26 กรกฎาคม 2565
2,690

เปิดแผนสยายปีกด้านโครงสร้างพื้นฐาน ของกลุ่ม ปตท.

Highlight 

ปตท. เปิดแผนธุรกิจการขยายไปยังโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เชื่อมโยงรอยต่อของสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งทางเรือ ระบบรางและขนส่งทางอากาศ  ซึ่งนอกเหนือไปจากการเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งได้จัดตั้ง 
“วังจันทร์วัลเลย์”เมืองอัจฉริยะต้นแบบหรือ Smart City ของประเทศไทย ล่าสุด ปตท. ร่วมมือกับการบินไทย เพื่อแก้ไขและพัฒนาการขนส่งทางอากาศโดยตั้งเป้าไทยจะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในโลกอีกครั้ง

โครงสร้างพื้นฐานที่ดี เป็นฟันเฟืองสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ “วังจันทร์วัลเลย์” นับเป็นโครงการที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรวมถึงอีกหลายโครงการ New S-Curve หรือธุรกิจใหม่ ของกลุ่ม ปตท.

โครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศธุรกิจ เช่น Logistic ใหม่ของกลุ่มปตท. ครอบคลุมทุกเส้นทางคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญ ข้อจำกัดคืออะไร และเป้าหมายของกลุ่ม ปตท.คืออะไร

เปิดแผนสยายปีกด้านโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่ม ปตท.

คุณชาญศักดิ์ ชื่นชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่วิศกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดแผนธุรกิจ ปตท. ด้านโครงสร้างสาธารณูโภคพื้นฐาน และโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและการแข่งขันประเทศในระยะยาว 
วังจันทร์วัลเล่ย์ - Smart City มีความเป็นมาอย่างไร

วังจันทร์วัลเลย์ ในภาพของ ปตท. คือโครงการที่สนับสนุนรัฐบาล เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนาประเทศไทย การเติบโตทางด้านเทคโนโลยี จึงต้องระดมคนเก่งมาทำงานที่นี่ เป็นแหล่งรวมนักวิจัยชั้นนำ วิธีการที่จะทำให้มีคนเก่งมารวมตัวทำงานที่นี่ได้  ประเทศเราจะเติมเต็มได้อย่างไร วังจันทร์วัลเล่ย์ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้

เดิมนักวิจัยจำนวนมากในโลก เมื่อเขาคิดอะไรใหม่ๆได้ จากช่วงตั้งไข่กว่าจะวิ่งได้ในตลาดข้างนอก จะต้องมีช่องตรงกลางให้เขาเติบโตได้ วิ่งเล่นได้เหมือนที่เล่น ที่วิ่งซ้อม การวิ่งซ้อมในสนามใหญ่ก็เสี่ยง กฎหมายกฎระเบียบอาจไม่พร้อม

วังจันทร์วัลเลย์จึงเป็นสถานที่ที่ขอรัฐบาลให้เป็นที่วิ่งเล่น ล้มได้เจ็บได้ ไม่เสียหาย เติบโตได้ก็ปล่อยไป เป็นการตอบโจทย์ประเทศ
ทำไมต้องเป็น Smart City

การที่จะดึงโลกนี้มา จะต้องเป็นที่ที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับระดับโลก เพราะฉะนั้นคำว่า Smart City ในโลกทั้ง 7 ด้าน วังจันทร์ก็จะทำให้ครบ ไม่ว่าจะมาทางด้านไหน ก็มีพร้อมหมด

7 สิ่งอัจฉริยะ ซึ่งเป็นต้นแบบ Smart City ที่วังจันทร์วัลเลย์ประกอบด้วย 
สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)
องค์ประกอบโครงสร้างพื้นฐานของ Smart City

ที่วังจันทร์วัลเลย์ มีสนามให้กับการทดลองรถ Autonomous เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ ผ่านระบบ 5G ระบบสัญญาณต่างๆ เป็นต้น

ถ้าจะทำเรื่องเกี่ยวกับด้านชีวะวิทยา ก็จะมีการศึกษาร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เช่นร่วมมือกับสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) หรือร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โดยสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ ซึ่งอยากเชิญชวนนักลงทุน มาซ้อมวิ่ง ซ้อมเล่นที่นี่ มาใช้บริการที่วังจันทร์วัลเลย์ ซึ่งได้รับสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี โดยยกเว้นภาษีเงินได้ ยกเว้นการนำเข้าวัตถุดิบ ได้รับ Smart VISA สำหรับผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งในด้านผู้ประกอบการหากประสบความสำเร็จก็ขอให้ทำธุรกิจในประเทศไทย

ธุรกิจ New S-Curve ของกลุ่ม ปตท. มีโครงการอะไรบ้าง ที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

ปตท. ทำ Life Science วิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Automation Robotic) พลังงานใหม่ กำลังเริ่มต้น เนื่องจากว่าพลังงานกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้เชื้อเพลิงธรรมดาเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มันเป็นธุรกิจอีกชนิดหนึ่ง รวมทั้งธุรกิจ Logistics ซึ่งจำเป็นต้องใช้พลังงานเหมือนกัน ซึ่งโลกกำลังลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ตามกำหนดการณ์ที่กำหนดไว้ ซึ่ง Logistic เป็น 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีก 2 ส่วนคือ อุตสาหกรรมและการดำเนินชีวิตของประชาชน ทั่วไป ดังนั้น ปตท. จึงมีนโยบายที่ต้องการจะช่วยโลกและเปลี่ยนธุรกิจ Logistics ด้วย

เป้าหมายของธุรกิจ Logistics ของกลุ่ม ปตท. ครอบคลุมภาคส่วนใดบ้าง

เนื่องจากปตท. เป็นบริษัทที่ใหญ่ เป็นเหมือนรัฐวิสาหกิจ ถ้าหากไปทำ Logistics พื้นฐานทั่วไปก็จะไปแข่งกับเอกชน ซึ่งดูไม่ค่อยถูกต้องนัก ซึ่งหน้าที่ของปตท. จึงมาดูในภาพใหญ่ว่า ประเทศต้องการปรับเปลี่ยนในส่วนไหนเพื่อให้ประเทศเราพร้อมแข่งขัน

“ยกตัวอย่างเช่น ระบบรางของเรา ลงทุนไปจำนวนมาก เช่น ท่าเรือ และสายการบิน ทุกๆ โครงการรวมกันมูลค่าการลงทุนอาจจะสูงถึงล้านล้านบาท วันนี้สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เท่าไหร่แล้ว” คุณชาญศักดิ์ กล่าว

ถ้าหากยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง เมื่อปตท. เข้าไป เราไม่ต้องสร้างใหม่ ปตท. จะมาเสริมรอยต่อเส้นทางคมนาคมเพื่อลดระยะเวลาขนส่ง
ต้นทุน Logistic มีอยู่ 2 เรื่อง คือ ระยะเวลาในการขนส่ง และประสิทธิภาพของการขนส่ง

“การรอมีต้นทุน การรอระบายของออกไปเป็นเวลานานอาจสร้างความเสียหาย ทำให้ต้นทุนโดยรวมของประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะไทยมีสินค้าเกษตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากลดต้นทุนได้ จะช่วยเกษตรกรขายของได้มากขึ้น ปตท. มองเรื่องนี้เป็นโอกาส ดังนั้นจะดูเรื่องรอยต่อเป็นหลัก” คุณชาญศักดิ์ กล่าว

ความร่วมมือของ ปตท. กับการบินไทยในการขนส่งทางอากาศ

ย้อนไปเรื่องการทำรอยต่อ หรือ Multimodal Transportation ต้องเชื่อมทุกเส้นทางคมนาคม ปัจจุบันมีเส้นทางขนส่ง ทางเรือและระบบราง เหลือการขนส่งทางอากาศ

ระบบทั้งหมดต้องจัดระบบด้วย Digital ที่เรียกว่า Smart Transportation เมื่อ Track ไปในแต่กิจกรรมก็จะเห็นว่าตรงไหนปรับปรุงได้ 
การบินไทยเป็น 1 ใน 4 เข้ามาเติมเต็มให้ระบบการขนส่งของต่างประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปตท. จึงได้เข้าไปร่วมมือกับการบินไทย

วางเป้าหมายความร่วมมือหลังลงนามกับการบินไทยไว้ว่า ถ้าต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศของโลก เพราะตำแหน่งประเทศไทย ได้เปรียบอยู่แล้ว แต่ทำไมสินค้าถึงไม่ผ่านมามากพอ อาจมีระบบการเชื่อมต่อระหว่างสายการบินกับ Ground มีศุลกากรบ้าง มีการจัดการท่าอากาศยานบ้าง การบินไทยมีความฝันอะไร มาช่วยกันแก้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการ Warehouse หรือหา Strategic Partner ใหม่ เพื่อให้มากระจายสินค้าทางอากาศที่ประเทศไทยได้เพิ่มขึ้น เป็นเป้าหมายที่คุยกัน

การที่ ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นข้อดีข้อหนึ่ง วันที่เราเดินไปคุยกับใคร เหมือนเราเป็นภาครัฐมีความนุ่มนวล ถ้าหากจะต้องแก้ไขปัญหาด้านการลงทุน เรามีภาพการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ก็ได้ความเร็ว สามารถเชิญพันธมิตรมาร่วมได้

ประเทศไทยมีความเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านใดบ้าง

ระบบราง ซึ่งศักยภาพที่มีตอนนี้มีบางจุดวิ่งได้ 10 ขบวน หรือบางจุดวิ่งได้ 5 ขบวน หรือบางจุดวิ่งได้ 1 ขบวน เชื่อว่ารัฐบาลมีข้อมูลครบแล้ว แต่ ปตท. ไม่สามารถลงทุนแทนรัฐได้ แต่สามารถแก้ปัญหาตรงนั้นได้โดยระบบหรือแพลตฟอร์ม ถ้าแก้ตรงนั้นได้ มันจะแก้ปัญหาให้รัฐบาลได้ทั้งระบบ จึงเสนอรัฐบาลให้เร่งรัดปรับปรุงโครงการที่เกี่ยวกับรอยต่อ หรือคอขวดของระบบราง ท่าเรือ หรือแม้แต่กฎระเบียบการขนส่งทางอากาศ

เพราะเราค้าขายกับโลก หากเราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโลก และเนื่องจาก ปตท. มีบริษัทที่ทำงานอยู่ที่ต่างประเทศอยู่แล้ว ก็สามารถพูดคุย เชิญชวนเขามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการขนส่งสินค้าได้

ติดต่อโฆษณา!