23 ธันวาคม 2565
5,538

OR ชี้แจงทำธุรกิจเมียนมา เคารพด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ย้ำชะลอลงทุนคลังน้ำมันแล้ว

OR ชี้แจงทำธุรกิจเมียนมา เคารพด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด ย้ำชะลอลงทุนคลังน้ำมันแล้ว

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ตามที่มีข่าวว่า มีกองทุนได้ประกาศถอนการลงทุนในบริษัทและบริษัทในกลุ่ม เนื่องจากประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ในเมียนมานั้น

ทั้งนี้ ปตท. ขอเรียนชี้แจงว่า ในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเอง และลงทุนผ่านบริษัทในกลุ่ม ปตท. ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการกำกับดูแล โดยมีการบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชน ครอบคลุมสายโซ่อุปทานของบริษัท ตั้งแต่การตรวจสอบอย่างรอบด้าน การบริหารจัดการ ตลอดจนส่งเสริม ปกป้อง และให้ความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ทั้งนี้ ในการพิจารณาการลงทุนของ ปตท. นั้นได้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบที่มีการบังคับใช้ รวมถึงมีการตรวจสอบและวิเคราะห์สถานะของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว

อีกทั้ง ปตท. ยึดถือการเคารพสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติขั้นพื้นฐาน และมีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาภายหลังการรัฐประหารปี 2564 โดยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตอย่างสันติและเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมาย แนวปฏิบัติสากลในทุกพื้นที่ปฏิบัติการ รวมถึงการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อปรับปรุงกระบวนการในการตัดสินใจและการบริหารจัดการ

เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนดังกล่าวเป็นการส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึงแหล่งพลังงานได้อย่างเท่าเทียม ปตท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในเมียนมาจะคลี่คลายและกลับคืนสู่สภาวะปกติในเร็ววัน

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) หรือ ‘โออาร์’ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เช่นเดียวกันว่า ว่า OR เข้าร่วมลงทุนในเมียนมา ผ่านบริษัทร่วมทุน Brighter Energy (BE) ในปี 2562 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพื่อดำเนินกิจการในเมียนมา

สำหรับการลงทุนดังกล่าวมุ่งสร้างและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวเมียนมา ระหว่างปี 2564 ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในเมียนมา รวมทั้งมีมาตรการคว่ำบาตร (Sanctions) จากหลายประเทศ OR ได้แสดงเจตนารมณ์ในฐานะผู้ถือหุ้นข้างน้อยให้ BE หยุดการดำเนินการก่อสร้างคลัง โดย OR จะไม่ชำระเงินทุนเพิ่มเติม และ BE จะต้องไม่ชำระเงินให้แก่บุคคลใดๆ ที่อยู่ใน Sanctions List โดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ OR ได้ยึดถือและดำเนินการตามแนวทางและนโยบายอย่างเคร่งครัดที่จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากการดำเนินกิจการของ BE ในเมียนมา อีกทั้งได้ยึดมั่นในการปฏิบัติตามแนวนโยบายการบริหารจัดการด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล โดยปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อกำหนด รวมถึงปฏิบัติตามหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

ทั้งนี้จากรายงานข่าวว่าคณะกรรมการบริหารกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของนอร์เวย์ ซึ่งมีมูลค่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัดสินใจถอนการลงทุนบริษัท Cognyte Software Ltd ซึ่งเป็นผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยและการวิเคราะห์ในอิสราเอล, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ของประเทศไทย โดยอ้างถึงความเสี่ยงที่กองทุนยอมรับไม่ได้เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน


บล.เอเชีย พลัส แนะทยอยลงทุนทั้ง PTT และ OR หลังราคาย่อลงมา

ด้าน บล.เอเซีย พลัส หรือ ASPS ระบุว่า จากประเด็นความกังวลเกี่ยวกับ ธนาคารแห่งประเทศนอร์เวย์ (Norge Bank) ได้ประกาศขายหุ้นใน OR และ PTT เนื่องจากเข้าข่ายสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมาร์และอาจเป็นเหตุให้กองทุนอื่นๆ ขายหุ้น OR และ PTT ตามออกมาในภายหลัง วานนี้ ทั้ง OR และ PTT ได้ประกาศแจ้งผ่านตลาดฯ ยืนยันไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการสนับสนุนความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

