23 มิถุนายน 2564
3,357

ปตท. จับมือ กทม. จัดหน่วยฉีดวัคซีน COVID-19 เคลื่อนที่เชิงรุก

ปตท. จับมือ กทม. จัดหน่วยฉีดวัคซีน COVID-19 เคลื่อนที่เชิงรุก
Highlight

“หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” มีภารกิจสำคัญในการมุ่งฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนพื้นที่ กทม. ที่มีการระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน  รวมทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียนรับวัคซีน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อวานนี้ (22 มิ.ย. 64) พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ที่โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) ถือเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (คลัสเตอร์) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักอนามัย สำนักการแพทย์ หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้บริหาร ปตท. ร่วมตรวจเยี่ยม


เน้นพื้นที่ กทม. ที่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง กลุ่มแรงงาน 

“หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” มีภารกิจสำคัญในการมุ่งฉีดวัคซีนให้แก่ชุมชนพื้นที่ กทม. ที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 แบบกลุ่มก้อน รวมถึงกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้พิการในชุมชน  รวมทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียนรับวัคซีน  ทั้งนี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยหยุดยั้งการระบาดได้เร็วขึ้น และสอดคล้องกับเป้าหมายของภาครัฐที่ต้องการเร่งการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนครอบคลุมทุกภาคส่วนในระยะเวลาอันสั้น  เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปี 2564


20210623-a-02.jpg


“ปตท.” เอกชนรายแรก หนุน กทม. จัดจุดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบครบวงจร

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า หน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกนี้ ถือเป็นภารกิจที่สำคัญจำเป็นอย่างยิ่งของ กทม. เนื่องจากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับสูง และมีลักษณะเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนที่มีผู้คนอาศัยหนาแน่นหรืออยู่ในแคมป์คนงานต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ  ซึ่งแคมป์คนงานในพื้นที่เขตหลักสี่ถือว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่ต้องได้รับวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร่งด่วน  การดำเนินงานนี้จึงถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของ กทม. ที่เชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ต้องการยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเร็ว  สำหรับหน่วยฉีดวัคซีนในลักษณะนี้จะเคลื่อนย้ายจุดไปทั่วพื้นที่เสี่ยงในพื้นที่ กทม. ซึ่งต้องอาศัยทรัพยากรค่อนข้างมาก  ทั้งนี้ ขอขอบคุณ ปตท. ที่เป็นหน่วยงานเอกชนรายแรกในการเข้ามาช่วยสนับสนุนจุดบริการฉีดวัคซีนเชิงรุกแบบครบวงจร


20210623-a-03.jfif


ปตท. สนับสนุนการปูพรมฉีดวัคซีน ตามเจตนารมณ์ “โครงการลมหายใจเดียวกัน”

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. กับ กทม. ในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเร่งปูพรมกระจายฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด และเข้าถึงทุกคน ทุกพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศตามนโยบายของภาครัฐ พร้อมช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ ที่ต้องอาศัยทรัพยากรจำนวนมาก ทั้งด้านบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อีกทั้งได้ระดมพนักงานจิตอาสา ปตท. สนับสนุน กทม. ในการจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในชุมชนพื้นที่เสี่ยง ทั้งในเขตหลักสี่ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดินแดง และเขตคลองเตย รวมทั้งผนึกความร่วมมือและความเชี่ยวชาญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด เพื่อลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้มีประสิทธิภาพ มุ่งหวังฟื้นลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศ ตามเจตนารมณ์ของ “โครงการลมหายใจเดียวกัน” เพื่อต่อลมหายใจด้านสุขภาพ ต่อลมหายใจเศรษฐกิจ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อให้ประเทศชาติกลับมาอยู่ในสภาวะปกติโดยเร็ว

20210623-a-05.jfif


นายอรรถพล กล่าวอีกว่า “กลุ่ม ปตท. ได้ร่วมวางระบบงานดิจิทัล และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการปฏิบัติการเชิงรุกครั้งนี้ และสนับสนุนพนักงานกลุ่ม ปตท. ร่วมเป็นจิตอาสาในส่วนของการทำงานกับหน่วยบริการ ช่วยบริหารจัดการคิวผู้เข้ารับวัคซีน ประสานงาน อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้นยังได้ร่วมสนับสนุนอาหาร น้ำดื่มแก่เจ้าหน้าที่ บุคลากรทางการแพทย์ในหน่วยต่าง ๆ  อีกทั้งจัดเตรียมสินค้าวิสาหกิจชุมชนจากโครงการ ‘ชุมชนยิ้มได้’ ที่ ปตท. ได้ส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคเกษตรกร มอบให้กับประชาชนที่มาฉีดวัคซีนอีกด้วย โดยหวังว่า ปตท. จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มที่จำเป็นต้องเข้าถึงวัคซีนอย่างเร่งด่วน อันจะช่วยยับยั้งการระบาดของ COVID-19 และช่วยขับเคลื่อนต่อลมหายใจเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวโดยเร็วต่อไป”


20210623-a-04.jpg


ปตท. สนับสนุนทุกภาคส่วนรับมือวิกฤตโควิด-19

ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท ดังต่อไปนี้

1. ระดมสรรพกำลังความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. ในการสนับสนุนงานวิจัยสู้ภัยโควิด-19 เช่น ชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) หมวกอัดอากาศป้องกันการติดเชื้อความดันบวก (PAPR)

2. สนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง

3. สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov19

4. สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์

5. จัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” มูลค่า 200 ล้านบาท เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นวิกฤต ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวน 360 เครื่อง , สนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัย COVID-19 ด้วยการมอบอาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพและอาหารจากสมาคมภัตตาคารไทยแก่ชุมชนคลองเตย

6. ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ต่อไป อีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และต่อลมหายใจเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว
ติดต่อโฆษณา!