Pfizer เผยผลทดลองยารักษาโควิดระยะที่ 3 ประสิทธิภาพสูง 89% สูงกว่ายา Molnipiravir ของ Merck ที่ 50%
Highlight
Pfizer เผยผลทดสอบระยะที่ 3 ยารักษาโควิด-19 ที่บริษัทกำลังดำเนินการที่ชื่อว่า
แพ็กซ์โลวิด” (PAXLOVID) โดยมีประสิทธิภาพในการลดการเข้าโรงพยาบาลหรือลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต 89% มากกว่า ยา Molnipiravir ของ บริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเธราพิวติกส์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดในสหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานนี้ และมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50% ในเมื่อมีผู้ผลิตยาได้เพิ่มขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นย่อมส่งผลดีต่อชาวโลกที่กำลังตกอยู่ในอันตรายของโรคระบาดใหม่ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด หากยาเจ้าไหนที่พิสูจน์ได้ว่า ใช้ดี ราคาถูกก็ย่อมได้รับการตอบรับที่ดีอย่างแน่นอน!
อุตสาหกรรมยาโลกยังคงแข่งขันกันต่อเนื่อง ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ล่าสุดเมื่อ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ อิงค์ ผู้ผลิตยารายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เปิดตัวยาเม็ดต้านโควิด-19 ชื่อ “แพ็กซ์โลวิด” (PAXLOVID) พร้อมอ้างข้อมูลผลทดสอบระยะที่ 3 ว่า มีประสิทธิภาพ 89% ซึ่งสูงกว่า ยา Molnipiravir ของ โดยบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเธราพิวติกส์ ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้กับผู้ป่วยโควิดในสหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานนี้ ที่มีประสิทธิภาพในการลดการเข้าโรงพยาบาลหรือลดความเสี่ยงในการเสียชีวิต 50%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) กำลังหารือกับ 90 ประเทศเกี่ยวกับสัญญาการจัดหายาทดลองโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าลดความเสี่ยงของการรักษาในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเจ็บป่วยรุนแรงถึง 89%
หัวหน้าผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ Albert Bourla กล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อวันศุกร์ เขากล่าวว่าไฟเซอร์คาดว่าจะกำหนดราคายารักษาที่เรียกว่า Paxlovid ใกล้กับคู่แข่งกับยากินของบริษัท Merck & Co Inc.
ราคาตามสัญญาจัดซื้อของ Merck ในสหรัฐอเมริกาสำหรับยาเม็ด molnupiriavr อยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์สำหรับหลักสูตรการรักษา 5 วัน
Albert Bourla ยังเผยว่าบริษัทมุ่งเน้นการผลิตยา COVID-19 ด้วยตัวเอง และตั้งเป้าเพิ่มการผลิตแล้ว พร้อมพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มกำลังกาารผลิตเป็นสองเท่าทั่วโลก
การเปรียบยารักษาโควิด-19 ระหว่างของบริษัท Pfizer และ Merck
แพ็กซ์โลวิด
ด้านยาเม็ดของไฟเซอร์จัดอยู่ในประเภท “โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease Inhibitor)” แบบเดียวกับยารักษา HIV โดยมีสรรพคุณสามารถย่อยสลายโปรตีนได้ โดยแพกซ์โลวิดจะย่อยสลายเอนไซม์ที่โควิด-19 ใช้ในการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ รวมถึงสลายโปรตีนหนามของโควิด-19 ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้ในการยึดเกาะและแพร่เชื้อในจมูก ลำคอ และปอดของเรา
ยาแพกซ์โลวิดจะใช้ 1 คอร์ส 30 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละ 3 เม็ด
ผลการทดลองแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มได้รับยาภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ 774 คน และกลุ่มได้รับยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ 1,219 คน
ในกลุ่มแรกแบ่งย่อยอีกเป็นกลุ่มได้รับยาแพกซ์โลวิดของจริง 389 คน ได้รับยาหลอก 385 คน พบว่า ในกลุ่มได้รับยาจริง มีผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพียง 3 ราย หรือ 0.8% และไม่มีผู้เสียชีวิตเลย ขณะที่กลุ่มยาหลอกมีผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาล 27 ราย หรือ 7% และมีผู้เสียชีวิต 7 ราย
