29 พฤศจิกายน 2565
2,196

GPSC–INSEE Ecocycle ศึกษาตั้งโรงไฟฟ้า RDF และโรงงานรีไซเคิลแผงโซลาร์ฯ-แบตเตอรี่ ตอบโจทย์ไทยใช้พลังงานสะอาด มุ่งขับเคลื่อน Net Zero

ประเทศไทยมีเป้าหมายการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานสะอาดในทุกภาคส่วนตามนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะการส่งเสริมพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์เฉลี่ยจะมีอายุการใช้งาน 25 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการขยะจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงแบตเตอรี่ นำขยะที่มีค่าสู่กระบวนการรีไซเคิลและผลิตเป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จึงเกิดการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. กับ บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย (RDF) และโครงการรีไซเคิลขยะประเภทแผงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมทั้งแบตเตอรี่ โดยมีระยะเวลาการศึกษา 3 ปี ตามหลัก Circular Economy พัฒนาพลังงานไทยอย่างยั่งยืน สู่ Net Zero ของประเทศในปี 2065

20221129-b-01.jpg

ดร. รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจ บริษัท  โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เราจะร่วมมือกันศึกษาใน 2 เรื่อง เรื่องแรกเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าขยะ RDF เพื่อที่จะต่อยอดแล้วก็ขยายการลงทุน เรื่องที่สองจะเป็นการรีไซเคิล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากเนื่องจากว่าเราตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับธุรกิจ Renewable Power ไม่ว่าจะเป็น Solar PV หรือ Battery เนื่องจากว่าเราผลิตมาใช้ประโยชน์ เราก็จำเป็นต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เราผลิตและเราใช้ ดังนั้นโครงการรีไซเคิลของเสียที่ไม่ใช้งานแล้วเหล่านี้ก็เป็นโครงการที่เราให้ความสำคัญเพื่อต่อยอดให้ครบทั้ง Supply chain โครงการนี้จึงได้เกิดขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับ GPSC มาก และก็เป็นสิ่งที่เรามีความคาดหวังว่าเราจะทำเพื่อสังคม เพื่อธุรกิจ แล้วก็ต่อยอดร่วมกัน ในอนาคตเรามุ่งหวังที่จะดำเนินการขยายธุรกิจที่มากขึ้น ต่อยอดขึ้นไป ไม่เท่านั้นเราทั้งคู่ก็มีความคิดเดียวกันที่จะตอบโจทย์การมุ่งสู่ Net Zero ด้วยกัน ด้วยเป้าหมายที่เราตั้งมั่นไว้ว่า เราจะไปสู่ Net Zero ของ GPSC ในปี 2060


20221129-b-02.jpg

เราทำธุรกิจด้านการจัดการของเสียมาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ผ่านมากระบวนการการทำงานของเราก็คือจะนำของเสียจากทางภาคอุตสาหกรรม และก็ขยะชุมชนมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ทดแทนการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ลูกค้าและพันธมิตรของเราก็มีความมุ่งมั่นที่จะ Move up Waste Hierarchy ก็คือการที่จะพยายามนำของเสียกลับมาใช้เป็นประโยชน์ให้ได้มากขึ้น ซึ่งทาง อินทรี อีโคไซเคิล ก็ได้เล็งเห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ที่ทางอินทรี อีโคไซเคิล สามารถทำร่วมกับลูกค้า และก็กลุ่มพันธมิตรนี้ได้ ทางเราก็จะเข้ามาร่วมศึกษาความเป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทรัพยากร บุคลากร เรื่องของข้อมูล การศึกษาด้านเทคโนโลยี เพื่อที่จะมาศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจสองอย่างที่มีการเซ็นความร่วมมือในวันนี้ร่วมกัน เพื่อที่ในอนาคตอาจจะก้าวไปสู่ความร่วมมือด้านธุรกิจกับทาง GPSC คุณสุจินตนา วีระรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี อีโคไซเคิล จำกัด กล่าว


20221129-b-03.jpg

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในแผนการศึกษา ทั้งสององค์กร จึงได้นำบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญระบบการบริหารจัดการขยะมาร่วมดำเนินการโดย GPSC มีความพร้อมในการจัดทำระบบและเทคนิคการรีไซเคิล มีการใช้เทคโนโลยีในการนำโลหะมีค่าจากซากแผงเซลล์แสงอาทิตย์และแบตเตอรี่กลับมาใช้ใหม่ รวมถึงขยะที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิง เพื่อลดปัญหาด้านมลพิษและดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามกลยุทธ์องค์กรในการมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2060

นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญเพื่อสร้าง Ecosystem และต่อยอด Supply Chain ในการบริหารจัดการด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ให้สอดรับกับทิศทางของโลกที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อนในทุกกระบวนการผลิตที่ต้องมีมาตรฐานและความปลอดภัย และสอดรับกับบริบทของการพัฒนาประเทศด้านพลังงานสะอาดของไทย เพื่อสร้างเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

 

ติดต่อโฆษณา!