กลุ่ม ปตท. จัดงบช่วยเหลือแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิดแล้วกว่า 1,700 ล้านบาท ล่าสุดนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ICU ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ
Highlight
นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ICU ผู้ป่วยโควิดระดับสีแดง ขนาด 120 เตียง ใหญ่ที่สุดในประเทศ ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันของกลุ่ม ปตท. เมื่อ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง กลุ่มปตท. จัดให้บริการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยแบบครบวงจร ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน โดยนับตั้งแต่ 9.ส.ค. 64 กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในรูปแบบต่างๆ ประกอบด้วย
• การวางระบบ Home Isolation และโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) สีเขียว 1,000 เตียง
• สีเหลือง 300 เตียง
• รพ.สนาม ICU ระดับสีแดง 120 เตียง
• โรงพยาบาลสนามผู้ป่วยโควิดสีแดงตั้งอยู่ที่ บริเวณหน้า รพ.ปิยะเวช เขตห้วยขวาง
• ตรวจคัดกรองได้วันละ 1,000-1,200 คน
• ตรวจคัดกรองผู้ป่วยแล้ว 23,000 คน เข้ารับการรักษา 2,600 คน
• บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์กับโรงพยาบาลทั่วประเทศ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ICU สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง “ในโครงการลมหายใจเดียวกันของ กลุ่ม ปตท.” บนพื้นที่ 4 ไร่ ด้านหน้าโรงพยาบาลปิยะเวท เขตห้วยขวาง เมื่อ 9 กันยายน ที่ผ่านมา พร้อมด้วย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท. นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พญ.เจรียง จันทรกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก-ปิยะเวท นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท จำกัด (มหาชน) พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนในการร่วมแก้ปัญหาโควิด-19 ซึ่งเป็นวิกฤตใหญ่ของประเทศ โดยตั้งแต่มกราคม 2563 ถึงปัจจุบัน กลุ่ม ปตท. ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 1,700 ล้านบาท เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ความรุนแรงในหลายด้าน จนนำมาสู่การจัดตั้ง “โครงการลมหายใจเดียวกัน” ขึ้นในปี 2564 เพื่อแบ่งเบาภาระของภาครัฐ และร่วมดูแลประชาชน
โดยเฉพาะการมอบเครื่องช่วยหายใจ ออกซิเจนเหลว อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในขณะนี้ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย กลุ่ม ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการผนึกพลังกับภาครัฐและเอกชน ในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มุ่งตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว เพื่อให้ประชาชนผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากเหล่านี้ไปให้ได้
จึงได้จัดตั้งหน่วยคัดกรองโควิด-19 เปิดคัดกรองเฉลี่ยวันละ 1,000 - 1,200 คน เมื่อพบว่าติดเชื้อจะคัดแยกและให้ยารักษาทันที และจัดตั้งโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) สร้างความอุ่นใจแก่ประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยวางระบบ Home Isolation และโรงพยาบาลสนาม (Hospitel) สีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง และจัดตั้ง “โรงพยาบาลสนาม ICU” 120 เตียง ถือเป็น ICU สนามที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ที่มีความสำคัญยิ่งในการช่วยลดการเสียชีวิตของประชาชน
ทั้งนี้ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน (9 สิงหาคม – 8 กันยายน 2564) หน่วยคัดกรองโควิด-19 และโรงพยาบาลสนามครบวงจร กลุ่ม ปตท. ให้บริการคัดกรองแก่ประชาชนไปแล้วกว่า 23,000 ราย ให้การรักษาผู้ติดเชื้อกว่า 2,600 ราย ในทุกระดับอาการ ขณะนี้มีผู้หายป่วยจากการรักษาในโครงการฯ แล้วจำนวนกว่า 1,100 ราย คิดเป็นร้อยละ 42 ทั้งนี้ จะเปิดให้บริการไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะผ่านพ้นไป
นพ.วิทิต อรรถเวชกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้น การจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับทุกระดับอาการแบบครบวงจร และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะช่วยกันดูแลและรักษาชีวิตประชาชนได้
ซึ่งโรงพยาบาลสนามกลุ่ม ปตท. สำหรับผู้ป่วยโควิดที่มีอาการวิกฤต (ICU) ระดับสีแดงมีความพร้อมระดับสูงสุด รองรับผู้ป่วยได้จำนวน 120 เตียง โดยจัดให้มีพื้นที่รองรับผู้ป่วยโควิดที่ต้องฟอกไตโดยเฉพาะ จำนวน 24 เตียง เนื่องจากหากคนไข้ไม่สามารถฟอกไตได้ จะทำให้คนไข้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงมาก
นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยหายใจ ระบบออกซิเจนส่งตรงถึงทุกเตียง ซึ่งแต่ละเตียงจะแยกห้องกัน เป็นลักษณะห้องความดันลบ (Negative pressure room) เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมมาตรฐานระดับห้องไอซียูในโรงพยาบาล ใช้เทคโนโลยีระบบดิจิทัล (central monitor) ทำให้สามารถสังเกตอาการของผู้ป่วยได้ตลอดเวลา และมีระบบการกู้ชีพอัตโนมัติ มีเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่ สามารถส่งภาพไปยังรังสีแพทย์ทางไกลได้ทันที ถือเป็นการดูแลผู้ป่วยแบบเข้มข้น (Intensive care) และมีรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่เตรียมพร้อมรับส่งคนไข้ อีกทั้งมีแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ มีเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. และ “Hybrid Treatment for PM2.5 and Airborne Pathogens” ของสถาบันนวัตกรรม ปตท. มาติดตั้ง เพื่อฟอกและกำจัดเชื้อโรคในอากาศบริเวณโดยรอบอีกด้วย
สำหรับจุดบริการผู้ป่วย อื่นๆของ ปตท. ที่ให้บริการประชาชนแบบครบวงจร มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” ตั้งแต่การคัดกรองและการรักษาในโรงพยาบาลทุกระดับอาการ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ประกอบด้วย
จุดที่ 1 หน่วยคัดกรองโควิด - 19 โครงการลมหายใจเดียวกัน ณ อาคาร EnCo Terminal หรือ EnTer ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เป็นจุดคัดกรองสำหรับกลุ่มเสี่ยง มีการวางระบบดิจิทัลเพื่อลงทะเบียน เริ่มจากการตรวจโดยใช้ชุดตรวจ Antigen test kit และหากพบว่ามีการเสี่ยงติดเชื้อ จะนำส่งตรวจ RT-PCR และ เอกซเรย์ปอด ต่อไป สำหรับผู้ป่วยระดับสีเขียวที่ตรวจพบเชื้อ แต่สามารถทำการดูแลตนเองที่บ้านหรือในชุมชน (Home or Community Isolation) จะได้รับมอบ “กล่องพลังใจ คนไทยไม่ทิ้งกัน” ประกอบไปด้วยชุดอุปกรณ์การทางแพทย์และยาที่จำเป็น รวมทั้งระบบติดตามอาการ ดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์จาก รพ.ปิยะเวท
จุดที่ 2 โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเขียว เปิดให้บริการผู้ป่วยโควิดที่ไม่สะดวกทำ Home Isolation หรือ Community Isolation ในรูปแบบของ Hospitel กระจายไปในหลายโรงแรมใน กทม. จำนวนกว่า 1,000 เตียง รองรับผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากหน่วยคัดกรองอย่างเป็นระบบ
จุดที่ 3 โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเหลือง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการในระดับหนักขึ้น เปิดให้บริการ ณ โรงแรมเดอะบาซาร์ กรุงเทพฯ มีเตียงผู้ป่วยจำนวน 300 เตียง มีระบบออกซิเจน ต่อ Direct Tube ส่งตรงถึงทุกเตียงผู้ป่วย พร้อมเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. เพื่อให้การดูแลคนไข้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ เตียงพลาสติกรับน้ำหนักสูง หุ่นยนต์ ปิ่นโต เป็นหุ่นยนต์ลำเลียงเพื่อช่วยบุคคลากรทางการแพทย์ในการดูแลคนไข้ รวมถึงหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ Xterlizer UV Robot
จุดที่ 4 โรงพยาบาลสนาม สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีแดง (ICU) ณ พื้นที่ 4 ไร่ บริเวณพื้นที่ด้านหน้าของโรงพยาบาลปิยะเวท รองรับผู้ป่วยจำนวน 120 เตียง ตามที่กล่าวมาแล้ว
นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่ม ปตท. ยังได้นำนวัตกรรม เทคโนโลยี ผลิตอุปกรณ์ และครุภัณฑ์ทางการแพทย์ มาพร้อมการสนับสนุนต่าง ๆ อาทิ
- บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) สนับสนุนหุ่นยนต์ “CARA” เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการส่งอุปกรณ์ อาหาร แก่ผู้ป่วย และหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อโรค “Xterlizer UV Robot” เครื่องฆ่าเชื้อโรคอัตโนมัติด้วยแสง UV
- บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) GC สนับสนุนผลิตภัณฑ์นวัตกรรม อาทิ หมวกอัดอากาศความดันบวก PAPR ชุดป้องกันการติดเชื้อ PE Gown ชุดตรวจคัดกรอง Rapid Test
- บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) IRPC คิดค้นนวัตกรรมช่วยเหลือผู้ป่วย อาทิ เตียงสนามพลาสติกสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่สามารถรองรับน้ำหนักได้สูง ชุดป้องกันการติดเชื้อ Cover All เพื่อความปลอดภัยของบุคลากร อุปกรณ์พลาสติก ๆ อาทิ ช้อน-ส้อม ถังขยะถังขยะอันตราย กล่องอเนกประสงค์
- บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ThaiOil สนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับการขนส่งเดินทางดูแลผู้ป่วยและบุคลากร
- บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) GPSC สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Rapid Test นวัตกรรมภายใต้ความร่วมมือระหว่าง GPSC กับ สวทช.
- บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) OR สนับสนุนการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเครื่องดื่มจาก Café Amazon น้ำดื่มจิฟฟี่ รวมถึงหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
- บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) สนับสนุนพื้นที่และการจัดการพื้นที่ อาคาร EnCo Terminal หรือ Enter ของ กลุ่ม ปตท. ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เป็นหน่วยคัดกรองโควิด-19
- บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด (PTT Digital Solution) สนับสนุนระบบดิจิทัลสำหรับลงทะเบียน ณ หน่วยคัดกรองโควิด-19
- บริษัท บิซิเนส เซอร์วิสเซส อัลไลแอนซ์ จำกัด (BSA) บริหารระบบการตรวจคัดกรองโควิด-19