สหรัฐฯจับมือหลายชาติในเอเชีย เทขายน้ำมันสู้โอเปก !!
Highlight
ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูงกระทบเงินเฟ้อทั่วโลกและเพิ่มต้นทุนการผลิต ล่าสุดสหรัฐฯออกโรงจับมือมือพันธมิตรอังกฤษและเอเชีย ปล่อยน้ำมันสต็อกออกมาในตลาดเบื้องต้นราว 50 ล้านบาเรล หวังดึงราคาให้ต่ำลงเนื่องจากกลุ่มโอเปกซึ่งเป็นผู้ผลิตหลัก ยังไม่เพิ่มปริมาณการผลิต ในขณะที่ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นจากภาวะการเข้าสู่ฤดูหนาวและเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว
สหรัฐฯแถลงในวันอังคาร (23 พ.ย.) ว่า จะปล่อยน้ำมันจำนวนหลายล้านบาร์เรลจากคลังสำรองยุทธศาสตร์ โดยที่มี จีน, อินเดีย, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, และอังกฤษ ร่วมมือด้วย ทั้งนี้เพื่อต่อสู้กับราคาน้ำมันที่พุ่งแรง ภายหลังกลุ่มโอเปกและผู้ผลิตรายอื่นๆ พากันเพิกเฉยไม่ยอมฟังเสียงเรียกร้องที่ให้พวกเขาผลิตน้ำมันดิบออกมามากขึ้น
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งความนิยมลดต่ำลง ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อข้าวของพากันขึ้นราคา ก่อนหน้าจะถึงการเลือกตั้งกลางเทอมในปีหน้า ซึ่งได้ได้เรียกร้องให้องค์การประเทศส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรผู้ผลิตรายอื่นๆ ซึ่งรวมตัวกันเป็นที่รู้จักในชื่อว่า โอเปกพลัส ผลิตน้ำมันให้มากขึ้น
ทั้งนี้ประธานาธิบดี ไบเดนได้ประกาศในวันอังคารที่ 23 พ.ย.ว่าสหรัฐฯจะปล่อยน้ำมันออกจากคลังน้ำมันยุทธศาสตร์เป็นจำนวน 50 ล้านบาร์เรล มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งเผยว่า วอชิงตันได้ติดต่อกับชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ๆ ในเอเชีย เพื่อร่วมมือกันดึงราคาน้ำมันให้ต่ำลง จากระดับซึ่งอยู่ใกล้ๆ จุดสูงสุดในรอบ 3 ปี สำหรับอังกฤษนั้นก่อนหน้านี้ไม่ได้ถูกอ้างว่าจะเข้าร่วมขบวนเรื่องนี้ด้วย
ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สหรัฐได้ร่วมมือประสานงานกับประเทศผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกบางราย เพื่อดำเนินมาตรการนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯหลายรายกล่าว
โอเปกพลัส ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย และประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯรายอื่นๆ ในแถบอ่าวเปอร์เซีย ตลอดจนรัสเซีย ได้ปฏิเสธคำขอร้องให้ผลิตน้ำมันออกมามากขึ้น ในการประชุมประจำเดือนของโดยที่พวกเขากำหนดประชุมกันนัดถัดไปวันที่ 2 ธ.ค. ทว่าจนถึงเวลานี้ยังไม่มีเครื่องบ่งชี้ใดๆ ว่าพวกเขาจะโอนอ่อนให้ทางฝ่ายผู้บริโภค
ทั้งนี้โอเปกพลัส ได้ทำความตกลงกันเอาไว้ว่า จะค่อยๆ เพิ่มการผลิตน้ำมันดิบขึ้นมาให้ได้ 400,000 บาร์เรลต่อวันในแต่ละเดือน ถึงแม้ในครั้งนี้เป็นก้าวย่างที่สหรัฐไม่พอใจ เนื่องจากยังดำเนินการเชื่องช้าเกินไป อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว กลุ่มนี้ยังคงทำตามเป้าหมายดังกล่าวนี้ไม่ค่อยได้อยู่ดี เนื่องจากความกังวลว่าโรคโควิด-19 จะกลับมาระบาดหนักอีก ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลงอีกครั้ง
ราคาที่พุ่งสูงอยู่ในปัจจุบัน มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ความต้องการใช้น้ำมันในทั่วโลกดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากหดหายไปมากเมื่อปีที่แล้ว ในช่วงที่เกิดโรคระบาดใหญ่ใหม่ๆ
สำหรับน้ำมันที่สหรัฐฯนำออกมาจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนจำนวน 50 ล้านบาร์เรลนั้น จะให้ยืมหรือขายแก่บริษัทต่างๆ ขณะที่อินเดียแถลงว่าจะปล่อยน้ำมันสำรองของตนออกมา 5 ล้านบาร์เรล ส่วนอังกฤษบอกว่าจะอนุญาตให้พวกคลังสำรองของภาคเอชนปล่อยน้ำมันดิบออกมาอยางสมัครใจเป็นจำนวน 1.5 ล้านบาร์เรล
