Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง...จุดพลังให้สินค้าชุมชน
เส้นทางแห่งความคิดสร้างสรรค์ตลอด 5 เดือนผ่านไปอย่างน่าประทับใจกับการประกวด Spark the Local 2024 by PTT ปั้นให้ปัง…จุดพลังให้สินค้าชุมชน ภายใต้ธีม “ปรับปรุง แปลงโฉม ปั้นแบรนด์” กับการเฟ้นหาคนรุ่นใหม่ในชุมชนได้โชว์ศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนา ต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน ประเภทอาหารแปรรูป จากผลงานส่งเข้าร่วมการประกวดกว่า 300 ผลงาน
และได้มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนเหลือ 5 ทีมสุดท้าย ที่ได้มาจัดแสดงผลิตภัณฑ์และนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการในงานร้านเด็ดแฟร์ 6 ณ สยามสแควร์ เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ในการแข่งขันรอบ Final ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการกูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสินค้าชุมชน เข้าร่วมคัดเลือกผลงาน หลายท่าน อาทิ
อาจารย์ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ Food Stylist ผู้ออกแบบแนวคิด “นำ Local สู่ เลอค่า” คุณตั้ม - นิพนธ์ พิลา เกษตรกรดีไซน์เนอร์ ผู้ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนพิลาฟาร์มสตูดิโอ คุณมยุรา ปรารถนาเปลี่ยน ผู้จัดการแผนกออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สถาบันอาหาร และ คุณซ้อบรีม - ศิริพร มัจฉิม ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดใน TikTok ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้าน และ คุณวรุตม์สุรางค์ ธรรมอารี ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ผลการการแข่งปรากฏว่า ทีม Samui Sigma นิสิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ ไปได้และรับเงินรางวัล 100,000 บาท สำหรับผลงานของทีม เป็นการเลือกเอาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมกะทิ จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาปรับปรุงเป็นไอศกรีมกะทิพรีเมียมแบบถ้วย ภายใต้ชื่อแบรนด์ “Creamui” ที่สะท้อนเอกลักษณ์ของเกาะสมุย หรือ อัญมณีอ่าวไทย
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 เป็นของทีม KOS นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รับเงินรางวัล 70,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ คอมบูชาจากใบขลู่ จากวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ควนเนียงสวนลุงจิม จังหวัดสงขลา
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ ทีม NAGOYASH นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น รับเงินรางวัล 50,000 บาท โดยได้เลือกพัฒนาผลิตภัณฑ์ “POP RICE ขนมข้าวพองอบกรอบ แบรนด์ นาโกย๊าช จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวอินทรีย์เป็นสุขนาโก จังหวัดกาฬสินธุ์
สำหรับรางวัลชมเชย มี 2 ทีม รับเงินรางวัลทีมละ 10,000 บาท ได้แก่ ทีม สาธุ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชาหน่อกะลาปรุงสำเร็จ แบรนด์ Koh Chá จากวิสาหกิจชุมชนชาวเกราะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
และ ทีม หมายจันทร์ นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ กัมมี่มะปี๊ด แบรนด์ CHAMY จาก วิสาหกิจชุมชนสภากาแฟฅนจันทบูร จังหวัดจันทบุรี (แบรนด์ Rabbit Chan)
ปตท. พร้อมเป็นแรงหนุนพลังของคนรุ่นใหม่ ที่จะช่วยขับเคลื่อนและเป็นพลังใหักับชุมชน เพื่อร่วมสร้างสังคมไทยที่แข็งแรงและยั่งยืนตลอดไป