“ลมหายใจเดียวกัน” โครงการ ปตท. สู้ COVID-19 เคียงข้าง “คนไทย” ให้กลับมามี “รอยยิ้ม”
Highlight
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ กทม. ในการจัดหน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "ลมหายใจเดียวกัน" เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการร่วมฝ่าวิกฤต COVID-19 ไปพร้อม ๆ กับ “คนไทย” เพื่อ “ต่อลมหายใจ” ให้คนไทยกลับมามี “รอยยิ้ม” ด้วยความคิดที่เชื่อมั่นว่า คนไทยทุกคนมี “ลมหายใจเดียวกัน”
นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา “ประเทศไทย” ยังคงเผชิญหน้ากับวิกฤตไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 อย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานคร ยังคงพบพื้นที่แพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ซึ่งวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และการเดินหน้าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ
การฝ่าวิกฤตนี้ให้ผ่านพ้นไปได้นั้น นอกเหนือจากภาครัฐแล้ว องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ได้แสดงเจตนารมณ์และออกมาเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ “คนไทย” กลับมามีความสุขกันอีกครั้ง
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานของไทย ที่มุ่งหวังจะเติม “พลังใจ” กลับคืนสู่สังคมไทย ด้วยการขับเคลื่อนโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”
ล่าสุด นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดใจกับ “ทันข่าว Today” ถึงการร่วมมือกับ กทม. ในการจัดหน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ซึ่งถือเป็นการสานต่อโครงการ "ลมหายใจเดียวกัน" ด้วยความคิดที่เชื่อมั่นว่า คนไทยทุกคนมี “ลมหายใจเดียวกัน”
หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก
“หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” ที่โรงเรียนบางเขน (ไว้สาลีอนุสรณ์) ถือเป็นหนึ่งในหน่วยบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 เคลื่อนที่ (Mobile Vaccine Unit) ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (Cluster)
นายอรรถพล กล่าวว่า ที่ผ่านมา ปตท. สนับสนุนการทำงานของ กทม. ในการให้บริการฉีดวัคซีน COVID-19 แก่ประชาชนมาโดยตลอด แต่ขณะนี้ กทม. ต้องการหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกเข้าไปในพื้นที่แพร่ระบาดแบบกลุ่มก้อน รวมถึงพื้นที่ที่มีกลุ่มเปราะบาง การจัดตั้งหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง เช่น เขตหลักสี่ , เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย , เขตดินแดง และเขตคลองเตย ซึ่งวิธีนี้น่าจะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้ดีที่สุด
ทาง ปตท. จึงเข้ามาดำเนินงานสนับสนุน ประกอบไปด้วย 4 ด้าน ได้แก่
1. อุปกรณ์ทางดิจิทัลทั้งระบบ
2. พนักงานทางดิจิทัลของ ปตท. นำอุปกรณ์ทางดิจิทัลมาและเขียนโปรแกรม วางระบบการลงทะเบียนให้กับหน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ทั้งหมด พร้อมกับเชื่อมระบบส่งข้อมูลการลงทะเบียน การยืนยันการฉีดวัคซีนของประชาชน กลับไปยัง “หมอพร้อม” ซึ่งพนักงาน ปตท. จะเข้าไปทุกจุดที่มีความร่วมมือ ด้วยการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรไปให้บริการในแต่ละจุด
3. พนักงาน ปตท. จิตอาสา ในนาม “ชมรมพลังไทย ใจอาสา” มาอำนวยความสะดวกประชาชนที่มาฉีดวัคซีน
4. การนำผลิตภัณฑ์จากโครงการ “ชุมชนยิ้มได้” มาแจกจ่ายแก่ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการดูแลด้านอาหารและเครื่องดื่มแก่บุคลากรทุกคน
โครงการ “ชุมชนยิ้มได้” ต่อลมหายใจ “เศรษฐกิจ”
สำหรับผลิตภัณฑ์โครงการชุมชนยิ้มได้ เป็นโครงการที่ ปตท. เข้าไปช่วยเหลือชุมชน ช่วยเหลือเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ในการเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และหาช่องทางการจำหน่ายให้กับชุมชน นายอรรถพล กล่าวว่า “ปกติโครงการนี้ เราจะมีการเปิดรับทางเว็บไซต์ ให้นำผลิตภัณฑ์ของชุมชนมาวางขายผ่านเว็บไซต์ www.ชุมชนยิ้มได้.com ซึ่งมีการตอบรับเป็นอย่างดี ถ้าประชาชนอยากอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ก็สามารถเข้าไปในเว็บไซต์นี้ได้”
