โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
HighLight
การที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปขึ้น-ลงอยู่ตลอดเวลานั้นมาจากหลายองค์ประกอบที่ทำให้ต้นทุนของทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายเปลี่ยนแปลงไปสำหรับโครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทย ประกอบไปด้วย ราคาเนื้อน้ำมัน มาตรการทางภาษี ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุน และค่าการตลาดของผู้ประกอบการ
ทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยต้องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลานะ? อาจเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าทำไมถึงได้ ขึ้นๆ ลงๆ กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องติดตามกันในชีวิตประจำวันไปแล้ว และแน่นอนว่า หากมีประกาศ “พรุ่งนี้ราคาน้ำมันจะขึ้น” เย็นนี้เราจะจัด เต็มถัง!! ใช่หรือไม่ ..วันนี้จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ โครงสร้างราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยประกอบด้วยอะไรบ้าง ?
ต้นทุนของราคาน้ำมันสำเร็จรูป ประกอบด้วย
1. ราคาเนื้อน้ำมัน
2. มาตรการภาษี
3. ระบบการเก็บเงินเข้ากองทุน
4. ค่าการตลาดของผู้ประกอบการ
ราคาเนื้อน้ำมัน
ตลาดน้ำมันสำเร็จรูปของโลกมี 3 แห่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
ราคาน้ำมันจะอ้างอิงตามราคาตลาดกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาตรฐานการดำเนินงานทุกประเภท
มาตรการทางภาษี
ไทยมีมาตรการภาษีและการจัดเก็บเงินเข้ากองทุน ได้แก่
ภาษีสรรพสามิต ภาษีที่คิดจากปริมาณน้ำมันเมื่อส่งออกจากโรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน เป็นรายได้ของภาครัฐ ส่วนหนึ่งอาจนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคม
ภาษีเทศบาล คือ ภาษีเรียกเก็บเพื่อบำรุงท้องถิ่น คิดเป็น 10% ของภาษีสรรพสามิต
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อไว้ช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อราคาเนื้อน้ำมันผันผวนสูง
ระบบการจัดเก็บเงืนเข้ากองทุน
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน คือกองทุนที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นทุนหมุนเวียน อุดหนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงาน มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นผู้กำกับควบคุม
ค่าการตลาดของผู้ประกอบการ
ค่าการตลาด คือผลตอบแทนที่ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 จะได้รับ แต่ไม่ใช่กำไร ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้แก่ การลงทุน ค่าจ้างบุคลากร ค่าสาธารณูปโภค นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด 7% อีกด้วย