04 ตุลาคม 2564
3,187

6 ความเชื่อผิดๆ ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน

6 ความเชื่อผิดๆ ในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน
Highlight
เทรนด์พลังงานไฟฟ้าคือเทรนด์แห่งอนาคต แต่อย่างไรก็ตาม พลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์และลม ยังมีสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อดูจากการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย คือมีเพียง 4% เท่านั้น ซึ่งทาง TDRI ได้มีการเสนอว่า เรายังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนอยู่หลายข้อ ซึ่งถ้าหากทำความเข้าใจให้ถูกต้องได้ เราก็จะพัฒนาธุรกิจนี้ ให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจต่อไปได้


ความเชื่อที่ 1 : ความผันผวนที่เกิดจากลมและแสงอาทิตย์ เป็นสิ่งที่จัดการไม่ได้

มองใหม่ : ลมและแสงอาทิตย์เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่จัดการได้

“ระบบไฟฟ้าปัจจุบันต้องจัดการความผันผวนในความต้องการพลังงานอยู่แล้ว นอกจากนี้การกระจายระบบพลังงานหมุนเวียนไว้หลายที่จะช่วยลดความผันผวนโดยรวมได้อีกทาง” แม้ลมและแดดมีการเปลี่ยนแปลง แต่ระบบไฟฟ้าในปัจจุบันจัดการกับ ความต้องการใช้ไฟฟ้า (Power Demand) ที่มีความผันผวนอยู่แล้ว ดังนั้น ความผันผวนจากสภาพอากาศของพลังงานหมุนเวียนในระยะสั้นแทบแยกไม่ออกกับความผันผวนเดิมที่มีอยู่ และสามารถจัดการได้ นอกจากนี้ หากมีระบบพลังงานหมุนเวียนกระจายหลายที่ก็จะช่วยให้ความผันผวนโดยรวมหายไป

ความเชื่อที่ 2 : การเพิ่มพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้า  ต้องมีการปรับการผลิตไฟขึ้น-ลงบ่อยครั้ง จะเพิ่มต้นทุนให้ระบบไฟฟ้า

มองใหม่ : ต้นทุนของพลังงานหมุนเวียน จัดการได้

“ในต่างประเทศมีเทคนิคในการปรับระดับการผลิตขึ้นลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทำให้ต้นทุนสูง และมีเทคโนโลยีคาดการณ์ผลผลิตไฟฟ้าแบบ real-time เพื่อปรับแผนได้ทันที” ในระบบไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศที่ยังมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนไม่มาก ความผันผวนจากพลังงานหมุนเวียนจะน้อยมาก แม้ในอนาคตที่จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนก็มีความสามารถทางเทคนิคในการปรับระดับการผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วและบ่อยครั้งได้ โดยไม่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และมีเทคโนโลยีพยากรณ์ผลผลิตไฟฟ้า ทำให้ปรับแผนการผลิตไฟฟ้าให้ใกล้กับเวลาปัจจุบัน (Real-Time) มากที่สุด

ความเชื่อที่ 3 : พลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นต้องมีการกำลังไฟฟ้าสำรองไว้ในสัดส่วน 1 ต่อ 1

มองใหม่ : พลังงานหมุนเวียน ไม่จำเป็นต้องสำรองไฟไว้แบบ 1 ต่อ 1

“พลังงานลมและแสงอาทิตย์ขนาด 1 เมกะวัตต์ มีการผลิตไฟฟ้า ณ ขณะใดขณะหนึ่ง โดยเฉลี่ยไม่เกิน 50% ของกำลังการผลิตสูงสุด ดังนั้นการจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่จำเป็นต้องถึงสัดส่วน 1 ต่อ 1 หรือสำรองเพียงส่วนที่ผลิตไฟฟ้าได้จริงเฉลี่ยต่อปีเท่านั้น” ผู้ดูแลระบบสามารถใช้วิธีการบริหารจัดการอื่น ๆ เพื่อรองรับความผันผวนนี้ได้  เช่น Demand-side response, battery storage  ซึ่งการเตรียมการโดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย จะช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและมีต้นทุนรวมต่ำกว่าการเตรียมกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองจากโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว

ความเชื่อที่ 4 : ต้นทุนการเชื่อมต่อโครงข่ายไฟฟ้าแพงเกินไป

มองใหม่ : ต้นทุนโครงข่ายคิดเป็นเพียง 1ใน10 ของการผลิตไฟฟ้า

“ต้นทุนของการปรับปรุงขยายโครงข่ายไฟฟ้ามีมูลค่าเพียงแค่ 1ใน10 ของต้นทุนกำลังการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ในขณะที่ประโยชน์อื่น ๆ จากการขยายโครงข่ายระบบส่งไฟฟ้ายังมีอีกมาก” การปรับปรุงโครงข่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา มีต้นทุนในการขยายระบบส่งไฟฟ้าเพื่อเชื่อมต่อแหล่งพลังงานลมอยู่ที่ประมาณ 15% ของต้นทุนระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

แต่อย่างไรก็ตามต้นทุนดังกล่าวมักจะผันแปรอย่างกว้างๆ หรือ คิดเป็นหนึ่งในสิบของต้นทุน ซึ่งการขยายโครงข่ายมีประโยชน์เพิ่มเติมคือ การลดความคับคั่งของโครงข่ายไฟฟ้า (Transmission congestion) และการเพิ่มความมั่นคงในระบบส่งไฟฟ้า

นอกจากนี้ เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและต้นทุนต่ำลงจะช่วยให้การติดตั้ง ระบบพลังงานหมุนเวียนมีความคุ้มค่ามากขึ้นแม้จะอยู่ในสถานที่ที่ทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนไม่มากก็ตาม

ความเชื่อที่ 5 : ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy storage) เป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการรองรับความผันผวน

มองใหม่ : ยังมีอีกหลายวิธี ที่ช่วยรองรับความผันผวน

“ระบบกักเก็บพลังงานเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากการเชื่อมต่อพลังงานหมุนเวียนต้องการระบบกำลังไฟฟ้าที่มีความยืดหยุ่น แต่ระบบกักเก็บพลังงานนั้นไม่ใช่วิธีเดียวที่จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า“
เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน (Thermal power plant) และ โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบมีอ่างเก็บน้ำ (Reservoir hydro) ก็สามารถเพิ่มความยืดหยุ่นและตอบสนองความผันผวนในระบบ ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นยังมีวิธีการอีกหลากหลายในการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น มาตรการตอบสนองด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand-side response, DSR) หรือ การซื้อขายแลกเปลี่ยนไฟฟ้ากับระบบไฟฟ้าอื่น ๆ อันที่จริงแล้วระบบกักเก็บพลังงานเป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบของทางเลือกเท่านั้น

ความเชื่อที่ 6 : พลังงานหมุนเวียนไม่มีแรงเฉื่อย จึงลดเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า

มองใหม่ : พลังงานลมและแสงอาทิตย์เป็นการช่วยเสริมระบบ

ดังนั้นแรงเฉื่อยไม่เป็นปัญหา “โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้มีแรงเฉื่อยเพื่อพยุงระบบไฟฟ้าดังเช่นโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม แต่ตราบใดที่สัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้ายังน้อยอยู่ ข้อกังวลเรื่องแรงเฉื่อยจะไม่เป็นปัญหา“

โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรุ่นใหม่ๆ มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีในการสนับสนุนแบบต่างๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพให้ระบบไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อนำบริการนี้มาใช้ควบคู่ไปกับการติดตั้งเข้าสู่ระบบ

ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ติดต่อโฆษณา!