11 กรกฎาคม 2567
320

GPSC - Doosan ร่วมศึกษาพัฒนา การใช้เชื้อเพลิงร่วมแอมโมเนียและเทคโนโลยี CCUS มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero


GPSC จับมือ Doosan ร่วมศึกษาพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงร่วมแอมโมเนีย เทคโนโลยี CCUS และโซลูชันพลังงานปลอดคาร์บอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ วางเป้าหมายร่วมศึกษา 3 ปี มุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศ สอดคล้องกลยุทธ์หลักในการพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต สู่แผนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี พ.ศ. 2603

20240711-b-01.jpg

การใช้พลังงานสะอาดเป็นหนึ่งทางเลือกที่หลายธุรกิจสนใจนำไปปรับใช้กับองค์กร เพราะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้น คือ การร่วมศึกษาพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงร่วมแอมโมเนีย เทคโนโลยี CCUS และโซลูชันพลังงานปลอดคาร์บอน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าประเภทต่างๆ ระหว่างบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. ร่วมกับ Doosan Enerbility จำกัด ลงนามความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนและศึกษาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับโรงไฟฟ้า ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สอดรับกับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของ GPSC ที่ร่วมขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้ได้ภายในปี 2603 มุ่งหน้าสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ และพัฒนาระบบพลังงานในประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก Mr. Lim Sang-jun ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี ร่วมเป็นประธานและสักขีพยานภายในพิธีลงนามครั้งสำคัญนี้ด้วย

 

คุณศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า MOU ครั้งนี้ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ GPSC ซึ่งเราได้ประกาศอยู่แล้วว่าเรามุ่งมั่นจะเข้าสู่ Net Zero ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2060 เป็นที่มาของการหาเทคโนโลยีที่จะเข้ามาสนับสนุน เทคโนโลยีที่เราศึกษาอยู่ตอนนี้ หลักๆ เลย อันที่หนึ่ง คือ เรื่องการที่เรานำเอาตัวแอมโมเนียมาเผาร่วมกับเชื้อเพลิงปัจจุบัน ซึ่งแอมโมเนียจะช่วยทำให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ภายใต้กำลังการผลิตเท่าเดิมส่วนที่สอง เราเรียกว่า เทคโนโลยี CCUS หรือ Carbon, Capture, Utilization & Storage ก็คือการที่เรามีการดักจับ และกักเก็บคาร์บอน รวมถึงการที่จะเอาคาร์บอนไดออกไซด์ไปผลิตเป็นสารเคมีอื่นๆ ได้ด้วย นอกจากนั้นอาจจะสามารถสร้างคุณค่าทางด้านของเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมได้จากเทคโนโลยีเหล่านี้ สอดคล้องกับเป้าหมายที่เราจะมุ่งสู่การเป็น Sustainability Power คือ เป็นโรงไฟฟ้าที่ยั่งยืน เราต้องเข้าสู่เรื่องของการลดเรื่องของปัญหา Climate Change ซึ่งอันนี้ก็สนับสนุนทิศทางที่ยั่งยืนของการดำเนินธุรกิจของเรา


20240711-b-02.jpg

สำหรับประเทศไทยแน่นอนต้องเป็นประโยชน์ เพราะประเทศไทยประกาศเอาไว้อยู่แล้วว่าจะเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2065 และนี่เป็นหนึ่งขั้นตอนที่เริ่มต้นในการเข้าสู่ Net Zero ของเราคุณศิริเมธ กล่าวเพิ่มเติม

 

การร่วมศึกษาเทคโนโลยีในครั้งนี้ได้บริษัท Doosan บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน และโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด อีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี ที่จะมาช่วยพัฒนาศักยภาพให้ GPSC มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสะอาดมากขึ้น และนำมาใช้พัฒนาโรงไฟฟ้าของ GPSC เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงทางพลังงานที่ยั่งยืน

 

Mr. Kim Jung Kwan รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท Doosan Enerbility จำกัด กล่าวว่า Doosan มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดในโลกในอุปกรณ์การเผาไหม้ร่วมของแอมโมเนีย เราเชื่อว่า Ammonia co-firing สามารถให้ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระดับเดียวกัน สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไม่ก่อปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ เชื่อว่าด้วยความสามารถของบริษัท Doosan Enerbility จำกัด และ GPSC ที่จะเกิดประโยชน์ร่วมกัน มีความร่วมมือในการนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

โดยความร่วมมือในการศึกษาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและแนวทางพลังงานปลอดคาร์บอนในครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และทำให้ GPSC ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน และสังคม ได้อย่างยั่งยืน


รับชมวิดีโอ : https://youtu.be/hF4-PdkEmpY?si=J8Y7kMbzBzlMmDy-

ติดต่อโฆษณา!