16 พฤศจิกายน 2564
6,269

7 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2022

7 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในปี 2022
Highlight

เทคโนโลยีแถวหน้าของวงการ 7 อันดับที่สถาบันวิชาชีพวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (IEEE Computer Society) คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อทั้งภาคธุรกิจและผู้คนในสังคมมากขึ้นในปี 2022 ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์ การให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสมบัติสาธารณะ ความยั่งยืน คอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ การประมวลผลแบบควอนตัม นาโนเทคโนโลยี และวงจรรวมแบบสามมิติ


1. เทคโนโลยีด้านความปลอดภัยไซเบอร์ (Security Cross-Cutting Issues)

อาชญากรรมออนไลน์กลายเป็นปัญหาที่รุนแรงยิ่งขึ้นทันทีเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกคนต่างหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากกว่าเดิม เพราะข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เลขบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต ฐานข้อมูลลูกค้า หรือแม้กระทั่งคลาสเรียนออนไลน์ ต่างก็เสี่ยงโดนขโมยและโจมตีจากแฮ็กเกอร์ทั่วโลกได้

สถิติด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่รวบรวมโดย Forbes นั้นก็น่ากังวลหลายข้อ เช่น หัวหน้าฝ่าย IT Security กว่า 80% กล่าวว่าบริษัทของตัวเองไม่มีขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีที่มากพอ จำนวนมัลแวร์เพิ่มขึ้นกว่า 358% ในปี 2020 นอกจากนี้ การโจมตีทางไซเบอร์จะสร้างความเสียหายทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ดังนั้นเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมีบทบาทมากที่สุดในปีหน้านี้จึงหนีไม่พ้นเรื่องการยกระดับมาตรการการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่หนาแน่นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การฝึกอบรมพนักงานในองค์กรรวมถึงผู้บริโภคให้สามารถแยกแยะอีเมลที่เข้าข่าย Phishing ได้เอง การใช้ Machine Learning วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ระบบจดจำลักษณะการโจมตีทางไซเบอร์เพื่อป้องกันเหตุร้ายในอนาคต และการใช้วิธียืนยันตัวตนแบบหลายปัจจัย (MFA) เป็นต้น

2. การให้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสมบัติสาธารณะ (Open Intellectual Property Movement)

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเปิดให้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองกลายเป็นสมบัติของสาธารณะที่อนุญาตให้คนอื่น ๆ สามารถนำไปพัฒนา ประยุกต์ และดัดแปลงต่อได้ กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น คลังเก็บข้อมูลออนไลน์อย่าง Wikipedia ซอฟต์แวร์ Open Source ที่เปิดให้เข้าถึงและดาวน์โหลดได้ฟรี การเผยแพร่งานวิจัยใหม่ ๆ สู่สาธารณะ หรือแม้กระทั่งการแบ่งปันโมเดล 3D ให้คนอื่นใช้งานได้ เช่น เว็บไซต์ Blendswap

กระแสความนิยมดังกล่าวนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมดี ๆ ให้เกิดขึ้นจริงในสังคมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพราะผู้คนจากทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึงได้ แลกเปลี่ยนความรู้ของตัวเอง และช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ความท้าทายข้อหนึ่งคือต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนอยากเข้าร่วมแม้จะไม่มีค่าตอบแทนที่สูงหรือแน่นอนก็ตาม รวมถึงความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ผู้คนนำมาแลกเปลี่ยนกันบนแพลตฟอร์มด้วย

3. ความยั่งยืน (Sustainability)

แม้ปัจจุบันผู้คนจำนวนมากทั่วโลกต่างหันมาสนใจเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์พุ่งสูงขึ้นกว่าครั้งไหน ปริมาณการใช้ทรัพยากรทั้งพลังงานไฟฟ้าและวัสดุต่าง ๆ จึงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งย่อมก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ความยั่งยืนจึงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีกำลังให้ความสนใจและร่วมกันหาทางออก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ทนทานและมีอายุการใช้งานนานขึ้น การใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้ เทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น

4. คอร์สเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่ (MOOCs)

การเรียนการสอนขนาดใหญ่ หรือ Massive Open Online Course (MOOCs) เป็นเทคโนโลยีที่ถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 2008 โดย Georges Siemens และ Dave Cormier ที่เปิดคอร์สชื่อว่า Connectivism and Connective Knowledge เพื่อสอนนักเรียน 25 คนในห้องสด ณ มหาวิทยาลัย Manitoba ประเทศแคนาดา พร้อม ๆ กับนักเรียนอีก 2,300 คนที่เข้าร่วมผ่านทางออนไลน์

การเดินหน้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลบวกกับวิกฤตโควิด-19 แบบนี้ MOOCs จึงกลายเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะเปิดรับผู้เรียนจำนวนมากในคราวเดียวกันได้ผ่านทางออนไลน์ ทำให้ค่าเล่าเรียนมีราคาถูกแถมยังนั่งเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาให้กับผู้คนจำนวนมากทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีทักษะใหม่ ๆ ที่ตลาดแรงงานแห่งโลกอนาคตกำลังต้องการด้วย เช่น การบริหารโปรเจค การออกแบบ UX/UI หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกหลายแห่งเปิดคอร์สออนไลน์ขนาดใหญ่แบบนี้แล้ว แถมหลายคอร์สก็เปิดสอนแบบฟรี ๆ อีกด้วย เช่น Harvard University และ Massachusetts Institute of Technology (MIT) นอกจากนี้ ก็ยังมีแพลตฟอร์มคอร์สเรียนออนไลน์ชื่อดังอีกมากมาย เช่น Coursera และ Udemy ที่มีจำนวนผู้เข้าเรียนแล้วกว่า 82 ล้านคนทั่วโลก

