10 มิถุนายน 2565
3,235

ราชกิจจาฯ ประกาศ! ลดภาษีสรรพสามิต EV เหลือ 2% จาก 8% ค่ายรถเริ่มแข่งเดือด!

ราชกิจจาฯ ประกาศ! ลดภาษีสรรพสามิต EV เหลือ 2% จาก 8% ค่ายรถเริ่มแข่งเดือด!
Highlight

ราชกิจจาฯ ประกาศลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ไฟฟ้าและมีผลทันทีตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2565 จนถึง 31 ธันวาคม 2568 ในกลุ่มที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านใช้สิทธิ์ได้เต็มที่ ค่ายรถที่ได้เข้าร่วมโครงการกับรัฐบาลก็สามารถเดินเครื่องได้ทันที ดูสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำมันแพง ที่คนขับรถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดา อาจจะสนใจเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าหากราคาลงมาในระดับที่น่าสนใจ และอาจจะทำให้ยอดการใช้งานรถยนต์ EV ถึงเป้าเร็วขึ้น


ราชกิจจาฯ ประกาศกฎกระทรวง ลดภาษีรถ EV ที่เข้าโครงการรัฐบาลเสีย "ภาษีสรรพสามิต" แค่ 2% จากปกติ 8% มีผลทันที ด้าน MG ZS EV ได้ส่วนลดเต็มที่ 246,000 บาท

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศโครงสร้างการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์-รถจักรยานยนต์ใหม่  แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่การรื้ออัตราโครงสร้างภาษีเดิมทั้งหมด และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ประกาศนี้ยังมี ภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ลดลงจาก 8% เหลือ 2% และมีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 ธันวาคม 2568 

ตามประกาศนี้ ส่งผลให้ EV ที่เข้าร่วมโครงการรัฐบาล และเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมสรรพสามิตว่าต้องทำตามเงื่อนไขต่างๆ และมีแผนผลิตคืนในประเทศหลังจากปี 2567 จะได้ภาษีสรรพสามิต EV อัตราพิเศษทันที ซึ่งเบื้องต้นมีเพียง 3 ค่ายรถยนต์คือ เอ็มจี,เกรท วอลล์ มอเตอร์ และโตโยต้า โดยรายหลังยังไม่มี EV ขาย และต้องรอการเปิดตัว Toyota bZ4X ช่วงปลายปี 2565
 
ก่อนหน้านี้ เอ็มจี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ สามารถดำเนินการในส่วนของการลดภาษีนำเข้า (ซึ่งค่ายจีนเป็น 0% อยู่แล้ว) และรับเงินสนับสนุน 150,000 บาทต่อคัน (กรณีที่แบตเตอรี่ความจุเกิน 40 กิโลวัตต์ชั่วโมง) แต่การขายยังดำเนินการได้ไม่เต็มที่ เพราะรอประกาศเรื่องลดภาษีสรรพสามิต EV เพื่อจะได้ส่วนลดเต็มเพดานในกลุ่ม EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท

ปัจจุบัน MG มียอดค้างส่งมอบ EV รุ่น MG EP และ MG ZS EV รวมกันกว่า 6,000 คัน โดยที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการรอส่วนลดเต็มๆ จากรัฐบาล และภาษีสรรพสามิตอัตราพิเศษ เพิ่งประกาศเป็นกฎกระทรวงวานนี้ 

ขณะที่ MG ZS EV รุ่น X ราคาปกติ 1,269,000 บาท ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล 150,000 บาทต่อคัน รวมกับภาษีสรรพสามิต EV ที่ลดลงอีกเป็นมูลค่า 96,000 บาท ทำให้ราคาขายเหลือ 1,023,000 บาท ลดลงไป 246,000 บาท

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายรถยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ กล่าวว่า จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในไตรมาส 1 ปีนี้มียอดจดทะเบียน 1,236 คัน เพิ่มขึ้น 172.2% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมถึงเดือนเมษายนเพิ่มเป็น 5,614 คัน แต่ปีนี้จะเริ่มเห็น รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการส่งอาหารและส่งของต่างๆ เพราะราคา น้ำมันแพงขึ้น 

กระทรวงพลังงานจะเร่งส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) ในพื้นที่สาธารณะให้พอเพียง กับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 944 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้า มีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,450 สถานีในปี 2573

ตลาดรถยนต์ EV คึกคักมากขึ้นเมื่อ รถยนต์ไฟฟ้าเทสลา ของมหาเศรษฐีเบอร์หนึ่งของโลก อีลอน มัสก์เข้ามาตั้ง บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยโดยตั้งโรงงานผลิตที่อินโดนีเซีย เพื่อใช้ประโยชน์จาก เขตการค้าเสรีอาเซียน ส่งรถเข้ามาขายในไทยโดยไม่ต้องเสียภาษี โดยสามารถลดราคาลงคันละ 7-8 แสนบาทเหลือราว 2 ล้านต้นๆ 

นายณัฐกร อุเทนสุต โฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า มีรถยนต์ไฟฟ้าอีก 3-4 ค่าย ที่สนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีทั้งรถยนต์ ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเห็นการเซ็นสัญญาร่วมกันในปลายเดือนมิถุนายนนี้ จะทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อรถยนต์อีวีมากขึ้นจากเดิมที่มีเพียง 5 ค่าย 

ปัจจุบันมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้าแล้วกว่า 10,000 คัน คาดว่าในปีนี้จะมียอดจองรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 20,000-30,000 คัน แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามก็คือ ปัญหาการขาดแคลนชิปในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ติดต่อโฆษณา!