12 ตุลาคม 2565
1,981

GPSC จับมือภาครัฐ ชุมชน และคู่ค้า ร่วมปลูกป่าเขาห้วยมะหาด จ.ระยอง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนมุ่งสู่ Net Zero

Highlight

GPSC จับมือหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน คู่ค้า และพนักงานจิตอาสาของกลุ่ม GPSC ร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบการปลูกเสริมพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแปลงที่ 3 จำนวน 7 ไร่ โดยการนำพันธุ์ไม้จำนวน 15 ชนิด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืช พร้อมสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม ภายใต้ “โครงการปลูกป่าเขาห้วยมะหาดและบำรุงรักษา ปีที่ 9” ก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero Emissions ขององค์กรภายในปี 2060


การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์นับเป็นเป้าหมายหลักที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ แต่การบรรลุเป้าหมาย Net Zero นั้น เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน หนึ่งในวิธีที่ทุกคนช่วยกันทำได้ง่ายๆ ก็คือ “การปลูกต้นไม้” ทาง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน คู่ค้า และพนักงานจิตอาสาของ กลุ่มGPSC กว่า 100 คน ร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์พืช พร้อมสร้างความสมดุลแก่ระบบนิเวศใกล้แหล่งชุมชนและแหล่งอุตสาหกรรม ภายใต้ “โครงการปลูกป่าเขาห้วยมะหาดและบำรุงรักษา ปีที่ 9” ก้าวสู่เป้าหมาย Net Zero ขององค์กรในปี 2060

คุณรสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการนี้ที่เราตั้งเป้าหมายเป็น Net Zero ในปี 2060 ได้บรรลุผล จริงๆ เราทำหลายกิจกรรมด้วยกัน กิจกรรมการปลูกป่าก็เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เราปลูกพืชทั้งหมด 15 สายพันธุ์ ที่เป็นพืชที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดี และเราก็ยังทำให้ Carbon Intensity ดีขึ้นด้วย ด้วยการที่เราจะผลิตไฟฟ้าจาก Renewable มากกว่า 50% ซึ่งทางกลุ่ม GPSC เราก็คิดว่าการปลูกป่าสามารถที่จะช่วยทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อม แล้วก็ช่วยลดคาร์บอนให้กับโลกด้วย เพราะว่าป่าพื้นแห่งนี้เป็นป่าของเรา อยู่ในพื้นที่มาบตาพุด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ GPSC ได้มีโรงงานผลิตไฟฟ้าอยู่

สำหรับแผนการดำเนินโครงการ จะเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบการปลูกเสริมพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแปลงที่ 3 จำนวน 7 ไร่ โดยการนำพันธุ์ไม้จำนวน 15 ชนิด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของพันธุ์พืช ได้แก่ พันธุ์ไม้ป่า จำนวน 13 ชนิด มีคุณสมบัติในการดูดซับคาร์บอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำนวน 900 ต้น และพืชสมุนไพร 2 ชนิด จำนวน 100 ต้น รวมทั้งหมด 1,000 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสมรวมแปลงที่ 1 และแปลงที่ 2 ที่ได้ปลูกก่อนหน้านี้ รวมกับแปลงที่ 3 ดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน ได้ทั้งสิ้นประมาณ 524 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากจะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างรายได้ให้ชุมชนรอบพื้นที่ป่า ด้วยการปลูกพืชสมุนไพรที่นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน                        

คุณปัณณวิชญ์ เพียนภักตร์ พนักงานจิตอาสา บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผมว่าเป็นอะไรที่เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่จะช่วยกัน เพื่อที่จะทำให้โลกมีความสดใส ลดคาร์บอนไดออกไซด์ แล้วก็เป็นสิ่งที่จะน่ารณรงค์ให้ทุกคนช่วยกันปลูกป่าให้ทั่วประเทศเลย

ความร่วมมือในครั้งนี้นอกจากจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ชุมชน และพนักงานจิตอาสาของ GPSC แล้ว ก็ยังได้รับความร่วมมือจากบริษัทคู่ค้ากับทาง GPSC มาช่วยกันปลูกป่า สร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นป่าแห่งนี้อีกด้วย

พนักงานจิตอาสา บริษัท ฮิตาชิ เอนเนอร์ยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมนี้ก็ได้ข่าวว่า GPSC ได้ดำเนินการปลูกป่าที่ห้วยมะหาดเป็นปีที่ 9 แล้ว แล้วเราก็รู้สึกสนใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับทาง GPSC ที่จะช่วยกันรักษ์โลกให้มากขึ้น ก็คือด้วยการปลูกป่า โดยการลดคาร์บอนได้ออกไซด์ ป่าจะช่วยเราเพิ่มออกซิเจนให้กับโลก เป็นจุดเล็กๆ ส่วนหนึ่ง ที่เป็นจุดเริ่มต้น

นับเป็นการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ โดยการสนับสนุนให้ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชพื้นเมืองทางชีวภาพทั้งพืชและสัตว์ป่า และยังเป็นแหล่งพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ การดูแลสิ่งแวดล้อมจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ติดต่อโฆษณา!