แม้ MOOCs จะโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่ายังขาดการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา เปอร์เซ็นต์คนเรียนจนจบคอร์สน้อยแค่ประมาณ 8% แถมยังมีโอกาสสูงถึง 50% ที่จะมีคนสร้างโปรแกรมมาโกงข้อสอบแบบปรนัยได้สำเร็จ แต่ IEEE ก็มองว่า เทคโนโลยีเบื้องหลังห้องเรียนออนไลน์ขนาดใหญ่เช่นนี้จะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นในปี 2022 และอาจดิสรัปการเรียนการสอนระดับชั้นอุดมศึกษาทั่วโลกในอนาคต

5. การประมวลผลแบบควอนตัม (Quantum Computing)

เทคโนโลยีการประมวลผลแบบควอนตัม หรือ Quantum Computing เป็นสิ่งที่หลายคนคาดหวังว่าจะช่วยพลิกโฉมให้ระบบการประมวลผลของคอมพิวเตอร์มีความรวดเร็วและทรงพลังมากยิ่งขึ้นหลายสิบเท่า แต่ว่าแม้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเริ่มทดลองใช้งานแล้ว แต่ขีดความสามารถของควอนตัมคอมพิวติ้งในปัจจุบัน ก็ยังค่อนข้างห่างไกลจากคอมพิวเตอร์ปกติทั่วไปที่เราพบเห็นตอนนี้อยู่ดี

เพราะบริษัทชั้นนำของโลก เช่น IBM Microsoft และ Google ที่เป็นหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในตอนนี้ก็เพิ่งประสบความสำเร็จในการสร้าง Qubits ซึ่งเป็นหน่วยประมวลผลข้อมูลขนาดเล็กในระดับอะตอม ได้ประมาณ 50-65 Qubits  เท่านั้นเอง
แต่นักวิทยาศาสตร์หลายรายคาดการณ์ว่ากว่าที่ควอนตัมคอมพิวติ้งจะมีประสิทธิภาพมากพอจนสามารถออกวางจำหน่ายในเชิงพาณิชย์เป็นวงกว้างได้นั้นจะต้องมีจำนวน Qubits อย่างน้อย 1,000 – 1,000,000 หน่วยเสียก่อน ดังนั้นคงต้องรอกันอีกประมาณสิบปี เราจึงได้เห็นเทคโนโลยีอันล้ำสมัยนี้ช่วยยกระดับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น

6. นาโนเทคโนโลยี (Nanotechnology)

นาโนเทคโนโลยี หรือ การควบคุมและดัดแปลงสสารในระดับเล็กขนาดอะตอมหรือโมเลกุลนั้นถือว่าเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยที่หลายอุตสาหกรรมในปัจจุบันได้มุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น แคปซูลบรรจุกล้องขนาดจิ๋วที่ผู้ป่วยสามารถกลืนลงไปเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้กระทั่งการผลิตเครื่องสำอาง ครีมกันแดด หรือยางรถยนต์ ก็นำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์และพัฒนาสินค้าต่าง ๆ เช่นกัน

ตัวอย่างการใช้งาน เช่น อุตสาหกรรมความงามต้องใช้ส่วนผสมขนาดเล็กจิ๋วระดับนาโนเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณสมบัติกันรังสี UV จากแสงแดด หรือซ่อมแซมและฟื้นฟูเซลล์ผิวได้ดียิ่งขึ้น ส่วนในการผลิตยางรถยนต์ นาโนเทคโนโลยีสามารถช่วยเพิ่มความทนทานและอายุการใช้งานของสินค้า แถมยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงได้อีกด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วเมื่อเราไม่ต้องเปลี่ยนยางรถยนต์กันบ่อย ๆ ก็ส่งผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วยนั่นเอง

ในอนาคตข้างหน้านี้ แม้ว่าจะต้องอาศัยการค้นคว้าและวิจัยอีกมาก แต่ผู้เชี่ยวชาญก็คาดการณ์ว่าเราจะได้เห็นนาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น อุปกรณ์เซ็นเซอร์ขนาดจิ๋วที่เข้าไปตรวจสอบความผิดปกติภายในร่างกาย การรักษาแผลได้อย่างรวดเร็ว หรือการสร้างกระดูกและอวัยวะที่เสียหายขึ้นมาใหม่

7. วงจรรวมแบบสามมิติ (3D Integrated Circuits)

วงจรรวม 2.5D (ซ้าย) และ วงจรรวม 3D (ขวา)
ที่มา: IEEE Computer Society 2022 Report

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยและผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ได้พยายามพัฒนาขีดความสามารถของวงจรไฟฟ้าให้สามารถรับส่งข้อมูลและประมวลผลได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการทำให้ต้นทุนในการผลิตถูกลงกว่าเดิม ดังนั้นพวกเขาจึงออกแบบวงจรรวมใหม่ จากเดิมที่เป็นวงจรลักษณะระนาบ (planar circuit) ให้เป็นวงจร 2.5 และ 3 มิติ ซึ่งเน้นการประกอบแผงวงจรแบบทับซ้อนกัน

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายยังคงเป็นเรื่องของการวิจัยและทดสอบที่ต้องผ่านด่านอีกหลายขั้นตอน นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจต้องรอถึงประมาณปี 2025 กว่าที่วงจรรวมแบบ 3D นี้จะเข้าสู่การผลิต Mass Production แล้วออกวางจำหน่ายในท้องตลาดได้

เป็นยังไงบ้างกับ 7 เทคโนโลยีที่น่าจับตามองในขณะนี้ซึ่งจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นอีกในปี 2022 และอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เร่งความเร็วของ Digital Transformation ทั่วโลกไปหลายเท่าตัว 

ที่มา : Bangkok Bank

ติดต่อโฆษณา!