07 ตุลาคม 2564
18,004

ทำไม GPSC เลือกลงทุนพลังงานไฟฟ้าจากลมที่ไต้หวัน ?

Highlight

พลังงานลมดีอย่างไร ? แน่นอนว่า หากเราเอา “ลม” มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ย่อมเป็นเรื่องดี เพราะเป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติ ไม่มีค่าเชื้อเพลิง และถ้าหากอยู่ในพื้นที่ที่ดี ก็มีลมแรงพัดมาให้ใช้เกือบตลอดปี


20211007-a-05.jpg

“หากอยู่ในพื้นที่ที่ดี” ก็แปลว่าไม่ใช่ทุกที่ที่ทำโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้ เพราะการใช้พลังงานลมเพื่อการผลิตไฟฟ้า “ความเร็วลม” จะต้องสม่ำเสมอ หรือกำลังลมเฉลี่ยทั้งปีควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมได้มีประสิทธิภาพ ส่วนไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ด้วยภูมิประเทศพื้นที่ส่วนใหญ่ จึงทำให้มีความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำ เราจึงผลิตไฟฟ้าจากลมได้ไม่มากนัก จึงทำให้ผู้ผลิตไฟฟ้าในประเทศ ให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานอื่น เช่นแสงอาทิตย์ ที่บ้านเราแดดร้อนเหลือเกินและมีเหลือเฟือกว่า

การลงทุนผลิตไฟฟ้าของผู้ประกอบการไทยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศ  หากที่ไหนมีศักยภาพในการลงทุน บริษัทของไทยก็พร้อมที่จะบุกไปลงทุนเช่นกัน และ “ไต้หวัน” ก็ถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมาก ในด้านพลังงานหมุนเวียน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันเอง ก็ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2568 20% ของพลังงานที่ใช้ในประเทศ จะมาจากพลังงานหมุนเวียนจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมเป็นหลัก

20211007-a-01.jpg

ไต้หวันถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านลมเป็นอย่างมาก  เพราะภูมิประเทศมีชายฝั่งเยอะ โดยไต้หวันเป็นที่แรกในเอเชียแปซิฟิกที่มีแผนขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งเชิงพาณิชย์ มีกำลังลมที่เหมาะสม จึงมีบริษัทต่างประเทศและนักพัฒนาเข้ามามาก บวกกับแรงสนับสนุนทั้งฝั่งรัฐบาลและเอกชนทำให้ ไต้หวันเป็นต้นแบบด้านพลังงานหมุนเวียน และเป็นศูนย์กลางของการธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่งของภูมิภาคเอเชีย

20211007-a-02.jpg

GPSC เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากการลงทุนครั้งนี้ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GRSC (ซึ่ง GPSC ถือหุ้น 100%) ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่สนใจในพลังงานลมของไต้หวัน จึงได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับ “บริษัท Copenhagen Infrastructure Partners” หรือ CIP เข้าถือหุ้น 25% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี กับ บริษัท Taiwan Power Company คาดจะจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ครบในปี 2567 และสามารถครอบคลุมการใช้ไฟกว่า 600,000 ครัวเรือนในไต้หวัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

20211007-a-03.jpg

การลงทุนนี้ จะทำให้ GPSC เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนอีก 149 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 25% ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนเท่ากับ 2,635 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 37% ของกำลังการผลิตทั้งหมด 7,102 เมกะวัตต์ เดินหน้าสู่เป้าหมายกลุ่ม ปตท. ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ถึง 12,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

20211007-a-04.jpg

นอกจากในด้านผลกำไรจากการลงทุนแล้ว สิ่งที่ GPSC จะได้อีก ก็คือองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งด้วยอีกทางหนึ่ง

ติดต่อโฆษณา!