เด็ก 5-11 ปีติดโควิดเพิ่ม WHO ย้ำฉีดวัคซีนจำเป็น ลดความเสี่ยง! กุมารแพทย์คาดเด็กอาจติดโควิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3
Highlight
องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยความจำเป็นที่เด็ก 5-11 ปี ควรได้รับวัคซีน หลังมีข้อมูลติดเชื้อเพิ่มขึ้น และมีความเสี่ยง มีอาการรุนแรง สำหรับกลุ่มที่มีโรคประจำตัว และแพร่เชื้อได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยแนวโน้มติดเพิ่มขึ้นทั่วโลก และสำหรับไทยมีสังคมและความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากที่อื่น โดยอยู่รวมกันในบ้านเป็นครอบครัวใหญ่ เด็กอาจจะนำเชื้อไปติดผู้ใหญ่และผู้สูงอายุได้ กุมารแพทย์คาดอัตราการติดเชื้อโควิดในเด็กเห็นสัญญาณการพุ่งขึ้น และอาจถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด
WHO เปิดเผยข้อมูลเรื่องความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของเด็กวัย 5-11 ปี ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ World Health Organization Thailand โดยระบุข้อความว่า วัคซีนต้านโควิด-19 ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยมีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ และล่าสุดรวมถึงเด็กอายุ 11 ปีขึ้นไป เมื่อประชากรในกลุ่มอายุนี้ได้รับวัคซีนมากขึ้น ประเด็นที่เรากำลังสนใจในตอนนี้ก็คือการฉีดวัคซีนให้กลุ่มประชากรที่อายุน้อยลง คือเด็กวัย 5-11 ปี เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับวัคซีนหรือไม่ และจะปลอดภัยไหม
ทั้งนี้ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ติดเชื้อคนหนึ่งจะแพร่เชื้อและทำให้อีกผู้หนึ่งติดเชื้อ (หรือที่เรียกว่า serial interval) ของสายพันธุ์โอมิครอนนั้น สั้นกว่าสายพันธุ์เดลตาร้อยละ 33 และความเป็นไปได้ของการติดเชื้อ (secondary attack rate) ก็สูงกว่าเดลตา 2 เท่า เรายังพบว่า สายพันธุ์โอมิครอนสามารถหลบกลไกภูมิคุ้มกันได้เก่งขึ้น ทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดมาก่อนแล้ว (สูงกว่าเดลตา 5.4 เท่า) และทำให้เกิดการติดเชื้อในผู้ที่รับวัคซีนแล้ว (breakthrough infection)
จากข้อมูลนี้หมายความว่าโอมิครอนแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น กระทบคนจำนวนมากกว่า และเร็วกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพแวดล้อมที่ปิดและไม่มีการระบายอากาศ เช่น ในบ้าน (โอมิครอนมีอัตราการแพร่เชื้อในบ้านสูงกว่าเดลตา 2.9 เท่า) ด้วยความเร็วของการแพร่ระบาดนี้ มีการทำนายว่าร้อยละ 40 ของประชากรบางกลุ่มจะติดเชื้อด้วยสายพันธุ์โอมิครอนในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า รวมถึงเด็กๆ ด้วย
เด็กอายุ 5-11 ปี กำลังติดเชื้อโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งสายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนักในสหราชอาณาจักร พบว่า อัตราการเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นสูงสุดในกลุ่มเด็กอายุ 5 ปี ส่วนใหญ่มีอาการเล็กน้อย แม้ว่าร้อยละ 12.7 จะต้อให้ออกซิเจน
ในนิวยอร์ก ช่วงต้นเดือนมกราคม กลุ่มประชากรที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ เด็กวัย 5-11 ปีที่ร้อยละ 465 และอันดับ 1 คือ เด็กอายุ 12-18 ปี ที่ร้อยละ 940 ในช่วงเวลาเดียวกัน กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรเด็ก (ร้อยละ 54) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในนิวยอร์ก ไม่ได้มีโรคประจำตัว โดยที่ 2 ใน 3 (ร้อยละ 64) แสดงอาการของโควิด เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 47) เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลด้วยสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โควิด
ในประเทศแอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา รายงานว่า ในผู้ติดเชื้อที่เข้าโรงพยาบาลรวมถึงกลุ่มที่อายุน้อยนั้น การติดเชื้อโควิดเป็นเพียงอาการร่วม หมายความว่า ผู้ป่วยปรากฏอาการของโควิด-19 แต่ไม่ใช่สาเหตุหลักของการเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล นี่แสดงให้เห็นว่า เด็กก็มีความเสี่ยงจากโควิด-19 และมีโอกาสที่ความเสี่ยงนั้นจะร้ายแรง อาจต้องใช้ออกซิเจนเพื่อช่วยในการหายใจ และโควิด-19 อาจกระตุ้นให้อาการป่วยเรื้อรังที่มีอยู่เดิมนั้นแย่ลง หรือก่อให้เกิดอาการป่วยเฉียบพลัน
WHO ระบุว่า ในประเทศไทย เราจะพบสายพันธุ์โอมิครอนแล้วใน 77 จังหวัด และแม้ว่าประชากรวัยผู้ใหญ่และเด็กวัย 11-17 ปีจะได้รับวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ ในระดับประเทศ แม้คนที่ยังไม่ได้วัคซีนเป็นประชากรส่วนน้อย แต่ก็มีมากถึง 31% ของประชากรที่ยังไม่ได้วัคซีนเข็มที่สอง และความเหลื่อมล้ำของการฉีดวัคซีนในจังหวัดต่างๆ ยังคงมีอยู่สูง ตั้งแต่ก่อนที่จะเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีเสียอีก
เนื่องจากการติดเชื้อโอมิครอนมักไม่แสดงอาการ เราจึงมักไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ ซึ่งหมายความว่า โควิด-19 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวในทุกกลุ่มอายุต่อไป และสถานการณ์ก็แย่ลงไปอีก เนื่องจากโอมิครอนแพร่ระบาดได้ง่าย และลักษณะครัวเรือนของไทยที่คนหลายช่วงวัยอาศัยอยู่ด้วยกัน
ดังนั้นแม้เด็กส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยแม้ติดเชื้อ แต่พวกเขาก็สามารถแพร่เชื้อไปสู่บุคคลกลุ่มเสี่ยง หรือสมาชิกครอบครัวได้ เด็กบางคนก็อาจป่วยหนัก ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากติดโควิด-19 โดยตรง หรือเนื่องจากอาการป่วยจากโรคที่มีอยู่เดิมถูกกระตุ้นให้แรงขึ้น เช่นเดียวกับผู้ใหญ่และวัยรุ่น เด็กก็มีความเสี่ยงจากโควิด-19 ทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น
ประชากรเด็ก 5-11 ปีของไทย อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยง 9 แสนคน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีเด็กอายุ 5-11 ปี ประมาณ 5.8 ล้านคน จำนวนนี้อยู่ใน 7 กลุ่มโรคเสี่ยงประมาณ 9 แสนคน และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีดูแลผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 4 พันคน ซึ่งการฉีดวัคซีนในวันนี้มีเด็กที่ผู้ปกครองสมัครใจให้เข้ารับวัคซีนทั้งสิ้น 100 คน โดยจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์สูตรสำหรับเด็ก 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 3-12 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ โดยพิจารณาจากประวัติ อาการ และข้อควรระวังต่างๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด
สธ.เห็นชอบในหลักการให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 3-17 ปี
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เมื่อ 28 มกราคม 2565 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน เห็นชอบในหลักการให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กอายุ 3-17 ปี เพราะขณะนี้มีการส่งข้อมูลความปลอดภัยและประสิทธิผลให้ อย.พิจารณาแล้ว หาก อย.อนุมัติก็ฉีดได้เลย ส่วนแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เดือนกุมภาพันธ์นี้จะมีวัคซีนทยอยเข้าประเทศไทยราว 11 ล้านโดส
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงเรื่องสูตรฉีดวัคซีนว่า อย. อนุมัติให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในเด็กฝาสีส้มในกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 5-11 ปี ซึ่งต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีม่วงที่ใช้ในผู้ใหญ่ โดยเด็กจะใช้วัคซีน 10 ไมโครกรัม แต่ในผู้ใหญ่ใช้ 30 ไมโครกรัม และไม่สามารถใช้วัคซีนขวดฝาสีม่วงของผู้ใหญ่มาแบ่งเป็น 3 โดส เพื่อฉีดทดแทนให้เด็กได้
"ดังนั้นในเด็กต้องใช้แบบเฉพาะขวดฝาสีส้มเท่านั้น ส่วนเด็กโตขึ้นไปและผู้ใหญ่ต้องใช้ในสูตรที่เป็นฝาสีม่วง 30 ไมโครกรัม" พญ.สุมนี กล่าว
สำหรับเด็กที่เป็นฝาสีส้ม มีการนำเข้ามาและเริ่มฉีดให้กับเด็กแล้วตั้งแต่ 31 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเร็วมาก เพราะวัคซีนสำหรับเด็กตอนนี้เป็นที่ต้องการทั่วโลก ไทยถือเป็นประเทศอันดับ 2 ที่ได้วัคซีนเด็กในเอเชีย โดยเตรียมการฉีดไล่เรียงจากเด็กที่มีอายุ 11 ปีลงมา
ส่วนกรณีผู้ที่ต้องการรอฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค และ ซิโนฟาร์ม เนื่องจากมีความกังวลว่าเด็กอายุน้อยอาจจะเกิดปัญหากล้ามเนื้อหัวใจอักเสบนั้น พญ.สุมนี ระบุว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการอาหารและยากำลังเร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายอยู่ และต้องรอผ่านมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย ซึ่งตอนนี้ก็ทำคู่ขนานกันไป เมื่อผ่านแล้วผู้ปกครองก็จะสามารถเลือกสูตรในการฉีดวัคซีนให้กับบุตรหลานได้ตามความสมัครใจ
คาดเด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาจถึง 1 ใน 3
ผศ.พิเศษ พญ.ปิยรัชต์ สันตะรัตติวงศ์ หัวหน้างานกุมารเวชศาสตร์ และกุมารแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่าในการระบาดระลอกนี้ผู้ป่วยเด็กมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นกว่าช่วงการระบาดระลอกที่ผ่านมาของสายพันธุ์เดลตา ซึ่งช่วงนั้นมีสัดส่วนผู้ป่วยโควิดเด็กทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์
"แต่ในรอบนี้ สัดส่วนผู้ป่วยเด็กมีแนวโน้มสูงกว่ารอบก่อน ๆ ก็อาจจะถึง 1 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด เพราะฉะนั้น ยิ่งโรงเรียนอนุบาลเปิด ยิ่งมีความเป็นไปได้ แต่อย่างที่ย้ำหลายรอบว่าโชคดี ส่วนใหญ่อาการไม่เยอะ อัตราการเสียชีวิตน้อยว่า 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่" พญ.ปิยรัชต์ กล่าว