รู้จัก “Long Covid” อาการที่ตามมาหลังหายป่วยจากโควิด-19 “มันไม่ได้อยู่กับคุณแค่ช่วงสั้นๆ”
Highlight :
ภาวะของคนที่หายป่วยจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เราเรียกอาการนี้ว่า “ลองโควิด (Long Covid ) หรือ Post Covid-19 Syndrome”เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
หากดูยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 25 กันยายน 2564 ที่ผ่านมามีคนไทยติดเชื้อสะสมสูงถึง 1,529,135 ราย และจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละไม่ตำกว่า 10,000 ต่อเนื่องมาหลายเดือน นับจาก เมษายน ที่ผ่านมา ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วกว่า 1,381,000 ราย ผู้คนนับล้านเหล่านี้กำลังมีอาการ “ลอง โควิด” หลงเหลืออยู่หรือไม่ แล้วเราดูแลตัวเอง หรือจะป้องกันได้อย่างไร?
วันนี้ “ทันข่าว Today” นำความรู้เรื่อง “ลอง โควิด” จากบทความ อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และบทความจาก รพ.รามคำแหง มาฝากทุกท่าน เพื่อการดูแลตนเองอย่างดีที่สุดจากวิกฤตโควิดครั้งนี้
Long COVID คืออะไร?
ลองโควิด (Long COVID) หรือ Post Covid-19 Syndrome คือ ภาวะของคนที่หายจากโควิด-19 แล้วแต่ยังต้องเผชิญกับอาการที่หลงเหลืออยู่ เชื้อโควิดหายจากร่างกายไปแล้ว แต่บางอาการกลับไม่หายไปด้วย
ในการเรียกชื่อภาวะที่พบผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีอยู่หลากหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น Long COVID-19 (ลองโควิด), Post-COVID condition, Long-haul COVID, post-acute COVID-19, post-COVID-19 syndrome หรือ chronic COVID มีลักษณะคือมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อ
“จากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด”
อาการลองโควิดจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละคน เป็นอาการที่ไม่มีลักษณะตายตัว สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ตั้งแต่ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร หัวใจและหลอดเลือด ทำให้ผู้ที่หายป่วยบางรายยังไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนเดิม ซึ่งอาการลองโควิดมีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30-50% จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยรุนแรง
บีบีซี อ้างข้อมูลของสำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติของอังกฤษ (National Health Service: NHS) รายงานว่า Long Covid เป็นอาการเรื้อรังที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานกว่า 12 สัปดาห์ มักพบในผู้ป่วยอายุระหว่าง 35-49 ปี และอายุระหว่าง 50-69 ปี ร้อยละ 20 ผู้ป่วยจะเข้าข่ายนี้ หลังจากรับเชื้อไปแล้ว 5 สัปดาห์
สาเหตุที่เกิด Long COVID
ภาวะลองโควิดยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดแต่สามารถทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายและจิตใจของผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ได้ จึงแนะนำให้หมั่นสังเกตและประเมินร่างกายตัวเองอยู่เสมอหลังจากหายป่วย หากพบอาการผิดปกติควรไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อตรวจประเมินสภาพร่างกาย รับการรักษาและวางแผน การฟื้นฟูร่างกายที่เหมาะสม เนื่องจากอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นระยะยาวและส่งผลกระทบต่อชีวิต ประจำวัน และหากปล่อยไว้นานก็อาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่หายจากโควิด-19 นอกจากการหมั่นสังเกตความผิดปกติแล้ว การตรวจร่างกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะจะช่วยให้รู้ทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้อย่างเหมาะสม
กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นภาวะ Long COVID
ผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และมีภาวะปอดอักเสบรุนแรง ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วน เพศหญิงมีความเสี่ยงกว่าเพศชาย
อาการที่พบบ่อยหลังการติดเชื้อโควิด-19
เหนื่อยง่าย หายใจไม่อิ่ม อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว ปวดตามข้อ กล้ามเนื้อไม่มีแรง ไอเรื้อรัง การรับรสและได้กลิ่นผิดปกติ รู้สึกเหมือนมีไข้ ปวดศีรษะ มึนศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ มีภาวะวิตกกังวล ซึมเศร้า เครียด ใจสั่น แน่นหน้าอก ท้องเสีย ท้องอืด
ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) เมื่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ได้อยู่กับคุณแค่สั้น ๆ
หากคุณเคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนหายแล้ว ให้คุณลองสังเกตตัวเองดูอีกทีว่าอาการที่เคยมีขณะที่ติดเชื้อ อย่างอาการเหนื่อยเพลียนั้นยังมีหลงเหลืออยู่หรือไม่? ถ้าคำตอบคือ “ยังมีอยู่” มันมีความเป็นไปได้ว่า คุณกำลังตกอยู่ในภาวะ Long COVID (ลองโควิด)
ในการเรียกชื่อภาวะที่พบผลกระทบระยะยาวของการติดเชื้อโควิด-19 นั้นมีอยู่หลากหลายชื่อไม่ว่าจะเป็น Long COVID-19 (ลองโควิด), Post-COVID condition, Long-haul COVID, post-acute COVID-19, post-COVID-19 syndrome หรือ chronic COVID มีลักษณะคือมีอาการผิดปกติยาวนานกว่า 4 สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ตามปกติแล้วเชื้อโควิด-19 นั้นมักจะหายไปในไม่กี่สัปดาห์หลังการติดเชื้อและจากรายงานการวิจัยหลายฉบับมีการระบุไว้ว่า 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จะมีอาการ อ่อนเพลีย ปวดหัว ขาดสมาธิ ผมร่วง และหอบเหนื่อยมากที่สุด
แล้วภาวะ Long COVID นี้มีกี่ประเภท สังเกตอาการได้อย่างไร ?
ภาวะ Long COVID ถูกแบ่งเป็นทั้งหมด 3 ประเภท ซึ่งแบ่งแยกตามลักษณะอาการดังนี้
1. ภาวะที่คนไข้มีอาการใหม่หรืออาการเดิมไม่หายไป(New or ongoing symptoms)
คือการที่คนไข้โรคโควิด-19 นั้นมีอาการยาวนานต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานานหลายเดือนหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นครั้งแรก มักพบในคนไข้อาการรุนแรงตั้งแต่ต้น และทวีคูณความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้สมาธิจดจ่อมาก ๆ โดยมีอาการ เช่น
- เป็นไข้ปวดหัว วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม
- หายใจเหนื่อยหายใจไม่อิ่ม ไอ แน่นหน้าอก อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
- ปวดท้องท้องเสีย รับประทานอาหารไม่ลง
- ปวดหูหรือมีเสียงในหู
- ใจสั่นขาดสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก หัวตื้อ นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน
- มีอาการชาปวดกล้ามเนื้อและข้อ
- ไม่ได้กลิ่นหรือรับรสได้ไม่ดี
- ผื่นตามตัว
- รอบประจำเดือนมาผิดปกติ
2. ภาวะที่คนไข้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 มีความผิดปกติในหลายอวัยวะ (multiorgan effects)
คือการที่คนไข้นั้นมีอาการผิดปกติเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยมีสาเหตุจากปฏิกิริยาทางสรีรวิทยาที่รุนแรงอย่าง cytokine storm ที่ร่างกายของคนไข้โควิด-19 ไม่สามารถควบคุมการหลั่งสารในระบบภูมิคุ้มกันกลุ่ม cytokine ได้ส่งผลให้เนื้อเยื่อของอวัยวะหลายส่วนถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของตัวคนไข้เอง มักพบมากที่บริเวณเนื้อเยื่อหัวใจ ปอด ไต สมอง และผิวหนัง
และในเด็กอาจะพบการเกิดโรค Multisystem Inflammatory Syndrome in Children Associated with COVID-19 (MIS-C) ที่มีอาการโรคคาวาซากิ (Kawasaki Disease) คือเกิดการอักเสบในหลายอวัยวะ มีไข้สูง ผื่นขึ้น ตาแดง ต่อมน้ำเหลืองโต อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่หรือหลังหายทันที โดยโรคนี้อาจมีผลกระทบต่อหลายอวัยวะ (multiorgan effects) ในระยะยาวได้
3.ผลกระทบระยะยาวจากการนอนโรงพยาบาลและจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
มักเกิดในกลุ่มคนไข้โควิด-19 ที่มีการนอนโรงพยาบาล โดยเฉพาะห้อง ICU ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจ อาจทำให้แขนขาไม่ค่อยมีแรงและยังคงรู้สึกเหนื่อยล้าอยู่แม้จะไม่มีเชื้อโควิดอยู่แล้ว ในบางกรณีอาจมีผลต่อเรื่องการคิดและคำพูด นำไปสู่ภาวะที่มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบเหตุการณ์รุนแรง (post-traumatic stress disorder; PTSD) เช่น การได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจ หรือถูกปั๊มหัวใจในการช่วยชีวิต ส่งผลให้เกิดความเครียดฉับพลันและอาจสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากภาวะดังกล่าวที่มีสาเหตุมาจากอาการเจ็บป่วยแล้วนั้น โรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ หรือการที่บางคนนั้นจำเป็นต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวที่คนใกล้ชิดติดเชื้อหรือเสียชีวิต รวมไปถึงการเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยากเวลามีอาการผิดปกติ ส่งผลให้มีความวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น
แล้วเราจะป้องกันภาวะ Long COVID ได้อย่างไร?
- การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
- สวมใส่หน้ากากที่คลุมบริเวณปากและจมูกอย่างมิดชิด
- รักษาระยะห่างโดยอยู่ห่างจากผู้อื่นประมาณ5-2 เมตร เลี่ยงบริเวณแออัดและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก
- ล้างมือบ่อยๆ
ที่มา : อ.พญ.รพีพรรณ รัตนวงศ์นรา มอร์ด
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1400