03 พฤศจิกายน 2564
4,585

พลังงานตอบปัญหาคาใจ ทำไมน้ำมันแพง!

พลังงานตอบปัญหาคาใจ ทำไมน้ำมันแพง!
Highlight

หนึ่งในคำถามสำคัญช่วงนี้คือ ทำไมราคาน้ำมันถึงแพงเหลือเกิน เนื่องจากราคาน้ำมันถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของหลายครัวเรือน เช่นเดียวกับเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพของอีกหลายคน การปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาน้ำมัน จึงทำให้คนไทยได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงพลังงาน ก็ออกมาชี้แจงข้อสงสัยหลายต่อหลายข้อ


ถาม : ทำไมราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราปรับขึ้นมาก?

ตอบ : เนื่องจากราคาน้ำมันตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 น้ำมันดิบดูไบ ปรับขึ้นจาก 65.35 เป็นปัจจุบัน 84.34 ดอลลาร์/บาร์เรล รวมทั้งผลจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศปรับขึ้นจำนวน 6 ครั้ง ครั้งละประมาณ 40 – 60 สต./ลิตร มาอยู่ที่ 31.29 บาท/ลิตร ดังนั้น กระทรวงพลังงาน จึงได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชน โดยใช้เงิน กองทุนน้ำมันฯ ชดเชย ราคาน้ำ มันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 28.29 บาท/ลิตร และเพิ่ม
มาตรการช่วยเหลือในส่วนของโครงสร้างราคาน้ำมัน ดังนี้

1. น้ำมันไบโอดีเซล (B100) ได้ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนสิงหาคม 2564 จาก 38.08 บาท/ลิตร เป็น 46.15 บาท/ลิตร ในเดือนตุลาคม 2564 ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงได้ปรับลดสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร และคงสัดส่วนผสมในน้ำมันดีเซล บี20 เท่าเดิม

2. ขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดจากเดิม อยู่ที่ 1.80 บาท/ลิตร เป็นไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร

โดยกระทรวงพลังงานได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนในช่วงราคาน้ำมันแพงโดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และปรับสัดส่วนผสมขั้นต่ำของไบโอดีเซลในน้ำมันดีเซล บี7 และบี10 เป็นร้อยละ 6 โดยปริมาตร  และขอความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมัน ปรับลดค่าการตลาดไม่เกิน 1.40 บาท/ลิตร ทั้งนี้  กระทรวงพลังงานจะพยายามกำกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซหุงต้มให้ไม่กระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มความสามารถ

20211103-a-02.jpeg

ถาม : ทำไมต้องมี Biodiesel และ เอทานอล มันดีอย่างไร ต้นทุนผสม ราคาแพงมาก ทำให้ ราคาน้ำมันแพงไปเอื้อ ประโยชน์ให้กลุ่มปาล์ม เคยปรับลดสัดส่วน ผสมในอดีตไหม

ตอบ : การที่มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ส่งเสริมพลังงานทดแทน ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาพืชผลเกษตรของเกษตรกรไม่ให้ราคาตกต่ำ และทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งยังสามารถลดการนำเข้าน้ำมันได้อีกด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่ปรากฎในคําแถลงนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม 2562  ที่กำหนดให้ “..เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตและบริหารจัดการพลังงาน ส่งเสริมให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 และ B100 เพื่อเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ...” 

นอกจากนี้ คณะกรรมการปาล์มแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผลักดันให้มีการผสมเชื้อเพลิงชีวภาพในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกพืชพลังงานให้มีรายได้ที่มั่นคง ลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ แต่เนื่องจากสถานการณ์ ราคาไบโอดีเซล และเอทานอลมีราคาสูงต่างจากกับจากในอดีต กระทรวงพลังงานจำเป็นดำเนินมาตรการปรับลดสัดส่วนการผสมเพื่อให้เกิดความเหมาะสมไม่กระทบประชาชน แต่ก็ยังคงต้องรักษาเสถียรภาพด้านราคาให้แก่ไบโอดีเซลและเอทานอลไม่ให้กระทบเกษตรกร

ถาม : ทำไมไม่ลดภาษีสรรพสามิต ตั้ง 6 บาท ต่อลิตร เอาไปทำอะไร มาช่วยชั่วคราวก็ยังดี

ตอบ : ภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรัฐบาลทุกรัฐบาลต้องจัดเก็บเพื่อนำภาษีไปใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ และเป็น 40% ของรายได้ประเทศ โดยการจัดเก็บหรือการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงการคลังที่จะพิจารณาอัตราภาษีที่เหมาะสม

ถาม : ในส่วนดีเซลมีการตรึงราคา ที่ 30 บาท ใช่หรือไม่ เป็นเช่นนี้ทุกรัฐบาลใช่หรือไม่