ส่วนผลิตภัณฑ์โครงการชุมชนยิ้มได้ เช่น มะม่วงมหาชนก จากจังหวัดกาฬสินธุ์ , เงาะจากจังหวัดระยอง , ข้าวสารจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ ปตท. ซื้อเพื่อนำมาแจกจ่ายนั้น ถือเป็นกรณีที่ได้ทั้งการนำเงินอุดหนุนชุมชนที่มีผลิตภัณฑ์ และยังเป็นการให้กำลังใจผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีน และบุคลากรทางการแพทย์
“พลังไทย ใจอาสา” จากการมีส่วนร่วมของพนักงาน สู่การ “ต่อลมหายใจ” ให้คนไทย “ยิ้มได้”
นายอรรถพล เล่าว่า การสร้างความมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรนั้น ปตท. เริ่มจากการเห็นภาพสะท้อนของปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 “เราก็ระดมทรัพยากร องค์กรได้นำทรัพยากรเข้าไปช่วยหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด เราอยากให้พนักงานมีส่วนร่วม มีส่วนรับรู้ถึงวิกฤตครั้งนี้ของประเทศ สร้างจุดร่วมเดียวกัน ด้วยการเปิดรับสมัครพนักงาน ปตท. ที่มีจิตอาสาให้มาร่วมทำงานในการตั้งหน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการของชมรมพลังไทย ใจอาสา สร้างความมีส่วนร่วมของพนักงาน ในการช่วยเหลือสังคม”
“หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุก” ส่วนหนึ่งของโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน”
นายอรรถพล เปิดเผยว่า “หน่วยบริการฉีดวัคซีน COVID-19 เชิงรุกเป็นเพียง 1 โครงการใหญ่ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ความคิดของเราก็คือว่า ในยามที่เกิดวิกฤต เราเชื่อว่า คนไทยทุกคน มีลมหายใจเดียวกัน ก็ต้องช่วยกันครับ เพราะฉะนั้นโครงการนี้ ก็จะลงไปช่วยในสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ”
ที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. ได้สนับสนุนทุกภาคส่วนในการรับมือภาวะวิกฤต COVID-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มการระบาดในปี 2562 จนถึงปัจจุบัน รวมมูลค่ากว่า 1,100 ล้านบาท ดังต่อไปนี้
2. สนับสนุนงบประมาณ เพื่อพัฒนาชุดตรวจคัดกรอง
3. สนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีน Chula-Cov19
4. สนับสนุนแอลกอฮอล์ทางการแพทย์
5. เร่งจัดหาเครื่องช่วยหายใจ รวมมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นวิกฤต ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกว่า 70 โรงพยาบาล จำนวน 360 เครื่อง , สนับสนุนกล่องพลังใจ สู้ภัย COVID-19 ด้วยการมอบอาหาร น้ำดื่ม แก่โรงพยาบาลสนาม กทม. และบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งได้มอบถุงยังชีพและอาหารจากสมาคมภัตตาคารไทยแก่ชุมชนคลองเตย
6. ขยายระยะเวลาช่วยเหลือส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อย กลุ่มร้านค้า หาบเร่ แผงลอย ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนเงิน 100 บาท/คน/เดือน ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ต่อไป อีก 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดต้นทุนค่าครองชีพ และต่อลมหายใจเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19
นายอรรถพล กล่าวสรุปกับ “ทันข่าว Today” ไปยังประชาชนคนไทยทุกคนว่า “วิกฤตครั้งนี้ ถือว่าเป็นวิกฤตของประเทศ ที่คนไทยเผชิญพร้อมกัน ซึ่ง ปตท. เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่มีความพร้อมและมีความตั้งใจ ที่จะสนับสนุนให้ประเทศไทยทุกภาคส่วน ได้ผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน เราจะดำเนินโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าประเทศจะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ไปพร้อม ๆ กับคนไทย สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ที่ทำงานหนักที่สุดแล้วในตอนนี้ ปตท. ช่วยเหลือด้านใดได้ ก็ยินดีเสมอ เพื่อให้คนไทยกลับมามีรอยยิ้มพร้อมกัน ด้วยความเชื่อ ที่เราเชื่อว่าคนไทย มีลมหายใจเดียวกันครับ”
#รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์คลิกอ่านทันข่าว