ส่วนในกลุ่มสอง ได้รับยาจริง 607 ราย ได้รับยาหลอก 612 ราย พบว่า กลุ่มได้รับยาจริงป่วยเข้าโรงพยาบาล 6 ราย หรือ 1% และไม่มู้เสียชีวิต ส่วนกลุ่มยาหลอกป่วยเข้าโรงพยาบาล 41 ราย หรือ 6.7% และมีผู้เสียชีวิต 10 ราย
ไฟเซอร์จึงสรุปว่า การให้ยาแพกซ์โลวิดแก่ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มเสี่ยงภายใน 3 วันหลังแสดงอาการ ลดโอกาสเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 89% ส่วนการให้ยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ ประสิทธิภาพลดลงเหลือ 85%
ยาของไฟเซอร์ใช้ร่วมกับริโทนาเวียร์ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในระบบทางเดินอาหาร และรบกวนการทำงานของยาอื่น ๆ ได้
ไฟเซอร์คาดว่า ปีนี้จะผลิตยาแพกซ์โลวิดได้อย่างน้อย 180,000 คอร์ส และในปีหน้าจะผลิตอีก 50 ล้านคอร์ส
ปัจจุบัน ไฟเซอร์อยู่ระหว่างยื่นข้อมูลและเอกสารให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) พิจารณาอนุมัติใช้จริง ส่วนประเทศไทยมีข้อมูลเปิดเผยว่า กรมการแพทย์กำลังหารือร่วมกับบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย
โมลนูพิราเวียร์
เริ่มกันที่ยาโมลนูพิราเวียร์ของเมอร์คที่มีการเผยแพร่ผลการทดลองออกมาก่อน ยาตัวนี้มีสรรพคุณในการยับยั้งการแบ่งตัวและแพร่พันธุ์ของไวรัส โดยจะไปเปลี่ยนหรือทำให้เกิดข้อผิลพลาดในสารพันธุกรรมของไวรัส จนมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้
ยาโมลนูพิราเวียร์นี้จะใช้ 1 คอร์ส 40 เม็ด รับประทานต่อเนื่อง 5 วัน วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละ 4 เม็ด
สำหรับประสิทธิภาพของโมลนูพิราเวียร์นั้น จากการทดลองในประชากรวัยผู้ใหญ่ 775 รายที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยร้ายแรงอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ครึ่งหนึ่ง 385 รายได้รับยาจริง อีกครึ่งหนึ่ง 377 รายได้รับยาหลอก
พบว่า มีผู้ป่วย 53 ราย (14%) ในกลุ่มยาหลอกต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เทียบกับเพียง 28 ราย (7%) ของกลุ่มผู้ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์ และไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในกลุ่มที่ได้ยา แต่มีผู้เสียชีวิต 8 รายในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก
ทำให้เมอร์คแถลงผลการทดลองว่า โมลนูพิราเวียร์สามารถลดอัตราการป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50% หากให้ยาภายใน 5 วันหลังแสดงอาการ
เมอร์คคาดว่า ปีนี้จะผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ได้อย่างน้อย 10 ล้านคอร์ส และในปีหน้าจะผลิตอีก 20 ล้านคอร์ส
ปัจจุบัน มีเพียงประเทศเดียวที่อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ได้ นั่นคือสหราชอาณาจักร ขณะที่สหรัฐฯ กำลังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนประเทศไทยเอง อยู่ระหว่างการขอขั้นทะเบียน อย. และขออนุมัติงบประมาณสำหรับการจัดซื้อ
หมอเฉลิมชัยวิเคราะห์ยา Paxlovid
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่ายาต้านไวรัสโควิดลำดับที่ 2 ของโลก มีประสิทธิผลสูงถึง 89% เป็นของ Pfizer
Pfizer บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของวัคซีนป้องกันโควิดด้วยเทคโนโลยี mRNA
1. ได้เปิดเผยผลการศึกษายาต้านไวรัสตัวใหม่ชื่อว่า Paxlovid ( PZ-07321332) มีประสิทธิผลในการลดการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลได้ถึง 89%
2. เป็นยาชนิดรับประทาน วันละ 2 ครั้ง จำนวน 5 วัน
3. จะยื่นขออนุมัติใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) ต่อ อย.สหรัฐฯ (USFDA) ในเดือนพฤศจิกายนนี้
4. นโยบายการค้าของ Pfizer จะขายยาในราคาไม่เท่ากัน ประเทศรายได้น้อยและประเทศรายได้ปานกลางจะมีราคายาถูกกว่าประเทศร่ำรวย
5. บริษัทได้ลงทุนวิจัยพัฒนายาไปกว่า 33,000 ล้านบาท
6. คาดว่าจะผลิตยาได้ในปีนี้ 1.8 แสนคอร์ส คอร์สละ 30 เม็ด และปีหน้าจะผลิตได้ 50 ล้านคอร์ส
รายละเอียดของยาที่น่าสนใจ
1. Paxlovid เป็นยาต้านไวรัส (Antiviral drug) ที่ก่อโรค โควิดคือไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 โดยตรงเป็นตัวที่ 2 ของโลก