ตอบ : มีการตรึงราคา ที่ 30 บาท/ลิตร ในทุกรัฐบาลตั้งแต่ปี 2551

20211103-a-01.jpeg

ถาม : เทียบราคาน้ำมันขายปลีกในไทยกับประเทศต่างๆ ในแถบนี้ ถูก แพง อย่างไร เพราะอะไร

ตอบ : ราคาน้ำมันของประเทศไทยสูงกว่ามาเลเซียหรือบางประเทศ ในภูมิภาคอาเซียน ขึ้นอยู่กับแหล่งทรัพยากรพลังงานในประเทศ นโยบายของรัฐบาล โครงสร้างราคาน้ำมัน ต้นทุนการจัดหาน้ำมัน คุณภาพน้ำมัน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้น้ำมัน ซึ่งโครงสร้างราคาน้ำมันจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน และ 2. ภาษีและกองทุนน้ำมัน ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมันของไทย มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอ้างอิงตลาดสิงคโปร์เช่นเดียวกัน แต่ต้นทุนเนื้อน้ำมันดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับค่าขนส่งซึ่งมีความแตกต่างกันตามที่ตั้งของแต่ละประเทศ อีกทั้งคุณภาพน้ำมันของไทย (ยูโร 4) สูงกว่าบางประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงมีราคาสูงกว่า ทั้งอีกไทยมีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล และไบโอดีเซล) ตามนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน ทำให้ไทยมีราคาสูงกว่า

2. ภาษีและกองทุน โครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทยมีการเก็บภาษีและเงินกองทุน  (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม) ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยสูงขึ้นจากต้นทุนเนื้อน้ำมัน
บางประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมัน อาทิ มาเลเซีย ไม่มีการจัดเก็บภาษีและกองทุน เนื่องจากมีรายได้จากการผลิตและส่งออกน้ำมันดังกล่าวในการบริหารประเทศโดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิซึ่งจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีน้ำมันเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณในการบริหารประเทศ
อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน พบว่าราคาของประเทศไทยก็ไม่ได้มีราคาสูงหรือต่ำไปกว่ามากตามที่มักมีการกล่าวอ้าง ตามภาพประกอบ

ถาม : แนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันในปัจจุบัน

ตอบ : รัฐบาลมีนโยบายยกเลิกการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศเคลื่อนไหวขึ้นลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นเครื่องมือในการบริหารราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไม่ให้กระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน มีหน้าที่ในการติดตาม กำกับ ดูแลความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจัดทำโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับอ้างอิงความเหมาะสมของราคาขายปลีกน้ำมัน โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

ราคา ณ โรงกลั่น : คือ ราคาเนื้อน้ำมัน ซึ่งอ้างอิงตามราคาตลาดกลางของภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ ตลาดสิงคโปร์ เพื่อใช้เปรียบเทียบราคานำเข้าหรือส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศ
ภาษีสรรพสามิต : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต และตามกรอบงบประมาณ เพื่อนำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

ภาษีเทศบาล : จัดเก็บโดยกระทรวงการคลัง ในอัตราร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต และจัดส่งให้กระทรวงมหาดไทยเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น
ภาษีมูลค่าเพิ่ม : จัดเก็บร้อยละ 7 ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีกร้อยละ 7 ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด            

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เรื่องการกำหนดอัตราส่งเข้ากองทุน อัตราเงินชดเชย อัตราเงินคืนจากกองทุน และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน : จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่อง การกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำในราชอาณาจักร และน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาเพื่อใช้ราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มประสิทธิภาพ  และลดการใช้พลังงานของประเทศ

ค่าการตลาด : คือส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ
ซึ่งรวมถึงคลังน้ำมัน ระบบขนส่ง และสถานีบริการ โดยค่าการตลาดที่เหมาะสมของน้ำมันแต่ละชนิดในปัจจุบันเป็นไปตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563

20211103-a-05.jpeg

ถาม : ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง และการกำกับดูแลค่าการตลาดให้มีความเหมาะสมอย่างไร

ตอบ : ค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิง มีหลักเกณฑ์พิจารณาจากค่าใช้จ่ายดำเนินการต่างๆ ของผู้ประกอบการ โดยให้มีผลตอบแทนหรือกำไรขั้นต้นเพื่อให้ครอบคลุมการลงทุน และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจกรรมด้านการตลาด ดังนี้

1. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของสถานีบริการน้ำมัน ประกอบด้วย ค่าขนส่ง ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน (อาทิ ค่าจ้างแรงงานและสวัสดิการ ค่าเช่าที่ดิน ค่าประกันภัย ค่าสอบบัญชี) ค่าสาธารณูปโภค และค่าซ่อมบำรุง)

