21 ตุลาคม 2564
1,690

สธ. ยืนยันวัคซีน Pfizer 2 เข็มในเด็กผู้ชาย ช่วยกระตุ้นภูมิสูง โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย

สธ. ยืนยันวัคซีน Pfizer 2 เข็มในเด็กผู้ชาย ช่วยกระตุ้นภูมิสูง โอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อย
Highlight

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขย้ำฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันสู้สายพันธุ์เดลต้าได้ดีกว่า ผลข้างเคียงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในเด็กผู้ชาย โอกาสเกิด 6 ต่อ 100,000 คน และมีโอกาสหายเองมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง


นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนได้ดำเนินการไปตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม ขณะนี้ฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนแล้ว 2,000,000 โดส สำหรับความกังวลในเรื่องของความปลอดภัยและประสิทธิภาพนั้นในการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิจารณาแล้วว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่นำมาฉีดให้เด็กนักเรียนอายุ 12-18 ปี ต้องฉีด 2 เข็มจึงจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่เพียงพอต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา 

ส่วนความกังวลเรื่องการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ผู้เชี่ยวชาญได้ประชุมหารือกันพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลข้างเคียง แต่อาการที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างน้อย หากเทียบกับเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย (MIS-C) รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการจากโรคจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้มากกว่าการฉีดวัคซีน อีกทั้งผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนมักจะหายเองได้ จึงได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 2 เด็กผู้ชายต่อไป

นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆมาร่วมพิจารณา เช่น กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ กุมารแพทย์โรคหัวใจ เป็นต้น โดยได้ทบทวนข้อมูลการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ทั่วโลก  ข้อมูลที่เห็น คือ ขณะนี้มีการฉีดวัคซีน mRNA หลายร้อยล้านเข็ม โดยเฉพาะที่ฉีดอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ฉีด 2 เข็ม เช่น อเมริกา แคนาดา ยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น บราซิล เป็นต้น ส่วนที่ฉีด 1 เข็ม เช่น เม็กซิโก อังกฤษ นอร์เวย์ ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เป็นต้น เท่าที่ทบทวนดูการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบปัจจัยเสี่ยง คือ เด็กผู้ชาย อายุ 12-16 ปี

ส่วนใหญ่เกิดระดับไม่กี่คนต่อล้านคน มากที่สุด 6 คนใน แสนคน พบมากในการฉีดเข็มที่ 2 และในเด็กผู้ชายแข็งแรง และจากการรวบรวมกรณีเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการคือเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก เหนื่อยง่าย อาการไม่รุนแรง หายได้เอง น้อยมากที่นอน รพ. และให้ทานยาแก้อักเสบก็หาย มีเล็กน้อยที่เกิดอาการรุนแรงนอนรพ.เข้าไอซียู ส่วนการเสียชีวิตที่สัมพันธ์กับวัคซีน พบ 1 รายจากที่มีการฉีดแล้ว 100 ล้านโดส ถือว่าน้อยมาก

ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความสมัครใจ ขึ้นกับความประสงค์ของผู้ปกครองและนักเรียน รวมทั้งแนะนำให้งดออกกำลังกายหนักภายหลังได้รับวัคซีนเป็นเวลา 7 วัน หากมีภาวะใจสั่น หายใจไม่อิ่ม หอบเหนื่อย ให้รีบพบแพทย์
          
กุมารแพทย์โรคหัวใจในเด็กได้สรุปเรื่องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก ใช้คำจำง่ายว่า 3 R ดังต่อไปนี้ 

1. Real การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังการฉีดวัคซีน mRNA โดยเฉพาะเข็ม 2 มีโอกาสเกิดมากขึ้นในเด็กผู้ชายอายุ 12-16 ปี 

2. Rare ถึงแม้ว่าจะเกิดแต่โอกาสเกิดมี 6 ต่อ 100,000 คน ถ้าเปรียบเทียบกับเด็กที่ติดเชื้อโควิดแล้วเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 

3. Recovery เด็กที่เกิดผลข้างเคียงอาการจะไม่มาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยบ้างไม่รุนแรง ที่ผ่านมาเจอ 3-4 ราย จะหายได้เอง บางรายรักษาโดยการกินยาแก้อักเสบก็หายได้ โอกาสหายเองมีมากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเทียบกับการอักเสบของการติดเชื้อโควิด 19 โอกาสหายมีแค่ 50 เปอร์เซ็นต์ คณะผู้เชี่ยวชาญจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ฉีด 2 เข็ม แต่ต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ปกครอง" นายแพทย์โอภาส กล่าว

นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงแนวทางการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นของผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ว่ากำหนดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นคาดว่าจะเป็นช่วงปลายพฤศจิกายนและต้นเดือนธันวาคม ทางคณะอนุกรรมการฯ ขอให้ทางโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ส่งเอกสารหลักฐานที่มีการศึกษาพบว่าจำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นเนื่องจากภูมิคุ้มกันลดลง เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบก่อนจะพิจารณาและประกาศฉีดวัคซีนต่อไป

สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แนวโน้มผู้ป่วยหายมากกว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ วันนี้ (21 ต.ค.) มีผู้ป่วยหาย 10,075 คน ผู้ป่วยที่มีอาการหนักก็มีจำนวนลดลงเหลือ 2,687 คน สอดคล้องกับผู้ที่มีอาการหนักมากหรือใส่ท่อช่วยหายใจขณะนี้ 603 คน ผู้เสียชีวิต 73 คน ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ที่ 9,727 คน 

ทั้งนี้ การระบาดของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะกรุงเทพและปริมณฑล แต่ต้องระวังพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ศบค.ส่วนหน้าภาคใต้ อีกทั้งกรมควบคุมโรคได้ส่งวัคซีนลอตแรกแล้ว 500,000 โดส ในสัปดาห์นี้ จะส่งอีก 500,000 โดส เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดให้ได้รวดเร็วที่สุด สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดคือ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ตาก ระยอง และจันทบุรี
          
นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่า วันนี้มีการฉีดวัคซีน 915,956 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมอยู่ที่ 68,503,058 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 1 แล้วร้อยละ 54.2 และฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม ร้อยละ 38 เชื่อว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเกินเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ที่ 70,000,000 โดส และจะฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 100,000,000 โดส ไม่เกินต้นเดือนธันวาคมนี้ 

ทั้งนี้ภายหลังจากการเปิดพื้นที่สีฟ้าไปแล้ว 4 จังหวัด เพื่อนำร่องการท่องเที่ยว ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และระยะถัดมาจะเปิดอีก 16 จังหวัด ในเดือนพฤศจิกายน โดยได้ส่งวัคซีนลงไปเรียบร้อยแล้ว โดยในเดือนพฤศจิกายนจะมีวัคซีนเข้ามา 25,000,000 โดส ประกอบด้วย แอสตร้าเซนเนก้า 15,000,000 โดส และไฟเซอร์ 10,000,000 โดส ส่วนซิโนแวคคาดว่าจะฉีดได้อย่างเพียงพอให้กับประชาชนภายในเดือนนี้
          
ที่มา : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ติดต่อโฆษณา!