ผลวิจัยฉีดวัคซีนเข้าใต้ชั้นผิวหนัง ประหยัด 1 ใน 5 ระดับภูมิคุ้มกันสู้ "เดลตา"ได้
Highlight
กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยงานวิจัย ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข้าชั้นผิวหนัง ภูมิคุ้มกันในเลือด-ในเซลล์ใกล้เคียงฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันสู้โควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าได้ ประหยัดปริมาณวัคซีนลง 1 ใน 5 อาการข้างเคียงเฉพาะจุดมีมากกว่า แต่อาการทางร่างกายน้อยกว่า และอยู่ระหว่างการติดตามผลอย่างต่อเนื่องและระยะที่ภูมิตก อย่างไรก็ตามเป็นทางเลือกในการประหยัดวัคซีนที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงได้เร็วขึ้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า กรมวิทย์ฯ ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผ่านบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ร่วมกัน โดยการฉีกวัคซีนเข้าใต้ชั้นผิวหนัง เพื่อดูประสิทธิภาพเปรียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า โดยทั่วไป วิธีการฉีดวัคซีนเข้าสู่ร่างกาย โดยมี 3 แบบ คือ
1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ จะฉีดเข้าไปตรงๆ 90 องศา ตัวอย่างวัคซีนที่ใช้วิธีนี้ เช่น วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน วัคซีนตับอักเสบบี วัคซีนพิษสุนัขบ้า
2. ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง แทงทะแยงผัวหนัง45 องศาเข้าถึงชั้นไขมัน เช่น คางทูมและหัดเยอรมัน วัคซีนไข้สมองอักเสบ และ
3. ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง 10-15 องศาเข้าไปประมาณ 1 มิลลิเมตร เช่น ป้องกันความรุนแรงของวัณโรค ( BCG ) วัคซีนพิษสุนัขบ้า ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ยากลำบากกว่า 2 วิธีแรก ผู้ฉีดต้องมีทักษะในการฉีดพอสมควร
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีการคิดเรื่องวิธีการฉีดวัคซีนเข้าในชั้นผิวหนัง เนื่องจากวิธีการนี้ใช้ปริมาณวัคซีนน้อยกว่าวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อแบบเดิมถึง 1 ใน 5 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มอ.ได้ศึกษาการทดสอบภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยจากการได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 โดยทำการศึกษาในกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม และกระตุ้นเข็ม 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนกา กับผู้รับวัคซีนอายุระหว่าง 18 – 60 ปี จำนวน 95 คน โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มแรกฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1 โดส (0.5 ml.)เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 30 คน
กลุ่มที่ 2 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส (0.1 ml.) ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ศึกษา 4-8 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 จำนวน 31 คนและ กลุ่ม 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส (0.1 ml.)ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง จำนวน 34 คน ศึกษา 8-12 สัปดาห์หลังฉีดเข็ม 2 โดยทำการศึกษาจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน (Antibody responses) และการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell responses)
ผลการศึกษา 14 วันหลังจากได้รับการกระตุ้นวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1 โดส เข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,652 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 ฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนกา 1/5 โดส ฉีดเข้าในชั้นผิวหนัง ระดับภูมิคุ้มกันเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,300.5 AU (Arbitrary Unit ) จากเดิมหลังฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันอยู่ที่ 128.7 AU (Arbitrary Unit )
