16 ธันวาคม 2565
3,043

การนิคมฯ ตั้งเป้า 2 ปีดันไทยขึ้น Hub ด้าน EV อาเซียน

การนิคมฯ ตั้งเป้า 2 ปีดันไทยขึ้น Hub ด้าน EV อาเซียน
Highlight

หลายประเทศกำลังประกาศการเป็นผู้นำในผลิตรถไฟฟ้า EV ในภูมิภาค ในขณะที่ไทยมั่นใจเป็นผู้นำการผลิตรถ EV ในภูมิภาคในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดดึงดูดผู้ผลิตค่ายรถจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และ ยุโรป มาลงทุนที่ไทยได้ โดยเน้นจุดแข็งด้าน BCG การดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และการรักษ์โลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็น เทรนด์การลงทุนที่ยั่งยืนกว่า รัฐบาลเชื่อว่า มาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ ของไทยอยู่ในระดับที่แข่งขันได้



นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มั่นใจประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นศูนย์กลางการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า

“แม้ที่ผ่านมาประเทศจะต้องพบกับวิกฤตเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้ง แต่ประเทศไทยก็ยังคงเนื้อหอม และน่าสนใจในสายตาของนักลงทุน เห็นได้จากสื่อต่างๆ ที่นำเสนอข่าวบริษัทยักษ์ใหญ่ของต่างประเทศหลายเจ้าเดินหน้าเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่ม EV ที่ไม่ว่าจะจากประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ต่างเห็นว่าไทยมีศักยภาพพอที่จะเป็น Hub ด้าน EV ได้ในอีก 2 ปีข้างหน้า” นายวีริศ กล่าว

ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า อยากให้มองว่าวันนี้ทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศแล้ว หลังจากต้องปิดประเทศไปกว่า 2 ปี ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะต้องเติบโตแล้ว วันนี้ประเทศไทยเป็น 1 ในกลุ่มอาเซียนที่นักลงทุนให้ความสนใจมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของการลด แลก แจก แถม แต่เป็นเรื่องของการกำกับให้ดี เพราะถ้าเราเน้นดึงเฉพาะเงินทุน แน่นอนว่าเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดขึ้นได้ ประเทศไทยในขณะนี้จึงเน้นไปที่เรื่องของ BCG การดูแลสิ่งแวดล้อม ชุมชน และการรักษ์โลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนกว่า

การก้าวสู่ปีที่ 51 ของ กนอ.เราจะใช้ INSPIRE แรงบันดาลใจ เพื่อให้หัวและใจนำพาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่สากล ดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุน และนอกเหนือจากการร่วมลงทุนกับเอกชนในบริษัทจัดการด้านพลังงานแล้ว เรายังมีแผนจะทำธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน Sale Agency และการทำ IEAT Academy ด้วย

“วันนี้ไม่อยากให้ดูแค่เพียงเรื่องของเม็ดเงินที่จะเข้าสู่พื้นที่ แต่เราจะเน้นเรื่องของการปรับกฎระเบียบต่างๆ ไม่ให้นักลงทุนที่จะเข้ามานั้นทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย เพื่อสานต่อนโยบายภาครัฐเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลชุมชน และลดคาร์บอน”
นายวีริศ กล่าว

ก่อนหน้านี้ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายโครงการมีแผนจะดึงซัพพลายเออร์จากต่างประเทศมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมอีกในอนาคตอันใกล้ โดยบีโอไอรายงานว่าในปัจจุบันมีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว 35 โครงการ จาก 26 บริษัท มูลค่ารวม 15,410.2 ล้านบาท (ไม่รวมค่าที่ดินและเงินทุนหมุนเวียน) ตัวอย่างชิ้นส่วนสำคัญ เช่น แบตเตอรี่, Traction Motor, BMS, DCU, Inverter, Onboard Charger, DC/DC Converter, High Voltage Harness, ระบบระบายความร้อนของแบตเตอรี่ และอุปกรณ์สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น

รวมถึงบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมผลิตชิ้นส่วนสำคัญ นอกจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบางรายที่มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเอง เช่น Delta, Draxlmaier, Elite Group, Jatco, Lumen, Mine Mobility, MCCT, Nuovo Plus, TESM, Valeo เป็นต้น

สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่างมีความพร้อมในการลงทุนและมีความมั่นใจที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์และนโยบายการสนับสนุนการใช้รถอีวีของประเทศเพื่อนบ้าน และมีแผนออกมาตรการสนับสนุนส่งเสริมการใช้รถอีวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเร่งพลิกฟื้นภาคเศรษฐกิจทั้งระบบ

ให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถอีวีของภูมิภาคอาเซียนให้ได้ รวมทั้งจะขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานรถอีวีอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐบาล โดยบอร์ดอีวีได้ตั้งเป้าให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทรวมกว่า 1.05 ล้านคันภายในปี 2568

ขณะที่การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ได้มีการอนุมัติงบประมาณ 2,923.397 ล้านบาท ดำเนินมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 18,000 – 150, 000 บาท/คัน แบ่งเป็น

  • รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมงแต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง จำนวนเงินอุดหนุน 70,000 บาท/คัน
  • รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ที่มีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน
  • รถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท เฉพาะรถยนต์กระบะที่ผลิตในประเทศและมีขนาดความจุของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป จำนวนเงินอุดหนุน 150,000 บาท/คัน
  • รถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 150,000 บาท จำนวนเงินอุดหนุน 18,000 บาท/คัน

โดยผู้ขอรับสิทธิเพื่อขอรับเงินอุดหนุนตามมาตรการ จะต้องเป็นบุคคลตามประกาศกรมสรรพสามิตกำหนด เช่น ผู้ประกอบอุตสาหกรรมที่มีโรงงานอุตสาหกรรม ผู้นำเข้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ เป็นต้น โดยข้อมูลจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผู้ได้รับสิทธิที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าฯ แบ่งเป็นรถยนต์ จำนวน 18,100 คัน และรถจักรยานยนต์ จำนวน 8,800 คัน 

ทั้งนี้รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย เพื่อไม่ให้ไทยสูญเสียโอกาส และความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ และยังเป็นการเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ติดต่อโฆษณา!