15 มิถุนายน 2565
1,861

กองทุนน้ำมันติดลบเฉียดแสนล้าน ดีเซลแตะ 35 บาทต่อลิตร

กองทุนน้ำมันติดลบเฉียดแสนล้าน ดีเซลแตะ 35 บาทต่อลิตร
Highlight

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบเฉียดแสนล้านหลังจากน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)มีมติให้ปรับขึ้นราคาขายปลีกดีเซลอีกลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่  34.94 บาทต่อลิตร จากเดิม 33.94 บาทต่อลิตร  มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. เป็นต้นไป กองทุนน้ำมันยังคงต้องพยุงต่อไป จนติดลบเฉียดแสนล้านบาทในขณะนี้


สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ได้ทบทวนราคาขายปลีกดีเซลประจำสัปดาห์ โดยมีมติให้ปรับขึ้นอีกลิตรละ 1 บาท ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่  34.94 บาทต่อลิตร จากเดิม 33.94 บาทต่อลิตร  มีผลตั้งแต่วันที่ 14 มิ.ย. เป็นต้นไป

สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงล่าสุด ติดลบ 91,089 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 54,574 ล้านบาท และบัญชีแอลพีจี 36,515  ล้านบาท โดยยังมีกระแสเงินสด 11,152 ล้านบาท ขณะที่จำนวนเงินที่ใช้ในการดูเลราคาดีเซลอยู่ที่วันละประมาณ 600 ล้านบาท

“ยอมรับว่าราคาน้ำมันยังมีผันผวนมาก ซึ่งพยายามดูแลราคาดีเซลให้เหมาะสมที่สุดเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ โดยขณะนี้ใช้เงินกองทุนน้ำมันฯชดเชยราคาอยู่ 9.96บาทต่อลิตร ดังนั้นราคาดีเซลที่สะท้อนตลาดโลกจริงอยู่ที่ 45 บาทต่อลิตร”นายวิศักดิ์  วัฒนศัพท์  ผู้อำนวยการ กบน. กล่าว

เพจเฟซบุ๊ก สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง รายงานฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง
(ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2565) ดังนี้

สินทรัพย์รวม 24,571 ล้านบาท

  • บัญชีน้ำมัน 22,674 ล้านบาท
  • บัญชีก๊าซ LPG 1,897 ล้านบาท

หนี้สินกองทุนรวม 115,660 ล้านบาท

  • บัญชีน้ำมัน 77,248 ล้านบาท
  • บัญชีก๊าซ LPG 38,412 ล้านบาท

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ -91,089 ล้านบาท

  • บัญชีน้ำมัน -54,574 ล้านบาท
  • บัญชีก๊าซ LPG -36,515 ล้านบาท

20220615-b-01.jpg

อย่างไรก็ตามสำหรับความคืบหน้าการเจรจาโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อแบ่งส่วนกำไรที่ได้จากค่าการกลั่นที่พุ่งสูงมาช่วยประชาชนนั้น ล่าสุดกระทรวงพลังงาน กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อหาเงินมาอุดหนุนราคาพลังงานอย่างสุดความสามารถ ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการใช้อำนาจ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ตามมาตรา 14 ซึ่งระบุว่า

“คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุนตามมาตรา 27 อัตราเงินชดเชยตามมาตรา 29 อัตราเงินคืนจากกองทุนตามมาตรา 31 และอัตราเงินชดเชยคืนกองทุนตามมาตรา 32 โดยอาจกำหนดตามประเภท การใช้ และแหล่งที่มา ของน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้” 

ทั้งนี้ให้คณะกรรมการรายงานการดำเนินการดังกล่าวต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อทราบในการหารือร่วมกับกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อหาแนวทางปรับลดราคาช่วยประชาชน โดยการพิจารณาครั้งนี้ต้องพิจารณากฎหมายอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างถูกโรงกลั่นฟ้องร้องได้ เพราะตลาดน้ำมันเป็นตลาดเสรี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2565 ณ ทำเนียบรัฐบาลว่า การประชุมในวันนี้เผื่อเตรียมมาตรการรองรับสำหรับความต้องการในการส่งเสริมการลงทุนในอนาคต เพราะการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุนและภาครัฐเอง รัฐบาลจึงได้เตรียมการปรับโครงสร้างภายในของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีข้อเสนอจากนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีต รมว.คลัง เสนอแนวทางแก้ปัญหาราคาพลังงานเชื้อเพลิงในขณะนี้ ที่ระบุว่า ควรกำหนดเพดานค่าการกลั่น เสนอเก็บ “ภาษีลาภลอย” (Windfall Tax) นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้มีการติดตามและให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าสามารถทำได้หรือไม่ โดยมองว่าต้องเป็นการขอความร่วมมือ ไม่สามารถดำเนินสั่งการได้เพราะติดข้อกฎหมาย โดยยืนยันรัฐบาลจะทำให้ดีที่สุด 

ในขณะนี้รัฐบาลก็เข้าไปดูแลโครงสร้างราคาเท่าที่ทำได้ทั้งโครงสร้างภาษี การอุดหนุนเงินทุนเข้ากองทุนน้ำมัน ซึ่งในตอนนี้ได้รับรายงานจากนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าได้มีการติดต่อขอความร่วมมือผู้ประกอบการไปแล้ว

อย่างไรก็ตามตัวเลขกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบใกล้จะ 1 แสนล้านบาทแล้วนั้น  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สถานการณ์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะในประเทศไทย เพราะรัฐบาลจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างในการดูและประชาชน ในหลากหลายมิติและต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ครอบคลุมปัญหา ซึ่งช่องทางการหารายได้ของรัฐก็มีไม่มากจึงต้องคำนึงถึงการใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อ้างอิง : สำนักข่าว NBT, สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ติดต่อโฆษณา!