้นประดิษฐ์ขึ้น ทาง GPSC จะช่วยนำผลงานนวัตกรรมเหล่านั้นเข้าไปผลักดัน แล้วก็นำไปใช้ในพื้นที่เป้าหมาย พื้นที่ชุมชนที่เหมาะสม หลังจากนั้นเราก็จะช่วยในเรื่องของการนำบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องการพัฒนา นำเทคโนโลยีต่างๆ เหล่านี้เข้าไปใช้ในพื้นที่ รวมทั้งการสนับสนุนในเรื่องของอุปกรณ์ วัสดุต่างๆ และก็การเข้าไปประสานงานในพื้นที่ระหว่างชุมชนของเรา งานทั้งหมดนี้เราจะพยายามสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการทำงาน เพื่อให้งานนี้ประสบความสำเร็จ”
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “2 พื้นหลักที่นำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยเกษตรกรพัฒนา ที่แรก คือ ในพื้นที่ของบ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน นำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้โดยเฉพาะระบบโรงเรือน จากเดิมที่เกษตรกรมีการปลูก แต่การปลูกผักเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีเข้าไป ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอ หรือขาดคุณภาพ เราก็เอาระบบโรงเรือนเข้าไป ซึ่งระบบโรงเรือนต่างๆ เหล่านี้ ก็มีการใส่สิ่งที่เราเรียกว่า Sensor หรือ IoT เข้าไปบริหารจัดการในแง่ของความชื้น ในแง่ของสารเคมีต่างๆ ที่อยู่ในดิน โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยเข้าไปเพื่อบำรุง เพื่อให้พื้นต่างๆ มีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันในพื้นที่ที่ 2 ที่ลงไปในลักษณะแบบเดียวกัน คือ พื้นที่ของบ้านสวนต้นน้ำที่ อ.เขาชะเมา จ.ระยอง ส่วนนั้นก็มีทั้งในเรื่องของโรงเรือนเองก็ตาม แล้วเราก็เลือกที่เกี่ยวข้องกับการห่อผลทุเรียน ซึ่งถ้าเราสามารถห่อผลทุเรียนได้โดยสิ่งที่เราเรียกว่า Magik Growth ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของถุงห่อที่จะทำให้เปลือกทุเรียนบางลง แล้วขณะเดียวกันก็มีสภาพหรือว่าผลผลิตที่ดีขึ้น เนื้อแน่นขึ้น และก็ปริมาณของเนื้อเพิ่มขึ้นด้วย ก็จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคเกษตร”
สำหรับการพัฒนาโครงการนำร่อง GPSC Smart Farming เป็นก้าวสำคัญในการนำผลงานวิจัยของสวทช. ด้านนวัตกรรมและนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบที่เป็นแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และที่ขาดแคลนด้านสาธารณูโภค รวมไปถึงการส่งเสริมอาชีพภายในชุมชนที่มีความพร้อมในการพัฒนาและต่อยอดการผลิตเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ตามนโยบายและวาระแห่งชาติของรัฐบาล
“GPSC ดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานสะอาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต พัฒนายกระดับชุมชนและสังคมไทย ซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ แผนพลังงานชาติและทิศทางการเปลี่ยนแปลงพลังงานของโลกโดยรวม” นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติม
โครงการผลักดันวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สู่การใช้ประโยชน์ในชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ในทุกมิติ ของทั้ง 2 หน่วยงาน เพื่อขับเคลื่อนชุมชนและประเทศอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีคุณภาพและยั่งยืน