“เดลตาครอน โควิดกลายพันธุ์ตัวใหม่ลูกผสม..จริงหรือ?
ชาวโลกตื่นตลึงอีกครั้ง กับการออกมาเปิดเผยของ ศาสตราจารย์ลีออนดิออส คอสตรีกิส นักไวรัสวิทยาจากไซปรัสเมื่อเร็วๆนี้ว่า ได้ค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ใหม่เรียกว่า "เดลตาครอน" หรือ "Deltacron" เป็นการเกิดวิวัฒนาการของเชื้อกลายพันธุ์จากไวรัสโคโรนา 2019 ต่อมา นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ออกมาแย้งว่าอาจจะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ "เดลตา" และสายพันธุ์ "โอไมครอน" ภายในห้องปฏิบัติการมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (10 ม.ค.) ศาสตราจารย์ลีออนดิออส คอสตรีกิส ได้ยืนยันอีกครั้งว่า “เดลตาครอน” เป็นเชื้อกลายพันธุ์จริงๆ ด้านแพทย์ไทยแนะ อย่าเพิ่งฟันธงข้างใดข้างหนึ่ง ให้ติดตามเรื่องนี้ลงเอยอย่างไร
หลังจากที่ ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ส่งข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า การค้นพบดังกล่าว มีความเป็นได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ "เดลตา" และสายพันธุ์ "โอมิครอน" ภายในห้องปฏิบัติการ โดยให้เหตุผลเป็นการนำข้อมูลมาสร้างเป็นแผนภูมิวิวัฒนาการ ทั้งนี้ ดร.ทอม พีค็อก อ้างว่า ตัวอย่างทั้งหมดไม่ได้มาจากคลัสเตอร์เดียวกัน
ล่าสุด ศาสตราจารย์ลีออนดิออส คอสตรีกิส หัวหน้าศูนย์วิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและไวรัสวิทยาระดับโมเลกุล แห่งมหาวิทยาลัยไซปรัส ประเทศไซปรัส เปิดเผยอีกครั้งว่า การค้นพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ใหม่เรียกว่า "เดลตาครอน" หรือ "Deltacron" เป็นการเกิดวิวัฒนาการของเชื้อกลายพันธุ์จากไวรัสโคโรนา 2019 อย่างชัดเจน ไม่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนภายในห้องปฏิบัติการ หรือไม่เกี่ยวข้องกับความผิดพลาดแต่อย่างใด
ซึ่งการออกมายืนยันอีกครั้งของ ศาสตราจารย์ลีออนดิออส คอสตรีกิส เกิดขึ้นหลังจาก ดร.ทอม พีค็อก นักไวรัสวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ส่งข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวเป็นคงามเห็นแย้งจากการค้นพบดังกล่าวที่ว่า มีความเป็นได้สูงที่จะเกิดจากการปนเปื้อนระหว่างสายพันธุ์ "เดลตา" และสายพันธุ์ "โอไมครอน" ภายในห้องปฏิบัติการ
ศาสตราจารย์ลีออนดิออส คอสตรีกิส กล่าวว่า ขณะนี้ พบการติดเชื้อ 25 ราย ในจำนวนทั้งหมดนี้ พบว่ามี 11 ราย ที่แสดงอาการซึ่งต้องเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาล หรือคิดเป็น 44% ที่มีอาการและต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ในขณะที่ 14 คนไม่มีอาการใด ๆ แต่ยังเร็วเกินไป ที่จะระบุในเบื้องต้นว่า สายพันธุ์ใหม่ "เดลตาครอน" มีศักยภาพในการแพร่กระจายเชื้อรวดเร็วอย่างไร หรือจะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
สำหรับเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์ที่ทางประเทศไซปรัส ได้เรียกเบื้องต้นว่า "เดลตาครอน" เป็นการตรวจพบพันธุกรรมของทั้งสายพันธุ์ "เดลตา" และสายพันธุ์ "โอไมครอน" ผสมเข้าด้วยกันในเชื้อกลายพันธุ์ใหม่นี้ รายละเอียดเบื้องต้น ปรากฎว่าเป็นการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรม 10 จุด ที่คล้ายกับสายพันธุ์ "โอมิครอน" แต่เกิดอยู่ภายในพันธุกรรมของสายพันธุ์ "เดลตา"
ก่อนหน้านี้ ทีมวิจัยของศาสตราจารย์ลีออนดิโอส คอสทริคิส ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า ไวรัสกลายพันธุ์มีลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์เดลตาและไวรัสโอมิครอนอีกบางส่วน จึงได้ชื่อว่า "เดลตาครอน"
โดยทีมวิจัยได้วิเคราะห์ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ จำนวน 25 รายการในไซปรัส หลังจัดลำดับพันธุกรรม 1,377 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการติดตามการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ในไซปรัส
อย่างไรก็ตาม ความถี่ของการกลายพันธุ์มีแนวโน้มสูงในหมู่ผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งอาจแปรความได้ว่า เดลตาครอนมีความเชื่อมโยงกับการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ขณะนี้เดลตาครอนยังไม่น่ากังวล
