12 กันยายน 2566
1,145

จากหนึ่งต้นกล้า สู่ป่าล้านที่สอง

ต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ๆ ช่วยเติมพลังความสดชื่นให้เราได้ แต่ผืนป่าไม่สามารถเกิดขึ้นได้ช่วงข้ามคืน การปลูกป่าต้องใช้เวลา บ่มเพาะต้นกล้า ใช้องค์ความรู้มากมาย ตั้งแต่การปรุงดิน การคัดเลือกกล้าพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ที่จะปลูก การดูแลให้ต้นกล้าอยู่รอดเติบโตเป็นป่าไม้ ผลิตออกซิเจนเป็นที่พึ่งพิงให้แก่สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ สร้างระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่ดี 

การปลูกป่าในล้านไร่แรกของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่รับอาสาปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในวโรกาสทรงครองราชเนื่องในปีที่ 50 ในข่วงปี พ.ศ. 2537 - 2545

ปตท. ปลูกป่าสำเร็จทั้งสิ้น 1,043,230 ไร่ ในพื้นที่ 419 แปลง ครอบคลุม 48 จังหวัดทั่วประเทศ สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้เฉลี่ย 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายเลยในการฟื้นฟูพลิกฟื้นผืนป่าที่เคยถูกทำลาย ให้กลับกลายเป็นพื้นที่สีเขียวเป็นปอดให้กับประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ป่าจะอยู่อย่างยั่งยืนไม่ได้ หากขาดหัวใจสำคัญด้านการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าต่อเนื่องจากชาวบ้านรอบพื้นที่แปลงปลูกป่า หน่วยงานภาครัฐที่ช่วยเป็นหลักประกันว่า ป่าที่ปลูกนั้นจะอยู่รอด

และการปลูกป่า 1 ล้านไร่แรกนั้น ปตท. ได้ปลุกกระตุ้นให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมและตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เกิดเครือข่ายอนุรักษ์และรักษาป่า เครือข่ายราษฎรอาสาพิทักษ์ป่า รวมถึงเครือข่ายความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่ออนุรักษ์ ดิน น้ำ ป่า ที่ขยายผลต่อมา

ในปี 2566 ปตท. ได้ Kick-off กิจกรรมปลูกป่าล้านที่สอง ร่วมผนึกกำลังดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างต่อเนื่อง นำองค์กรก้าวเข้าสู่การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ให้ได้ภายในปี 2050

คุณอรรถพล ฤกษ์พิบูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม Kick-off ปตท. จุดพลังชีวิต พลิกผืนป่า 1 ต้นกล้า สู่ป่าล้านที่ 2 ณ แปลงปลูกป่า ปตท.ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังเพลิง ป่าม่วงค่อม และป่าลดนารายณ์ ตำบลมหาโพธิ อำเภอสระโบสถ์ จังหวัดลพบุรี พร้อมด้วยนายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมป่าไม้ นายวชิระ เกตุพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมทั้งผู้บริหารและพนักงาน ปตท. หน่วยงานภาครัฐ เครือข่าย ปตท. รวมถึงเครือข่ายชุมชน ในพื้นที่มากกว่า 450 คน ร่วมปลูกต้นไม้จำนวน 4,500 ต้น

แปลงปลูกป่าแห่งนี้ได้รับการจัดสรรพื้นที่จากกรมป่าไม้ จำนวน 413 ไร่ ในความรับผิดชอบของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี 

โดยในปีนี้ปตท. กำหนดเป้าหมายพื้นที่ปลูกป่า 86,273 ไร่ทั่วประเทศ ในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) ที่จะยกระดับการปลูกฟื้นฟูป่าให้มีมาตรฐานเป็นไปตามหลักวิชาการ 

และภายใน 7 ปีนี้หรือภายในปี 2573 ปตท. ตั้งเป้าหมายปลูกป่าให้ครบ 1 ล้านไร่ โดยความร่วมมือจากบริษัทในกลุ่ม ปตท.อีก 1 ล้านไร่ และเมื่อรวมกับพื้นที่แปลงปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ 1 ล้านไร่แรกคาดว่าพื้นที่แปลงปลูกป่าของกลุ่ม ปตท.ทั้งหมด 3 ล้านไร่  จะมีศักยภาพดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

ตลอดระยะเวลาของการบุกเบิกและลงมือทำ สะสมองค์ความรู้ จากประสบการณ์มากกว่า 25 ปีในการปลูกป่า การวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ปตท.ตัดตั้งสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศของ ปตท. และเผยแพร่องค์ความรู้ สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและชุมชน ยกระดับการให้ความรู้ทางวิชาการ ซึ่งประชาชน องค์กรต่าง ๆ สามารถศึกษาแนวทาง กลยุทธ์การปลูกป่าได้ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่สำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ 

1. ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ป่าชายเลนสิรินารถราชินี ป่าชายเลนที่ฟื้นฟูจากนากุ้งร้าง ขนาด 387 ไร่ อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2. ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่บริเวณสุขาภิบาล2 ขนาดพื้นที่ 12 ไร่ เป็นการออกแบบพื้นที่ป่าปลูกแบบผสมผสานจากเรือนยอด และเป็นแหล่งสะสมพันธุ์ไม้พื้นถิ่นต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ 

3. ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ตั้งอยู่ที่ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เนื้อที่ประมาณ 350 ไร่ โดยศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ ได้รวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมฟื้นฟูป่ารูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการฟื้นฟูป่าแบบบูรณาการ ในรูปแบบวนเกษตร ที่ปลูกไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชสวน รวมถึงการทำนาแบบผสมผสาน 

โดยภารกิจของปตท. ไม่เพียงแต่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ ยังคงปฏิบัติภารกิจเป็นองค์กรที่ดีของสังคม ดูแลชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ให้เติบโตเคียงข้างกันไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

45 ปี ปตท. จุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต

 

ติดต่อโฆษณา!