นวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม ด้วย “Smart Farming” และ “Smart Marketing”
Highlight
รอยยิ้ม กำลังใจ เปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีแรงลุกขึ้นพัฒนาตัวเอง ความรู้คืออาวุธ นวัตกรรมคืออนาคตและเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนจากสถานการณ์โควิด-19 ให้พลิกฟื้นคืนกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง จึงเกิด “โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มกลุ่ม ปตท.” ที่มุ่งเน้นงานกิจการเพื่อสังคม 2 ด้าน คือ Smart Farming และ Smart Marketing ที่ไม่เพียงแค่พัฒนาชุมชนแต่ยังรวมถึงการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน” “สร้างโอกาส” ทางสังคม “สร้างงาน” ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วย กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจจะสร้าง “รอยยิ้ม” ให้ชุมชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
รอยยิ้ม กำลังใจ เปรียบเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงร่างกายให้มีแรงลุกขึ้นพัฒนาตัวเอง ความรู้คืออาวุธ นวัตกรรมคืออนาคตและเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนจากสถานการณ์โควิด-19 ให้พลิกฟื้นคืนกลับมามีรอยยิ้มอีกครั้ง จึงเกิด “โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มกลุ่ม ปตท.” ที่มุ่งเน้นงานกิจการเพื่อสังคม 2 ด้าน คือ Smart Farming และ Smart Marketing
เมื่อนวัตกรรมจับมือกับเกษตรชุมชน จึงเกิด “Smart Farming” ที่นำเทคโนโลยีและองค์ความรู้มาออกแบบการเกษตรตามบริบทของแต่ละพื้นที่ สร้างทักษะให้พี่น้องเกษตรกร พัฒนาพลังงานใช้ในชุมชน
และเมื่อนำ “นวัตกรรม” ร่วมด้วย “การตลาด” เข้าผสมผสาน จึงเกิด “Smart Marketing” ที่นำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ๆ มาพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อยกระดับช่องทางการขายสู่การตลาดวิถีใหม่
ในสามปีนับจากนี้โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. มีเป้าหมายพัฒนา 45 พื้นที่ให้เป็นต้นแบบ Smart Farming พัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชน 1,250 รายการ และการท่องเที่ยวโดยชุมชน 10 พื้นที่ ผลักดันเข้าสู่ช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับปี 2564 ปตท. ตั้งเป้าในการพัฒนา “เกษตรชุมชน” ให้ได้ 25 พื้นที่ นำร่องด้วยการดำเนินการกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนประเมินศักยภาพพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลสมาชิก ประเมินความคุ้มค่าการใช้ประโยชน์ที่ดินและทำแผนธุรกิจตามบริบทของแต่ละพื้นที่ พัฒนาพื้นที่โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. และปิดท้ายด้วยการประเมินผลโดยวัดจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การสร้างโรงเรือนในพื้นที่ การติดตั้งระบบ IoT (Internet of thing) สร้างพาลาโบลาโดมหรือระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก เครื่องสูบน้ำระบบพลังงานแสงอาทิตย์ แปลงเกษตรสาธิต ครอบคลุมหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น ลพบุรี เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ พัทลุง อุดรธานี ระยอง น่าน พิษณุโลก สระบุรี ชลบุรี
สำหรับการดำเนินงานปี 2564 ของ Smart Marketing แบ่งเป็นสองมิติ คือ สินค้าชุมชนกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อพัฒนาสินค้าทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 250 รายการ และพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอีก 4 จังหวัด
กรณีที่เป็น “สินค้า” จะใช้วิธีสำรวจ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดและสินค้าชุมชน จากนั้นจึงคัดเลือกสินค้าชุมชนที่มีศักยภาพในการพัฒนามาจัดทำแผนธุรกิจร่วมกับชุมชน พัฒนาสินค้าทั้งด้านคุณภาพและบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ และประเมินผลโดยวัดจากรายได้หรือยอดขาย
หากเป็น “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” จะมุ่งเน้นการเฟ้นหาพื้นที่ศักยภาพ สร้างเรื่องเล่าเคล้าอัตลักษณ์ พัฒนาแผนการท่องเที่ยว ความตระหนักรักและผูกพันในพื้นที่ซึ่งจะสร้างการมีส่วนร่วมและดูแล โดยจะประเมินผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวหรือรายได้ของชุมชน
ตัวอย่างการพัฒนาสินค้าคือ น้ำผึ้งฅนป่า จังหวัดพัทลุง น้ำพริกเผาสับปะรดตราดสีทอง จังหวัดตราด ที่ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์มีการออกแบบให้ร่วมสมัยทั้งกลิ่นอายของตำนานผสานกับชีวิตวิถีใหม่
โครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้ม กลุ่ม ปตท. ไม่เพียงแค่การพัฒนาชุมชนแต่ยังรวมถึงการ “ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน” สร้างโอกาสทางสังคม และสร้างงาน ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากโรคระบาดโควิด-19 ด้วย โดย ปตท. ได้สนับสนุนการจ้างงานผ่านโครงการ Restart Thailand จ้างนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงานร่วมกับกลุ่ม ปตท. เพื่อร่วมงานด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมผ่านหลายโครงการของ กลุ่ม ปตท.
และทั้งหมดนี้คือ ความตั้งใจของ กลุ่ม ปตท. ที่จะสร้าง “รอยยิ้ม” ให้ชุมชนเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต สร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างชีวิตและโอกาส ที่คนคนหนึ่งจะเลี้ยงดูตัวเอง ครอบครัว และชุมชนได้จากทักษะ ฝีมือ และศักยภาพของตัวเอง