นอกจากนี้ระดับภูมิคุ้มกันในการยับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของเชื้อไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์เดลตา การกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซนเนกาฉีดเข้าในผิวหนังสามารถยับยั้งได้ถึง 234.4 AU (Arbitrary Unit ) จากเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ยับยั้งได้ 16.3 AU (Arbitrary Unit ) ส่วนการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสโควิด 19 ซึ่งมีหน้าที่สู้กับไวรัสเมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้ว พบว่า ทั้งสามกลุ่มมีการทำงานของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม
สำหรับอาการข้างเคียง 7 วันหลังการได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 พบว่า การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังจะมีอาการแดง บวมและคัน มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนการฉีดเข้ากล้ามเนื้อจะมีอาการปวดเมื่อย ปวดศรีษะ อ่อนเพลียและหนาวสั่นมากกว่าการฉีดในผิวหนัง
ข้อดีของการฉีดวัคซีนเข้าในผิวหนังคือ มีคนที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ในอัตราส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ โดยที่ยังกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอๆกัน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนเพราะใช้วัคซีนปริมาณน้อยกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
นพ.นวมินทร์ ปิ่นปฐมรัฐ อาจารย์สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์และวิศวกรรมชีวการแพทย์คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ยังได้ศึกษาการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเซลล์ (T-cell response) ซึ่งเป็นการตอบสนองของทีเซลล์ต่อโปรตีนหนามแหลมของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 โดยเป็นภูมิฯที่เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์แล้วก็จะใช้T-cell ในการจัดการ ซึ่งผลการศึกษา เมื่อฉีดเข็มที่ 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้า วัดภูมิคุ้มกันหลัง14 วัน พบว่า กลุ่มที่ 1 วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ระดับภูมิคุ้มกันT-cell อยู่ที่ 52 เท่ากับกลุ่มที่ 2 ที่ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังหลังเข็ม 2 ที่4-8 สัปดาห์ และ3.ฉีดเข้าในชั้นผิวหนังหลังเข็ม 2 ที่ 8-12 สัปดาห์ อยู่ที่ 58
“การศึกษานี้ทำให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนโดสเต็มเข้ากล้ามเนื้อกับฉีดปริมาณ 1 ใน 5 เข้าในชั้นผิวหนัง ไม่แตกต่างกัน แล้วยังช่วยฆ่าเชื้อไวรัสที่เข้ามาในเซลล์ด้วย ส่วนอาการข้างเคียงในเรื่องบอง อาการทางผิวหนัง ปวด บวม แดงร้อนเกิดขึ้นมากกว่าฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่หายได้เองใน 7 วัน ทานยาก็หาย ไม่ต้องพบแพทย์ และรอยแดง ยังไม่มีคนไหนที่เป็นตุ่มหนองหรือเนื้อตายส่วนใหญ่เป็นรอยมดกัดผึ้งต่อย และหายเอง”นพ.นวมินทร์กล่าว
“นโยบายในขณะนี้ยังฉีดวิธีแบบเดิมคือเข้ากล้ามเนื้อ เพราะฉีดได้ง่าย ใช้เวลาเร็ว ยกเว้นในบางพื้นที่ที่ต้องการประหยัดวัคซีนและมีความพร้อมในการฉีด เนื่องจากการฉีดเข้าในชั้นผิวหนังจะต้องใช้ความชำนาญและค่อยๆฉีด จึงใช้เวลามากกว่า ยากกว่า โดยมีการนำร่องที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งสิ่งที่กังวลคืออาการอาการข้างเคียงเกิดที่บริเวณผิวหนังมากกว่าการฉีดแบบเดิม หรือว่าอาจมีแผลหรือตุ่มหนอง อาจเกิดอาการดราม่าผลข้างเคียงขึ้นมาได้ จึงยังไม่ได้สรุปให้เป็นการใช้ทั่วไป แต่หากวันหนึ่งต้องการเร่งให้มีการฉีดเข็ม 3 ครบเร็วขึ้น ต้องการประหยัดวัคซีน และมีข้อมูลวิชาการรองรับมากขึ้น ก็อาจจะนำไปเป็นทางเลือกทางนโยบาย” นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า
อย่างไรก็ตาม การฉีดวิธีเข้าในชั้นผิวหนังระดับภูมิฯจะคงอยู่ระยะเวลานานเท่าไหร่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า งานวิจัยยังไม่ได้ตอบ เพราะต้องอาศัยเวลา ซึ่งจะมีการติดตามดูต่อเนื่องทั้ง 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน เพื่อดูว่าการฉีดที่แตกต่างกันภูมิคุ้มกันจะอยู่ได้นานเหมือนกันหรือไม่
ที่มา : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กรุงเทพธุรกิจ