2. ค่าใช้จ่ายดำเนินการของผู้ค้าตามมาตรา 7 ประกอบด้วย ค่าจ้างและค่าใช้จ่ายสำนักงาน ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายคลังน้ำมัน ค่าสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมาย

3. ค่าลงทุนสถานีบริการ และผลตอบแทนการลงทุน ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้ศึกษาความเหมาะสมของค่าการตลาดตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น โดยมีค่าการตลาดที่เหมาะสมในช่วงปี 2563 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 บาทต่อลิตร  ต่อมาได้มีการทำงานร่วมกับภาคประชาชน (คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม) ได้มีการทบทวนค่าการตลาดที่เหมาะสมใหม่ โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้เห็นชอบค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงที่เหมาะสมเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักทุกผลิตภัณฑ์ไว้ที่ 2.00 บาทต่อลิตร


ถาม : สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกตอนนี้เป็นอย่างไร และในประเทศไทยมีการปรับขึ้นลงอย่างไรบ้าง

ตอบ : ราคาน้ำมันในตลาดโลก มีแนวโน้มสถานการณ์ทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง จากการที่ ราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหนุนให้โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมากขึ้น รวมถึงการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบอยู่ในภาวะตึงตัว สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ

ราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามในตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันที่กระทรวงพลังงานได้มีมาตรการเข้าไปตรึงราคาขายปลีก น้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศต่ำกว่าราคาตามต้นทุนที่ควรเป็นของตลาด โดยกองทุนฯต้องจ่ายเงินชดเชยทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนละ 3,152 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564)

20211103-a-03.jpeg

ถาม : แนวทางดำเนินการตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น 

ตอบ : มีการใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร หรือที่ ราคาน้ำมันดิบดูไบ ไม่เกิน 87.5 ดอลลาร์/บาร์เรล ใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่ในปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ฐานะกองทุนอยู่ที่ 9,207 ล้านบาท) รวมถึงกู้ยืมเงินในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ตามมาตรา26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 เพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล

ในกรณีราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.5 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือสถานะภาพกองทุนน้ำมันฯ ไม่เพียงพอที่จะรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลให้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรแล้ว ให้ประสานกระทรวงการคลังเพื่อปรับลด อัตราภาษีสรรพสามิต เป็นลำดับต่อไป


ถาม : กองทุนมีเงินมากมายไปทำอะไรหมด ไม่ช่วยชดเชยความเดือดร้อนของประชาชนเลย ใช้เงินกองทุนไปทำอะไรบ้าง เงินหมดแล้วทำอย่างไร

ตอบ : พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดว่า มาตรา 5 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่ง เรียกว่า “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ในสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในกรณีที่เกิด วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง การดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ตามวรรคหนึ่งให้อยู่ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารกองทุน ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนด

มาตรา 26 กองทุนต้องมีจำนวนเงินเพียงพอเพื่อใช้ในการบริหารจัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินกู้ตามวรรคสองแล้วต้องไม่เกินจำนวน 4 หมื่นล้านบาท เมื่อกองทุนมีจำนวนเงินไม่เพียงพอเพื่อดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของกองทุนตามมาตรา 5 ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจกู้ยืมเงินเป็นจำนวนไม่เกินสองหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินตามวรรคหนึ่งและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสองให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ให้กระทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้ช่วยหลือราคาก๊าซ LPG และน้ำมันดีเซล หากฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะทำการกู้ยืมเงิน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 5 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562


20211103-a-04.jpeg

ถาม : ทำไมน้ำมันไทยส่งออก ถูกกว่าในประเทศ ราคาหน้าโรงกลั่น ค่าการตลาด

ตอบ :

1. ราคาน้ำมันส่งออก เป็นราคาที่ไม่รวมภาษี และกองทุน

2. โรงกลั่นน้ำมัน ในประเทศไทย สร้างขึ้นมาเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ และรองรับความต้องการใช้ในประเทศ ทดแทนการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศ

3. บางครั้งในกระบวนการ ผลิตน้ำมัน ของโรงกลั่นจะมีปริมาณน้ำมันส่วนเกินจากความต้องการในประเทศ หรือมีคุณภาพไม่ได้มาตรฐานสำหรับขายภายในประเทศ เช่น น้ำมันเบนซินและดีเซลต้องได้มาตรฐานยูโร 4 และมีเปอร์เซ็นต์ซัลเฟอร์ต่ำเป็นพิเศษ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการส่งออกไปขายต่างประเทศและต้องแข่งขันราคากับคู่แข่ง ซึ่งราคาที่ส่งออกจะไม่มีภาษีและกองทุน จึงทำให้ราคาส่งออกถูกกว่าราคาที่ขายในประเทศ

ที่มา : กระทรวงพลังงาน

ติดต่อโฆษณา!