17 มีนาคม 2564
37,791

บิลค่าไฟฟ้ารายเดือน บอกอะไรเราบ้าง ?

บิลค่าไฟฟ้ารายเดือน บอกอะไรเราบ้าง ?
Highlight

เข้าหน้าร้อนทีไร เรามักจะพบว่ายอดค่าไฟมักจะสูงผิดปกติ จริงๆ เป็นเพราะอากาศที่ร้อน ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ต้องใช้ระบบทำความเย็นต้องทำงานหนักขึ้น  เมื่อเราดูบิลค่าไฟ เราอาจสนใจแต่ยอดที่เราต้องจ่าย แต่บิลค่าไฟไม่ได้บอกแค่ค่าไฟที่ต้องชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ บอกไว้หลายอย่าง 

 เรามักจะพบว่าในหน้าร้อน ยอดค่าไฟมักจะสูงผิดปกติ ทำให้สงสัยว่า

▪️ อัตราค่าไฟฟ้าคิดยังไง 
▪️ บิลค่าไฟฟ้ารายเดือน บอกอะไรเราได้บ้าง? 
▪️ เจอค่าไฟแพงผิดปกติแจ้งที่ไหนได้บ้าง

อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย คิดยังไง?

อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย “คิดเแบบอัตราก้าวหน้า”  หรือยิ่งใช้ไฟฟ้ามาก ก็ยิ่งจ่ายแพงขึ้น ประกอบกับช่วงนี้เข้าสู่หน้าร้อน ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่ต้องใช้ระบบทำความเย็นต้องทำงานหนักขึ้น

ซึ่งรายละเอียดการคิดค่าไฟตามอัตราก้าวหน้า อ้างอิงจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) คือ
▪️ 35 หน่วยแรก เหมารวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 85.21 บาท   
▪️ 115 หน่วยต่อไป หน่วยละ 1.1236 บาท 
▪️ 250 หน่วยต่อไป หน่วยละ 2.1329 บาท 
▪️ ส่วนที่เกินกว่า 400 หน่วย หน่วยละ 2.4226บาท 

ถ้าบ้านไหนมีเครื่องใช้ไฟฟ้าเยอะ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้ใช้พลังงานสูงอย่าง แอร์ คอนดิชั่น , เครื่องฟอกอากาศ, เครื่องทำน้ำอุ่น , เครื่องซักผ้า และ เตารีด พอสมาชิกในบ้านกลับมาใช้เวลาอยู่ในบ้านมากขึ้นยิ่งทำให้ค่าไฟแพงยิ่งขึ้นนั่นเอง

โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ ก็คือ 

1. อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ และมีการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 

2. อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ และบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ แต่มีการใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยขึ้นไปต่อเดือน ติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป 

แล้วเราจะรู้ได้ยังไง ว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้าแบบไหน ? 

เราสามารถตรวจสอบประเภทอัตราค่าไฟฟ้าได้ในส่วนของข้อมูลผู้ใช้ จากตัวเลข 3 หลักแรกในช่องประเภท (Type) เช่น 
▪️ 1115 คือ บ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน 
▪️ 1125 คือ ผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 150 หน่วยต่อเดือน

ไม่เพียงเท่านี้ ...บิลค่าไฟไม่ได้บอกแค่ค่าไฟที่ต้องชำระในแต่ละเดือนเท่านั้น 
แต่ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ บอกไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น
▪️ ข้อมูลส่วนตัว 
▪️ ข้อมูลการไฟฟ้า 
▪️ ประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง 
เรามาดูกันว่ามีอะไรน่าสนใจบนบิลค่าไฟฟ้า 1 ใบ ที่เราได้รับทุกเดือนๆ 

บิลแสดง ค่าไฟฟ้า ของ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) หรือ MEA แบ่งได้เป็น 3 ส่วน ก็คือ

1. ข้อมูลทั่วไป
ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลของผู้ใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็น ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ รวมทั้งหมายเลขของผู้ใช้ไฟฟ้า วัน และเวลาอ่านหน่วยค่าไฟฟ้าประจำเดือน

2. ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บ
เป็นค่าไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า
ประกอบด้วย

▪️ ค่าพลังงานไฟฟ้า คือ ต้นทุน และค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน
▪️ ค่าบริการ คือ ต้นทุนในการอ่าน และจดหน่วย การจัดทำและส่งบิลค่าไฟฟ้า ระบบรับชำระค่าไฟฟ้า
▪️ ค่า Ft คือ คำนวณจากต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงจากค่าไฟฟ้าฐานคือ ค่าเชื้อเพลิงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ค่าซื้อเชื้อเพลิงจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมทั้งบริษัทลูกของ กฟผ.,ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP), การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ และค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐบาลที่คณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) กำหนด (ตัวอย่างนโยบายก็เช่น ค่า Adder, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า, การใช้น้ำมันปาล์มดิบมาผสมน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น) ทั้งนี้โดยปกติแล้วค่า Ft นี้จะมีการปรับทุก 4 เดือน
▪️ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 % เรียกเก็บตามที่กฎหมายกำหนด

3. ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า
ส่วนนี้จะประกอบด้วย เลขอ่านครั้งก่อน-หลัง จำนวนหน่วยที่ใช้ และประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง

มีข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับเรื่องค่าไฟฟ้า สามารถสอบถามไปยังการไฟฟ้าในพื้นที่ ดังนี้ 

▪️ กรุงเทพฯ และปริมณฑล แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เว็บไซต์ http://www.mea.or.th และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1130

▪️ จังหวัดอื่น ๆ แจ้งเรื่องผ่านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เว็บไซต์ https://complaint.pea.co.th  และ Call Center เบอร์โทรศัพท์ 1129

หลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ โดยจะพิจารณาจากข้อเท็จจริงประกอบกับประวัติการใช้ไฟฟ้าย้อนหลัง หากพบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากระบบของการไฟฟ้าฯ ก็จะจ่ายชดเชยให้ 

ติดต่อโฆษณา!