ด้านเกาหลีใต้แจ้งว่า รายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนและช่วงเวลาที่จะปล่อยน้ำมันสำรองของตนนั้น จะตัดสินหลังหารือกับสหรัฐฯและพันธมิตรอื่นๆ
ส่วนสื่อญี่ปุ่นรายงานว่า โตเกียวจะแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการของตนในวันพุธที่ 24 พ.ย. นี้
แหล่งข่าวใน เอเปกพลัส รายหนึ่ง และนักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันอีกหลายราย กล่าวให้ความเห็นว่า การปล่อยน้ำมันสำรองออกมาครั้งนี้ เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ใหญ่โตเหมือนกับที่เคยระบุกันเอาไว้ก่อนหน้านี้ พวกเขายังวิจารณ์ปริมาณที่อังกฤษกับอินเดียปล่อยออกมาว่า อยู่ในระดับพอประมาณเท่านั้น ขณะที่สหรัฐฯนั้น เนื่องจากได้ประกาศเรื่องการปล่อยน้ำมันสำรองบางส่วนออกมาก่อนหน้านี้ไปแล้ว และดังนั้นปริมาณที่เพิ่มขึ้นมาจึงถือว่าต่ำกว่าที่คาดหมายกันไว้
กระนั้นก็ตาม ความพยายามของสหรัฐในการจับมือรวมทีมกับพวกระบบเศรษฐกิจของเอเชียรายใหญ่ๆ เพื่อกดดันให้มีการลดราคาพลังงานลงมา ยังคงถือเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังโอเปก ตลอดจนพวกผู้ผลิตรายใหญ่รายอื่นๆ ว่า พวกเขาจำเป็นต้องแก้ไขความกังวลเรื่องราคาน้ำมันดิบขึ้นสูงเช่นนี้ โดยที่ราคาทะยานไปมากกว่า 50% แล้วเฉพาะปีนี้ปีเดียว
ซิตี้กรุ๊ป คาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่า สหรัฐและชาติพันธมิตรอาจระบายน้ำมันรวม 100-120 ล้านบาร์เรลออกสู่ตลาด โดยสหรัฐจะระบายน้ำมัน 45-60 ล้านบาร์เรล, จีน 30 ล้านบาร์เรล, อินเดีย 5 ล้านบาร์เรล, ญี่ปุ่น 10 ล้านบาร์เรล และเกาหลีใต้ 10 ล้านบาร์เรล
อย่างไรก็ดี คาดว่ามาตรการระบายน้ำมันจากคลังสำรองจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดเพียง 2-3 สัปดาห์
ทั้งนี้ สหรัฐพยายามโน้มน้าวให้ประเทศต่างๆ ทำการระบายน้ำมันจากคลังสำรอง หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ปฏิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐที่ต้องการให้โอเปกพลัสเพิ่มการผลิตน้ำมันมากกว่า 400,000 บาร์เรล/วัน
นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา เจาะลึกราคาน้ำมันไทย แพงจริงหรือ? “จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ยังคงมีแนวโน้มตึงตัวอยู่ในระดับสูง จากปัจจัยหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังสถานการณ์โควิด , กำลังการผลิตน้ำมันดิบ , การเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว , หรือการเปิดประเทศให้มีการเดินทางท่องเที่ยวดังนั้นคาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ จนถึงไตรมาส 1 ปี 2565 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-90 เหรียญสหรัฐ / บาร์เรล และมีสิทธิจะมีการขยับขึ้นไปถึง 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้กรณีปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นมีแนวโน้มที่ขยับไปในทางที่ดีขึ้น
สำหรับราคาน้ำมันล่าสุดอ้างอิงจาก www.investing.com วันที่ 24 พ.ย. เมื่อเวลา 11.55 น. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันเบรนท์ ถึง 22 ม.ค. อยู่ที่ 82.31 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาต่ำสุดและสูงสุดของราคาน้ำมันหนึ่งปีย้อนหลังอยู่ที่ 46.82-86.7 ดอลล่าร์ต่อบาร์เรล
อ้างอิง :
https://nypost.com/2021/11/23/biden-approves-release-of-50m-barrels-of-oil-amid-rising-gas-prices/
https://www.thestreet.com/markets/oil-falls-as-biden-releases-50-million-barrels-of-strategic-oil-reserves
MGR online