02 พฤษภาคม 2565
1,776

คลัง เผยรัฐบาลเตรียมออกมาตรการหนุนใช้รถ EV ในประเทศเพิ่มเติม

คลัง เผยรัฐบาลเตรียมออกมาตรการหนุนใช้รถ EV ในประเทศเพิ่มเติม
Highlight

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV อยู่ในกระแสเทรนด์โลกที่มุ่งใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดคาร์บอนในอากาศ และส่งเสริมสภาพแวดล้อม แต่การจะผลิตเพื่อทดแทนรถยนต์ที่ใช้พลังงานฟอสซิลมานานนั้น ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลจึงต้องใช้มาตรการจูงใจทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ โดยมีการลดภาษีสรรพสามิตเป็นตัวนำ อย่างน้อยก็ทำให้ราคารถ EV ปรับลดลงมาในระดับที่คนทั่วไปจับต้องได้ และมาตรการลดภาษีจะมีเพิ่มอีก


กระทรวงการคลังเผยรัฐบาลเตรียมออกมาตรการหนุนการใช้รถอีวีในประเทศเพิ่มเติม ทั้งการจัดตั้งสถานีชาร์จรถ และการลดอัตราค่าไฟสำหรับรถอีวี คาดได้ข้อสรุปในปีนี้ ขณะที่โตโยต้า ลงนามร่วมมาตรการหนุนอีวีกับภาครัฐแล้สเมื่อ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ภายในประเทศแล้ว ขณะนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม อาทิ การส่งเสริมสถานีชาร์จไฟฟ้าของรถอีวี และอัตราค่าใช้ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์อีวี เป็นต้น

เขากล่าวระหว่างเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างกรมสรรพสามิตกับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้ามีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร ลดภาษีสรรพสามิตและรับเงินอุดหนุน เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคให้สามารถเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในราคาที่จับต้องได้

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สำหรับมาตรการเพิ่มเติมสำหรับการสนับสนุนการใช้รถยนต์อีวีในประเทศนั้น ขณะนี้ ทางคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางสนับสนุนที่ครบวงจร คาดว่า จะได้ข้อสรุปภายในปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สำหรับมาตรการทางภาษี และเงินอุดหนุนเพื่อสนับสนุนการใช้รถอีวีในประเทศนั้น มีอายุ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปีนี้ถึงสิ้นปี 2568 ทำให้ราคารถอีวีลดลงสูงสุดถึง 3 แสนบาทต่อคัน

ค่ายรถยนต์ทยอยลงนามภาครัฐผลิตรถยนต์ EV

หลังจากการที่ภาครัฐได้ออกมาตรการภาษี และเงินอุดหนุน ได้ส่งผลให้มีผู้ประกอบอุตสาหกรรมลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด/ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด

โดยมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ รวมกันทั้งสิ้นกว่า 5,000 คัน ประกอบด้วย รถยนต์ไฟฟ้า GWM รุ่น ORA GOOD CAT และ MG รุ่น MG EP และ MG ZS

นอกจากนี้ ยังมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่ได้เข้าร่วมมาตรการฯ มียอดจองกว่า 600 คัน ประกอบด้วย VOLVO มียอดจองจำนวน 385 คัน BMW มียอดจองจำนวน 112 คัน MINI มียอดจองจำนวน 58 คัน Porsche มียอดจองจำนวน 58 คัน Nissan มียอดจองจำนวน 19 คัน Audi มียอดจองจำนวน 10 คัน และ TAKANO มียอดจองจำนวน 6 คัน

จากสถิติที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมต่อการปรับตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ และก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ตามแนวทางที่รัฐบาลวางรากฐานไว้ 

รวมถึงการบรรลุเป้าหมายการผลิต และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ZEV (Zero Emission Vehicle) โดยเฉพาะเป้าหมายการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะในปี 2030 (พ.ศ.2573) คิดเป็นร้อยละ 30 ของกำลังการผลิตรถยนต์ในประเทศ    

สำหรับบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร การลดภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวข้างต้น

ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2565 จะมีบริษัทผู้ประกอบอุตสาหกรรม และผู้นำเข้ารถยนต์ และรถจักรยานยนต์ BEV เข้าร่วมลงนามในข้อตกลงเข้าร่วมมาตรการฯ กับกรมสรรพสามิตอีกไม่น้อยกว่า 5 ราย 

โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามกับค่ายรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอีก 2 แห่ง คือ เดมโปกรีน และ เอดิสัน ซึ่งเป็นค่ายรถของคนไทย

อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า โตโยต้า มีแผนงานที่จะจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น bZ4X โดยจะได้รับสิทธิการลดอากรศุลกากร การลดภาษีสรรพสามิต และการรับเงินอุดหนุน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้บริโภคตามที่ได้กล่าวข้างต้น

ติดต่อโฆษณา!