โดยบริษัทฯ ยืนยันไม่มีการชําระเงินทุนเพิ่มเติมใดๆ ซึ่งจะเป็นผลต่อการดําเนินกิจการในเมียนมาร์ และบุคคลที่ติดใน sanctions list โดยเด็ดขาด รวมถึงยังปฏิบัติตามหลักความยั่งยืน (ESG) ซึ่งให้ความสําคัญในด้านการเคารพสิทธิมนุษยชน์อย่างเคร่งครัด

ซึ่งที่ผ่านมาในปี 2562 OR ได้มีการเข้าไปลงทุนในเมียนมาผ่านการถือหุ้น 35% ในบริษัท Brighter Energy (BE) เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมโดยอยู่ระหว่างดําเนินการก่อสร้างคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2564 OR ได้แสดงเจตนารม ให้ BE หยุดการก่อสร้างคลังดังกล่าว ปัจจุบัน BE จึงยังไม่มีการเปิดดําเนินการใดๆ 

ส่วน PTT ได้รับผลกระทบในแง่ของการถือหุ้น 75% ใน OR และ 63.8% ใน PTTEP ซึ่งได้มีการลงทุนกับ เมียนมาร์ ออยล์ แอนด์ แก๊ส (MOGE) ในโครงการสํารวจและผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งประเทศเมียนมา จํานวน 3 แหล่ง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามสัดส่วนการถือหุ้นแยกตามประเภทสัญชาติของ OR พบว่าสัดส่วนหลักในการถือครอง OR มาจากสัญชาติไทยสูงถึง 96.6% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด และมีผู้ถือหุ้นต่างชาติที่ถือครองโดยตรงมีสัดส่วนรวมกันอยู่เพียง 3.4%

โดยอันดับ 1 ของกลุ่มดังกล่าว ได้แก่ สัญชาติ British คิดเป็นสัดส่วน 2.1%ของจํานวนหุ้น OR ทั้งหมด (ซึ่งจากการสอบถามไปยังบริษัท พบว่า Norge Bank ถูกนับรวมอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย) รองลงมาได้แก่ Hong Kong และ Singaporean สัดส่วนราว 0.6% และ 0.5% ตามลําดับ

ทั้งนี้ ในช่วง 5 วันทําการที่ผ่านมา ราคาหุ้น OR และ PTT ได้ปรับตัวลงไปแล้วกว่า 5% และ 1.5% ตามลําดับ คาดสะท้อนความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการขายหุ้นของกลุ่มต่างชาติออกไปแล้วระดับหนึ่ง ซึ่งหากเกิดกรณีที่กลุ่มต่างชาติสัดส่วนที่เหลือขายหุ้น OR ออกมาทั้งหมดจริง คาดผลกระทบต่อราคาหุ้นจะมีค่อนข้างจํากัด ขณะที่ด้านปัจจัยพื้นฐานไม่ได้มีผลต่อประมาณการและมูลค่าพื้นฐานแต่อย่างใด 

โดยฝ่ายวิจัยคาดผลการดําเนินงานในช่วง Q4/65 OR จะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ช่วง high season ของการใช้น้ํามัน ทําให้คาดปริมาณขายจะปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงได้รับ sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกน้ํามัน สําหรับมาตรการลดหย่อนภาษีจากการเติมน้ํามัน (มาตรการช้อปดีมีคืนปี 2566) ที่สามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ.2566 ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยยังคง FV ณ สิ้นปี 66 ที่ของ OR ที่ 28.50 บาท/หุ้น และ PTT 46 บาท/หุ้น แนะนําทยอยสะสมลงทุนระยะยาว

ติดต่อโฆษณา!