GPSC-PEA จับมือศึกษาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รับเทรนด์พลังงานสะอาด
Highlight
GPSC จับมือ PEA พัฒนาโครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เพื่อนำมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สร้างโอกาสทางธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี
ประเทศไทยมีการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น ภาครัฐและภาคเอกชนได้มีความร่วมมือเพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์
นำมาสู่การแลกเปลี่ยนความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รับเทรนด์พลังงานสะอาด โดยระบบกักเก็บพลังงานเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายระบบไฟฟ้า ระหว่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เพื่อมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยความร่วมมือดังกล่าวมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการระบบบริหารจัดการโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GPSC เป็นแกนนำพลังงานของกลุ่ม ปตท. เรามีประสบการณ์ในเรื่องของการ Implement ระบบ Energy Storage System หรือ ระบบกักเก็บพลังงานมาหลายปีแล้ว รวมถึงว่าเราก็มีการผลิต มีโรงงานผลิต Pilot Plant ที่เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่เป็น SemiSolid เทคโนโลยีอยู่ด้วย ซึ่งอันนี้ความร่วมมือก็เป็นความร่วมมือระหว่าง GPSC กับทาง PEA การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพราะว่าเราเห็นว่าแบตเตอรี่ที่ออกมามีความสามารถที่แตกต่างกัน แล้วก็น่าจะช่วยเหลืองานโครงข่ายของ PEA มีสเถียรภาพได้ในอนาคต
ความร่วมมือระหว่าง GPSC และ PEA ครั้งนี้ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการบริหารจัดการโครงข่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานมาประยุกต์ใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้า ได้แก่
1. เทคโนโลยี SemiSolid Battery
2. เทคโนโลยี Second-life EV battery
3. เทคโนโลยี Lithium Iron Phosphate Battery
หรือเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่อื่นที่มีความเหมาะสม เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการลงทุนระหว่าง GPSC และ PEA มีเป้าหมายเพิ่มศักยภาพและเสถียรภาพจากการให้บริการระบบโครงข่ายระบบไฟฟ้าของ PEA
คุณมงคล ตรีกิจจานนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า สำหรับวัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการ จริงๆ แล้วเพื่อเป็นการศึกษาและพัฒนาโครงข่ายระบบการจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน หรือ Energy Storage System มาดำเนินการในโครงข่ายระบบของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการจ่ายไฟให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรามองว่าบริษัท GPSC มีศักยภาพและเป็นผู้นำในเรื่องของการจัดการพลังงานและเรื่องของแบตเตอรี่ จึงมีการดำเนินการเรื่องของความร่วมมือในวันนี้
ทั้งสององค์กร พร้อมร่วมมือในการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ เพื่อมาใช้ในโครงข่ายระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเป็นระบบที่สามารถบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ เป็นแนวทางของพลังงานยุคใหม่มุ่งสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน