WHO อนุมัติการใช้ “โควาซิน”วัคซีนชนิดเชื้อตายจากอินเดีย เป็นวัคซีนชนิดที่ 7
Highlight
องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเชื้อตาย "โควาซิน" ที่ผลิตโดยอินเดีย แล้วเมื่อวันพุธที่ 3 พ.ย.2564 เป็นวัคซีนชนิดที่ 7 ที่ได้ไฟเขียวจาก WHO และจะเปิดทางให้นำวัคซีนนี้เข้าโครงการโคแวกซ์ช่วยประเทศยากจน ทั้งนี้วัคซีนโควาซิน มีประสิทธิภาพ 78% หลังจากฉีดครบ 2 โดสในเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์
องค์การอนามัยโลก (WHO) อนุมัติการใช้งานแบบฉุกเฉินสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบเชื้อตาย "โควาซิน" (Covaxin) ที่ผลิตโดยอินเดีย แล้วเมื่อวันพุธ เป็นวัคซีนชนิดที่ 7 ที่ได้ไฟเขียวจาก WHO และจะเปิดทางให้นำวัคซีนนี้เข้าโครงการโคแวกซ์ช่วยประเทศยากจน
รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2564 กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประกาศว่า ได้ขึ้นบัญชีการใช้แบบฉุกเฉินสำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัท ภารัตไบโอเทค ของอินเดียแล้ว คำแถลงจากนครเจนีวากล่าวว่า วัคซีนโควาซินนี้มีประสิทธิภาพ 78% หลังจากฉีดครบ 2 โดสในเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์
วัคซีนนี้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากง่ายต่อการเก็บรักษา การอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินนอกจากช่วยให้นำวัคซีนนี้เข้าโครงการวัคซีนโลก โคแวกซ์ แล้ว ยังจะช่วยให้ชาวอินเดียหลายล้านคนที่ฉีดวัคซีนชนิดนี้สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
โควาซินเป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ 7 ที่ผ่านการอนุมัติใช้งานแบบฉุกเฉินจาก WHO ต่อจากวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ของไฟเซอร์-ไบออนเทค และโมเดอร์นา, วัคซีนที่ใช้ไวรัสอะดีโนเป็นพาหะ ของแอสตร้าเซนเนก้า และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนที่ใช้ไวรัสเชื้อตาย จากบริษัท ซิโนแวคไบโอเทค และซิโนฟาร์มของจีน.
มารู้จักกับวัคซีน COVID-19
ในปัจจุบันมีการคิดค้นวัคซีน COVID-19 จากหลายบริษัทผู้ผลิตจากหลากหลายประเทศ ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีกระบวนการผลิตที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งหมดนี้เพื่อจุดประสงค์เดียวกันคือ สร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการแพร่ระบาด โดยวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 นั้นจะมีทั้งหมด 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1. วัคซีนชนิดสารพันธุกรรม หรือ messenger RNA (mRNA) เป็นวัคซีนที่ถูกสร้างขึ้นจากสารพันธุกรรมเอ็มอาร์เอ็นเอ โดยวัคซีนจะส่งผลให้เซลล์ผลิตสารโปรตีนที่มีลักษณะเฉพาะของเชื้อไวรัส ซึ่งโปรตีนนี้จะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยการสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ วัคซีนชนิดนี้ได้แก่วัคซีนของบริษัท Pfizer และ Moderna
2. วัคซีนชนิดใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector) วัคซีนชนิดนี้จะนำไวรัสอื่นมาดัดแปลงพันธุกรรมและใส่สารพันธุกรรมของไวรัสโรค COVID-19 เข้าไป หลังจากฉีดแล้วจะเกิดการเลียนแบบการติดเชื้อธรรมชาติ กระตุ้นภูมิคุ้มกันและสร้างแอนติบอดีต่อโรค COVID-19 แต่เนื่องจากยังเป็นไวรัสที่มีชีวิตอยู่เมื่อเข้าสู่ร่างกาย จึงมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องในการใช้วัคซีนชนิดนี้ ซึ่งบริษัทที่ผลิตวัคซีนชนิดนี้ได้แก่ AstraZeneca, Johnson & Johnson และ Sputnik V
3. วัคซีนชนิดเชื้อตาย (Inactivated Virus) เป็นวัคซีนที่มีการผลิตโดยใช้เชื้อไวรัสโรค COVID-19 ที่ตายแล้ว ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะไม่ทำให้เกิดโรคแต่จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้รับรู้ว่ามีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย หลังจากนั้นร่างกายก็จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านเชื้อ COVID-19 เป็นวิธีเดียวกับการผลิตวัคซีนตับอักเสบเอและวัคซีนโปลิโอ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้รับวัคซีนโดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องมากกว่า บริษัทที่ผลิตวัคซีนขนิดนี้คือ บริษัท Sinovac และ Sinopharm
4. วัคซีนจากโปรตีนส่วนหนึ่งของเชื้อ (Protein Subunit Vaccine) เป็นกระบวนการผลิตวัคซีนที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เพราะใช้ในการผลิตวัคซีนอื่น ๆ ด้วยเช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีหรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นต้น โดยการสร้างโปรตีนของเชื้อไวรัสผสมกับสารกระตุ้นภูมิ เพื่อให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีขึ้นเพื่อต่อต้านไวรัสของโรค COVID-19 ขึ้นมา
อ้างอิง : https://www.bbc.com/news/world-asia-india-58800168
https://www.cnbc.com/2021/11/03/indias-first-homegrown-covid-vaccine-wins-who-emergency-use-listing-.html