13 พฤศจิกายน 2566
1,306
LNG Terminal ศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่เมืองระยอง
พลังงานคือกลุ่มพลังในการเริ่มต้น ทั้งการดำเนินชีวิต การดำเนินธุรกิจ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แหล่งพลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีพร้อมใช้ และต้องเติมเต็มอยู่เสมอ
แหล่งพลังงานของประเทศ อาทิ พลังงานน้ำจากเขื่อน หรือแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งน้ำมันที่มีอยู่ในอ่าวไทยและบนบก แหล่งพลังงานข้างต้นทั้งหมดนั้น ใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศ เรียกได้ว่า ยังมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในแต่ละวัน
แต่มั่นใจได้ว่า หากเกิดวิกฤตครั้งใหม่ ในวันที่ไทยจัดหาพลังงานจากต่างประเทศไม่ได้นั้น เรายังมีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ
เมื่อมี แต่ยังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องจัดหาเพิ่มเติม ทั้งการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อนำมากลั่นในประเทศ ทั้งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีการเจรจาซื้อขายจากประเทศเมียนมา และการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติจากพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย - มาเลเซีย ปัจจุบันเริ่มพูดถึงการหาข้อบรรลุของพื้นที่ทับซ้อน ไทย - กัมพูชา ร่วมกัน
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้พัฒนาแหล่งพลังงานแหล่งใหม่ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว นั่นคือ สถานีก๊าซธรรมชาติเหลว หรือสถานี LNG ขึ้นที่จังหวัดระยอง
ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานี LNG 2 แห่ง โดยแห่งแรก แล้วเสร็จในปี 2554 ปัจจุบันมีกำลังการแปรสภาพ LNG ที่ 11.5 ล้านตันต่อปี สถานี LNG แหล่งที่ 2 ก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการในปี 2565 มีกำลังการแปรสภาพ LNG ที่ 7.5 ล้านตัน
รวมสถานี LNG ทั้ง 2 แห่งของประเทศ มีกำลังการแปรสภาพ LNG ทั้งสิ้น 19 ล้านตัน ซึ่งเปรียบได้กับเป็นพลังงานสำรองให้กับประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งเลยทีเดียว
LNG คือก๊าซมีเทน ที่ถูกนำมาเปลี่ยนสถานะให้เป็นของเหลว โดยการลดอุณหภูมิลงที่ -160 องศาเซลเซียส ก๊าซจะเกิดการควบแน่น เปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว เพิ่มความสะดวกในการขนส่งไปยังพื้นที่ห่างไกลได้ เมื่อมีการรับก๊าซ LNG จากเรือขนส่งต่างประเทศ จะขนถ่าย LNG จากเรือสู่ถังเก็บ โดยกระบวนการนำ LNG ไปใช้ประโยชน์ ต้องเปลี่ยนสถานะจากของเหลวกลับเป็นก๊าซ โดยการเพิ่มอุณหภูมิด้วยน้ำทะเล เรียกกระบวรการนี้ว่า “Regasificatipn Process”
เมื่อ LNG กลับเป็นสถานะก๊าซ แล้วจึงกลับเข้าสู่ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งจ่ายให้ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติกลุ่มต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม และ NGV แต่ก็มีการขนส่งในรูปแบบของเหลว ด้วยรถขนส่งประเภท Semi-Trailer หรือ ISO Tank สู่ภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกัน
พลังงานทุกชนิดมีคุณค่า รวมถึงพลังงานความเย็นที่เหลือใช้ จากกระบวนการเปลี่ยนสถานะด้วยเช่นเดียวกัน
สถานี LNG มาบตาพุด มีการออกแบบการใช้ประโยชน์ในหลายๆ มิติ และที่น่าสนใจคือ ได้มีการนำมาพัฒนาการทดลองและวิจัยเทคโนโลยี การปลูกพืชเมืองหนาวและการปลูกพืชเมืองร้อน ณ ศูนย์เลิศพัฒนพฤกษ์ ตั้งอยู่ภายในสถานี LNG แห่งที่ 1
และที่สถานี LNG แห่งที่ 2 ได้มีการออกแบบอาคารสำนักงาน โดยนำพลังงานความเย็นใช้ในระบบปรับอากาศ ออกแบบพื้นที่จัดแสดงดอกไม้เมืองหนาวภายในอาคาร นอกจากการใช้ประโยชน์จากความเย็นเหลือทิ้งจาก LNG แล้ว อาคารยังได้ออกแบบให้มีระบบนิเวศน์ที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โดยอาคารนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา” จากสมเด็จพระขนิษฐาราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และอาคารนี้ได้รับรางวัล อาคารเขียวระดับ Platinum ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย จากสถาบันอาคารเขียวไทย
ภายในบริเวณมีศูนย์เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ป่า ได้แก่ ป่าพรุ ป่าเสม็ด ป่าชายหาด ในนาม “ศูนย์เลิศพนานุรักษ์” ที่คัดเลือกไม้พันธุ์พื้นที่
หากท่านมีโอกาสได้เที่ยวจังหวัดระยอง ขอเชิญเข้าเยี่ยมชม “อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา” เพื่อเรียนรู้การบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างเป็นเลิศ พร้อมชมพันธุ์ไม้เมืองหนาวที่งดงาม เสมือนอยู่ต่างประเทศเลยจริงๆ
เปิดให้ประชาชนเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทุกวัน เว้นวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
45 ปี ปตท. จุดพลังชีวิต ขับเคลื่อนอนาคต