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตาครอน" โดยระบุว่า
"ฟังหูไว้หู !! ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ Deltacron มีจริงหรือไม่ จะต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมกันต่อไป
ขณะนี้มีรายงานข่าวเบื้องต้น จากสำนักข่าวต่างประเทศบางแห่ง ว่าพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ คือเป็นสายพันธุ์เดลต้า แต่มีสารพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนเข้ามาปน ทำให้ตั้งชื่อใหม่เป็นไวรัส Deltacron : Delta+Omicron ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันจากหน่วยงานระหว่างประเทศ หรืออย่างน้อยรอให้องค์การอนามัยโลกออกมารับรองเสียก่อน
นักวิชาการชี้ไม่มีรายงานในถังข้อมูลโควิดโลก
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ว่า เท่าที่ติดตามในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ จีเสส (GISAID) ยังไม่พบรายงานดังกล่าว เพียงแต่เห็นข้อมูลส่งต่อในสื่อโซเซียลต่างๆ ทั้งนี้ การส่งข้อมูลเข้า GISAID จะต้องเป็นข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและได้รับการยืนยัน โดยจะมีหน้างานที่ควบคุมคุณภาพรหัสพันธุกรรมก่อนส่งเข้าไปในฐานข้อมูลกลาง
“เชื่อว่าเร็วๆ นี้ คงจะทราบแน่ชัดว่ามีการเกิดขึ้นของลูกผสม หรือไฮบริดระหว่างเดลต้ากับโอมิครอน หรือที่ระบุชื่อกันว่า เดลตาครอน หรือไม่ หากมีจริง จะถือเป็นตัวแรกของโลกที่เป็นลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน”
ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมา มีข้อมูลส่งเข้าจีเสส กว่า 6 ล้านตัวอย่าง ก็ยังไม่เคยระบุว่ามีลูกผสมระหว่างโคโรนาไวรัสด้วยกัน
ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข้อมูลผ่านสื่อต่างๆ ขณะนี้มีทั้งระบุว่าเป็นลูกผสมหรือบางส่วนระบุว่าเป็นเพียงการมี 2 สายพันธุ์ ในคนเดียวกัน แต่ไม่ใช่ลูกผสม ซึ่งประเทศไทยก็เคยเกิดกรณีแคมป์คนงานที่พบคนหนึ่งมีทั้งสายพันธุ์แอลฟาและเดลต้าในเวลาเดียวกันเป็นไปได้ แต่มีไม่มาก ส่วนที่ระบุพบเดลตาครอนถึง 25 ตัวอย่าง ก็ยังน่าสงสัยเพราะการเกิดลูกผสมหากเกิดขึ้นจริง คงเกิดได้ไม่มาก อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง
“เทคนิคการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสมีการถอดทั้งแบบสายสั้น ซึ่งสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ประมาณ 300 ตำแหน่ง และแบบสายยาวสามารถถอดรหัสพันธุกรรมได้ถึง 2,000-3,000 ตำแหน่ง การถอดแบบสายสั้นอาจจะได้ข้อมูลไม่จำเพาะ บางครั้งตัวอย่างที่ส่งตรวจอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้การวิเคราะห์ผิดพลาดได้ แต่หากเป็นการถอดสายยาว เช่น ที่ศูนย์จีโนมฯ ก็ใช้วิธีนี้ จะสามารถแยกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ใดที่ชัดเจน รวมถึงเป็นลูกผสมหรือไม่ หรือเกิดจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการวิจัยหรือไม่” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่มีข้อมูล ขอเวลาตรวจสอบก่อนว่า เป็นข่าวจริง หรือรายงานอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์ฯ มีการติดตามข้อมูลจากทั่วโลกอยู่ตลอดเวลา
“ขอให้ทุกคนใจเย็น ไม่อยากให้ตื่นตระหนกเกินไป” นพ.ศุภกิจ กล่าวและว่า กรณีมีนักวิชาการระบุว่า การรายงานสายพันธุ์โอมิครอนของไทยต่ำกว่าความเป็นจริงนั้น เรื่องนี้ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สัดส่วนการรายงานเชื้อโอมิครอน มีทั้งสูงและต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากเราตรวจหาเชื้อจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศทุกคน ก็จะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ส่วนผู้ติดเชื้อในประเทศไทย ไม่ได้ตรวจหาสายพันธุ์ทุกคน จะใช้วิธีการสุ่มตรวจ
“ดังนั้น เราจะวางระบบการสุ่มตรวจ เพื่อที่จะดูสัดส่วนของการระบาดของสายพันธุ์ให้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใด แนวทางการป้องกันตัวเองก็เหมือนเดิมคือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ เว้นระยะห่าง” นพ.ศุภกิจ กล่าว