โดยยาตัวแรกคือ ยาของบริษัท Merck (Molnupiravir) ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในประเทศอังกฤษเรียบร้อยแล้ว ในชื่อว่า Lagevrio และรอการอนุมัติจากอย.สหรัฐฯอยู่
2. กลไกการออกฤทธิ์ของยาเริ่มพัฒนามาจากยาเดิม ที่บริษัท Pfizer วิจัยขึ้น เพื่อรักษาโคโรนาไวรัสลำดับที่ 5 ที่ก่อให้เกิดโรค SARS และมีการระบาดในปี 2002 โดยเป็นยาฉีด
การพัฒนาครั้งนี้ นำมาใช้เพื่อต่อต้านไวรัสโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งก่อโรคโควิด โดยเริ่มงานวิจัยมาตั้งแต่กรกฎาคม 2563
เป็นยากลุ่มยับยั้งเอนไชม์ ที่ใช้ในการเพิ่มจำนวนของไวรัส ทำให้ไวรัสเพิ่มจำนวนก่อโรคไม่ได้ ซึ่งยากลุ่มนี้ ได้ผลดีในการต้านไวรัสก่อโรคเอดส์ หรือเอชไอวี(HIV)มาแล้ว โดยมีขั้นตอนดังนี้
2.1 ไวรัสจะเข้าไปในเซลล์มนุษย์
2.2 สารพันธุกรรมของไวรัสคือ RNA จะแยกตัวออกจากไวรัส โดยยังอยู่ในเซลล์มนุษย์
2.3 RNA จะทำการสร้างโปรตีน Polypeptide
2.4 เอนไซม์ Protease จะมาตัด Polypeptide ให้เป็นท่อนเล็กๆเพื่อประกอบกันเป็นไวรัสตัวใหม่รุ่นลูก เป็นการเพิ่มจำนวนและก่อให้เกิดโรค
2.5 ยาต้านไวรัส Paxlovid เป็นตัวยับยั้งเอนเซม์ดังกล่าว (Protease inhibitor) จึงทำให้ไวรัสไม่สามารถเพิ่มจำนวนได้
3. ผลการศึกษา เป็นการศึกษาในเฟส 2/3 ซึ่งยังไม่ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ พบว่าได้ผลดีต่อไวรัสกลายพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์เดลตาด้วย โดยการให้ยารับประทานวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด ร่วมกับยา Ritonavir ซึ่งจะออกฤทธิ์ชะลอการสลาย ตัวของยา Paxlovid ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานขึ้น
พบว่าถ้าให้ยาเร็วภายใน 3 วันแรกหลังติดเชื้อจะมีประสิทธิผลสูงถึง 89%
โดยกลุ่มที่ได้รับยา 389 คน เข้าโรงพยาบาล 3 คน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 385 คน เข้าโรงพยาบาล 27 คน และถ้าให้ยาภายใน 5 วันหลังจากติดเชื้อ
ประสิทธิภาพลงมาเล็กน้อยเป็น 85%
โดยกลุ่มที่ได้รับยา 607 คน เข้าโรงพยาบาล 6 คน ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา 612 คน เข้าโรงพยาบาล 41 คน ทั้งนี้ กลุ่มที่ได้รับยาไม่มีผู้เสียชีวิต
ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับยา เสียชีวิตไป 10 คน
ยาที่ใช้รักษาโควิดในปัจจุบันเริ่มต้นมาจากเราใช้ยาเท่าที่มีอยู่เดิมเป็นยาที่
รักษาไวรัสสายพันธุ์ใกล้เคียงกับโคโรนาลำดับที่ 7 ที่ก่อโรคโควิด ได้แก่
1. ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เป็นยาชนิดรับประทาน
2. เรมเดวิเวียร์ (Remdesivir) เป็นยาของบริษัท Gilead Science Inc.
3. Monoclonal Antibody ของบริษัท Regeneron Phamaceutical Inc. และ Eli Lilly
4. สเตียรอยด์กลุ่มเด็กซ่าเมธาโซน (Dexamethasone)
5. ฟ้าทะลายโจร
ส่วนยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อโคโรนาไวรัสที่ 7 ที่ก่อโรคโควิดตัวแรกคือ Molnupiravia ของบริษัท Merck ซึ่งได้ประกาศนโยบายสำคัญเป็นที่ชื่นชมของคนทั่วโลก คือ จะไม่คิดค่าสิทธิบัตรยาที่ขายในประเทศกลุ่มรายได้ปานกลางและยากจนครึ่งโลก 105 ประเทศ ทำให้ลดราคายาจากเม็ดละ 850 บาท เหลือ 6.60 บาท
ส่วนในครั้งนี้ บริษัท Pfizer ประกาศว่าจะขายยาให้กลุ่มประเทศรายได้น้อยต่ำกว่าในประเทศร่ำรวย แต่ยังไม่ประกาศตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะถูกกว่ากันมากน้อยเพียงใด คงจะต้องติดตามความคืบหน้าของยาต้านไวรัสของบริษัท Pfizer ว่าจะได้รับการอนุมัติจาก อย.สหรัฐฯเมื่อใด และที่สำคัญคือจะมีราคาถูกแพงมากน้อยเพียงใด เมื่อเปรียบเทียบกับยาของบริษัท Merck
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 ข้อมูลจาก ศบค. รายงานพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 7,592 ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,946,728 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 39 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,495 ราย กำลังรักษา 98,425 ราย หายป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,830,037 ราย
ที่มา : PPTV