GPSC ร่วมมือ เรือด่วนเจ้าพระยา พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่สำหรับเรือโดยสาร ขับเคลื่อนโดยไฟฟ้า 100%
Highlight
GPSC ร่วมมือ เรือด่วนเจ้าพระยา พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่สำหรับเรือโดยสาร โดยขับเคลื่อนโดยไฟฟ้า 100% รักษาสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางอากาศ นำร่องเรือรุ่น Water Limousine ถือเป็นการนำนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อสรรสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานในรูปแบบใหม่ให้กับคนไทย
ปัจจุบันทั่วโลกเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดกันมากขึ้น และรวมถึงการนำพลังงานไฟฟ้ารูปแบบแบตเตอรี่ไปใช้ในยานพานะต่างๆ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า และเริ่มพัฒนามาใช้ในเรือ เพราะการเดินทางทางน้ำเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกของกรุงเทพและคนไทยในการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรทางบก บริษัทธุรกิจชั้นนำด้านพลังงานอย่าง GPSC ได้ร่วมมือกับ เรือด่วนเจ้าพระยา พัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ที่ใช้กับเรือโดยสาร นับเป็นแบตเตอรี่ที่ผลิตโดยคนไทย ใช้โดยคนไทย และช่วยลดมลภาวะจากการเผาไหม้ ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐให้กับคนไทย
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ และระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า” ตอบโจทย์การลดใช้เชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ที่ศึกษาโดย GPSC เป็นแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพและผลิตโดยคนไทย มาทดลองใช้กับเรือโดยสารขนาดเล็ก ด้วยเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแบบ SemiSolid ของ GPSC และ 24M ที่ได้รับความไว้วางใจจาก ผู้ประกอบการระดับโลกอย่าง Volkswagen, Kyocera, AXXIVA และ Freyr ในการนำมาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมฯ จึงมั่นใจได้ว่าความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่ง Milestoneที่สำคัญ
คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ทางโรงงานแบตเตอรี่ที่เป็น Pilot Plan อยู่ที่อ.มาบตาพุด จ.ระยอง เราก็จะผลิตแบตเตอรี่เอาไปใส่ใน Module พอใส่ Module แล้วเราก็จะมาพัฒนาร่วมกัน เรือลำแรกเลยเราจะนำเรือที่เคยใช้อยู่แล้วมาดัดแปลง จากเรือที่ใช้น้ำมันกลายเป็นเรือที่ใช้แบตเตอรี่ของ G-Cell เราจะทดลองใช้ก่อน เป็นเรือต้นแบบ พอเสร็จแล้วเราจะขยายต่อไป ซึ่งแบตเตอรี่ของเรา เราก็มีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถที่จะทำให้แบตเตอรี่ที่ใช้กับเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขึ้น เชื่อมั่นว่าแบตเตอรี่ของ GPSC มีความปลอดภัย รวมถึงว่าเราจะเป็น Green Battery หลังจากที่ใช้แล้วสามารถจะมารีไซเคิลได้ง่าย และแบตเตอรี่นี้ก็เป็นแบตเตอรี่ที่ทำจากคนไทย เพื่อคนไทย”
“โครงการพัฒนาต้นแบบแบตเตอรี่ และระบบขับเคลื่อนเรือโดยสารไฟฟ้า” ในครั้งนี้ จะใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ในการขับเคลื่อนเรือโดยสาร เพื่อเริ่มต้นทดลองให้บริการแก่ผู้โดยสาร โดยเริ่มจากเรือรุ่น Water Limousine ก่อนที่จะนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือเชิงพาณิชย์ในรุ่นต่างๆ ต่อไป
นาวาตรีเจริญพร เจริญธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวว่า “ก่อนที่เราจะเลือกทาง GPSC เราก็ดูว่า 1. แบตเตอรี่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของเรือไฟฟ้า ในประเทศไทยมีใครผลิตแบตเตอรี่อย่างจริงจังหรือยัง ช่วงที่กำลังหาก็ยังไม่มีใครที่ผลิตอย่างจริงจัง เราก็มองว่า GPSC เป็นบริษัทในกลุ่มของ ปตท. การที่เราเลือกทาง GPSC เราผูกกับปตท. และเป็นหน่วยงานที่มีความยั่งยืน 2.ประเภทของแบตเตอรี่ เราก็ศึกษาดูว่าแบตเตอรี่มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีข้อดีอย่างไร เราก็ติดตรงที่ว่า Semi Solid เป็นแบตเตอรี่ที่มีความปลอดภัยสูง สามารถที่จะรักสิ่งแวดล้อม รีไซเคิลได้ เราจึงเลือกทาง GPSC”
GPSC พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานที่ผลิตโดยคนไทย เพื่อสรรสร้างนวัตกรรม ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานในรูปแบบใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในระดับอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง หน่วยงานรัฐ และเอกชน เพื่อสนับสนุนนโยบายด้านพลังงานของประเทศในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศไทย