01 กันยายน 2565
1,936

ไทยส่งเสริมลงทุนรถ EV เดินหน้าดันเป็น Hub ในภูมิภาค ด้านคลังจ่อยืดเวลาลดภาษีดีเซลถึงสิ้นปี ช่วยลดค่าครองชีพ

ไทยส่งเสริมลงทุนรถ EV เดินหน้าดันเป็น Hub ในภูมิภาค ด้านคลังจ่อยืดเวลาลดภาษีดีเซลถึงสิ้นปี ช่วยลดค่าครองชีพ

Highlight

รัฐบาลยังคงมีแผนการส่งเสริมสนับสนุนการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่องโดยมีเป้าหมาย ลดการปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 และพร้อมผลักดันสู่การเป็น Hub ในภูมิภาคต่อไป ทั้งนี้ BOI ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถ EV ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 17 ส.ค.65 มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการดังกล่าวแล้วรวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท



นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) กำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2573 เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (EV Hub)

โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านสิทธิประโยชน์และภาษีของรถอีวี เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เดินหน้าเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าสู่กลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งขณะนี้การส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนมีความคืบหน้าการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้รายงานความคืบหน้าการส่งเสริมกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบัน (17 ส.ค.65) มีโครงการที่ได้รับส่งเสริมในกิจการดังกล่าวแล้วรวม 26 โครงการ จาก 17 บริษัท ประกอบด้วย

1. โครงการผลิต Hybrid Electric Vehicle (HEV) จำนวน 7 โครงการ ได้แก่ GWM, Honda, Mazda, MG, Mitsubishi, Nissan, Toyota

2. โครงการผลิต Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) จำนวน 8 โครงการ ได้แก่ BMW, BYD, GWM, Mercedes Benz, Mazda, MG, Mitsubishi, Toyota

3. โครงการผลิต Battery Electric Vehicle (BEV) จำนวน 15 โครงการ ได้แก่ BYD, FOMM, GWM, Honda, Horizon, Mazda, Mercedes Benz, MG, Mine Mobility (2 โครงการ), Mitsubishi, Nissan Skywell, Takano, Toyota

4. โครงการผลิตรถบัสไฟฟ้า (E-bus) จำนวน 2 โครงการ ได้แก่ Absolute Assembly และสกุลฎ์ซี (เนื่องจากบางโครงการได้รับการส่งเสริมในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1 ประเภทในโครงการเดียวกัน ทำให้จำนวนโครงการเมื่อแยกตามรายประเภทรถยนต์ไฟฟ้าแล้วจะสูงกว่าจำนวนโครงการรวม) มีมูลค่าการลงทุนรวม 80,208.6 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) กำลังการผลิตจำนวน 838,775 คัน แยกเป็น HEV 38,623.9 ล้านบาท 440,955 คัน, PHEV 11,665.6 ล้านบาท 137,600 คัน, BEV 27,745.2 ล้านบาท 256,220 คัน และ Battery Electric Bus 2,173.8 ล้านบาท 4,000 คัน


โดยบริษัทที่เริ่มการผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์แล้ว ได้แก่ Absolute Assembly, BMW, FOMM, GWM, Honda, Mercedes Benz, MG, Mitsubishi, Nissan, Takano, Toyota และยังมีอีกหลายโครงการที่มีแผนที่จะผลิตเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ

นายอนุชา กล่าวว่า จากนโยบายส่งเสริมโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังส่งผลให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนสำคัญสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าตามมา เนื่องจากเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนกำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องผลิตหรือใช้แบตเตอรี่ในประเทศ

นอกจากนั้นหากผู้ผลิตรถยนต์มีการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ เช่น Battery Management System (BMS), Drive Control Unit (DCU) และ Traction Motorในประเทศเพิ่มเติมก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายโครงการมีแผนจะดึงซัพพลายเออร์จากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้ โดยบีโอไอรายงานว่าในปัจจุบันมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 35 โครงการ จาก 26 บริษัท มูลค่ารวม 15,410.2 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ตัวอย่างชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่, Traction Motor, BMS, DCU, Inverter, Onboard Charger, DC/DC Converter, High Voltage Harness, ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่ และอุปกรณ์สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

ตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนสำคัญ นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางรายที่มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเอง เช่น Delta, Draxlmaier, Elite Group, Jatco, Lumen, Mine Mobility, MCCT, Nuovo Plus, TESM, Valeo เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่างมีความพร้อมในการลงทุนและมีความมั่นใจที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์และนโยบายการสนับสนุนการใช้รถอีวีของประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถอีวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเร่งพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียนให้ได้

รวมทั้งจะขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถอีวีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาล โดยบอร์ดอีวีได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568

นายอนุชา ยืนยันว่า รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ด้านสถานการณ์เฉพาะหน้า รัฐบาลเล็งต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลถึงสิ้นปี 65

ทั้งนี้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลออกไปอีกถึงสิ้นปี 2565 ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังได้ปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ที่ 5 บาทต่อลิตร และจะหมดอายุมาตราการวันที่ 20 ก.ย.2565

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายประชาชนจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง และช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในช่วงปลายปี โดยในวันที่ 1 ก.ย.2565 จะเริ่มใช้จ่ายในโครงการคนละครึ่งเฟส 5 และยังเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 3% - 3.5% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

“เรากำลังพิจารณาว่าในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เราจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยในเรื่องของราคาน้ำมันได้อย่างใด แต่ในการออกมาตรการยังต้องพิจารณาในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ของรัฐบาล ที่ปัจจุบันจัดเก็บได้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ แต่ได้นำมาชดเชยราคาพลังงาน ด้วยการปรับลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 3 บาท และ 5 บาท ในช่วงที่ผ่านมา” นายอาคมกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า หากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุมาตรการการลดภาษีน้ำมันดีเซล จะส่งผลให้กองทุนน้ำมันจากปัจจุบันที่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ราววันละ 5.38 บาทต่อลิตร เป็นวันละกว่า 10 บาทต่อลิตร หรือจากวันละประมาณ 400 ล้านบาท เป็น 800 กว่าล้านบาททันที และยิ่งแย่ไปกว่านั้น สถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงผันผวน และยิ่งเข้าสู่ฤดูหนาวต่างประเทศจะยิ่งส่งผลให้ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ และราคาน้ำมันจะยิ่งมีราคาสูงขึ้นไปอีก

ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 28 ส.ค. 2565 ติดลบอยู่ที่ 119,764 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 78,301 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 41,463 ล้านบาท ส่วนกระแสเงินสดที่ฝากในธนาคารเหลืออยู่ที่ 2,047 ล้านบาท

ติดต่อโฆษณา!