จับตา "ไวรัสโคโรนา" ชนิดใหม่ เข้าเซลล์มนุษย์ได้ รุนแรงกว่าโควิด-19 ถึง 3 เท่า
Highlight
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร BioRxiv ได้ค้นพบโคโรนาไวรัส (Corona Virus) ชนิดใหม่ในค้างคาวที่ประเทศแอฟริกาใต้ เรียกชื่อว่า NeoCoV โดยมีลักษณะสารพันธุกรรมที่ใกล้เคียงมากกับไวรัสก่อให้เกิดโรค MERS มาก จนมีโอกาสที่จะเรียกว่า MERS-CoV-2 ซึ่งไวรัสโคโรนาลำดับ 7 ที่ก่อโรคโควิด-19 (Covid-19) ซึ่งมีโอกาสผ่านเข้าสู่คนได้ นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เผยการค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่ตื่นเต้นกันมาก เพราะเชื้ออาจมีความรุนแรงกว่า โควิด-19 ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน 3 เท่า
เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์รายงาน NeoCoV ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2555 และ 2558 ในประเทศตะวันออกกลาง มีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าทึ่งกับ SARS-CoV-2 (ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่) ในมนุษย์ ซึ่งองค์การอนามัยโลกบอกกับสำนักข่าว TASS ของรัสเซีย “ไม่ว่าไวรัสที่ตรวจพบในการศึกษาจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อมนุษย์หรือไม่ จะต้องเร่งศึกษาหาข้อมูลอย่างใกล้ชิดโดยเร็วต่อไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่มากขึ้น”
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา เผย สาเหตุที่การค้นพบครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่ตื่นเต้นกันมาก ตลอดจนมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่จะทำให้เกิดผลกระทบกับมนุษยชาติอย่างไร ดังนี้
- ไวรัสก่อโรคโควิด 19 เป็นไวรัสตระกูลโคโรนาลำดับที่ 7 ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรค SARS ที่เป็นไวรัสโคโรนาลำดับ 5 มาก จึงตั้งชื่อว่า SARS-CoV
- โรค SARS นั้น มีความรุนแรงน้อยกว่า MERS ถึง 3 เท่า โดยมีอัตราการเสียชีวิต 10% ในขณะที่โรค MERS เสียชีวิตมากถึง 30%
- ไวรัสก่อโรค MERS เป็นไวรัสโคโรนาลำดับที่ 6
- ไวรัสตระกูลโคโรนาที่ก่อโรคในมนุษย์ที่ผ่านมา ได้แก่ ลำดับที่ 1 – 4 ก่อให้เกิดโรคหวัด ลำดับที่ 5 ก่อให้เกิดโรค SARS ลำดับที่ 6 ก่อให้เกิดโรค MERS ลำดับที่ 7 ก่อให้เกิดโรค COVID-19
- ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า NeoCoV ที่พบในค้างคาวครั้งนี้ เกิดไปมีลักษณะใกล้เคียงกับ MERS มาก และมีโอกาสที่จะถูกตั้งชื่อว่า MERS-CoV-2 ถ้าก่อโรคในมนุษย์ได้จริง คือเป็นไวรัสโคโรนาก่อโรคในมนุษย์ลำดับที่ 8
ความน่าเป็นห่วงก็คือ ไวรัสที่อยู่ในค้างคาวอาจจะไม่ก่อโรคในมนุษย์ ถ้าไม่สามารถจับและเข้าไปในเซลล์มนุษย์ได้ แต่ไวรัสใหม่ที่ค้นพบนี้บังเอิญสามารถจับกับหน่วยรับ ACE-2 แล้วเข้าเซลล์ร่างกายมนุษย์ได้ จึงมีความกังวลว่า ไวรัสใหม่นี้อาจจะก่อโรคแบบ COVID-19 (Corona Virus Disease 2019) ได้ และอาจจะรุนแรงกว่า COVID-19
รายละเอียดเกี่ยวกับโรค SARS และ MERS
- SARS ระบาดในปี 2003 (พ.ศ. 2546) มีผู้เสียชีวิต 10%
- MERS ระบาดในปี 2012 (พ.ศ. 2555) มีผู้เสียชีวิต 30%
- COVID-19 ระบาดในปี 2019 (พ.ศ. 2562) เริ่มต้นมีเสียผู้เสียชีวิต 5% ปัจจุบันผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.53% โดยมีผู้เสียชีวิต 5.67 ล้านคน จากผู้ติดเชื้อ 371 ล้าน
ถ้าไวรัสโคโรนาชนิดใหม่ สามารถก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ขึ้นมาได้จริง ก็อาจเรียกชื่อว่า COVID 22 ซึ่งหากคำนวณตามสัดส่วนของโรค SARS และ MERS ที่รุนแรงขึ้น 3 เท่า ก็อาจจะทำให้ COVID-22 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า COVID-19 ถึง 3 เท่า เช่น ในปัจจุบัน โควิด-19 เสียชีวิต 5.67 ล้านคน ถ้าเป็นโควิด-22 ก็จะเสียชีวิตมากถึง 17 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม นพ.เฉลิมชัยกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวนี้ยังมีความไม่แน่นอนส่วนหนึ่ง ที่จำเป็นจะต้องศึกษาค้นคว้ากันอย่างเร่งรีบ ซึ่งองค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกับหน่วยงานระดับโลกอีกหลายหน่วยงาน เช่น องค์การระดับโลกเรื่องสุขภาพสัตว์ องค์การอาหารและเกษตรโลก ตลอดจนโครงการสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ เพื่อที่จะรีบหาข้อมูล และสรุปให้ได้โดยเร็วที่สุดว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีโอกาสก่อโรคโควิดในมนุษย์มากน้อยเพียงใด
สำหรับไวรัสนีโอ โคโรนา หรือ นีโอคอฟ ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า เจ้าไวรัสตัวนี้ ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี 2555 จากทีมนักวิจัยจากเยอรมนี และแอฟริกาใต้ โดยพบอยู่ในค้างคาวเมื่อตรวจรหัสพันธุกรรมก็พบว่า ไปคล้ายกับไวรัสเมอร์ส ที่มีความรุนแรง และเคยระบาดในพื้นที่ตะวันออกกลางมาแล้ว ส่วนการระบาดยังพบเฉพาะในสัตว์ และแพร่จำกัดในแอฟริกาใต้เท่านั้น
แต่ที่หลายคนเป็นกังวล ก็เพราะว่า ไวรัสนีโอคอฟ มีความเสี่ยงที่จะแพร่สู่คน เพราะมันสามารถเกาะตัวรับที่ ACE 2 บนร่างกายคนได้เหมือนเชื้อโควิด-19 หากมีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจารย์วสันต์ ระบุว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการรายงานพบเชื้อไวรัสตัวนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ก็ยังไม่พบการรายงานการระบาดจากสัตว์สู่คน เพราะตัวเชื้อนีโอคอฟ ยังไม่สามารถจับกับตัวรับ ACE2 ได้โดยตรง ส่วนความรุนแรงที่อาจจะเพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เป็นเพียงความคาดเดา โดยเทียบกับไวรัสเมอร์สเท่านั้น แต่ก็ไม่หมายความว่า หากมันระบาดมาสู่คนจะมีมีอาการรุนแรง
ส่วนจะต้องกังวลกับเชื้อไวรัสนีโอคอฟมากน้อยขนาดไหน ศ.ดร.วสันต์ มองว่า ขณะนี้ควรจะต้องกังวลใจกับเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 (อ่าน บีเอ หนึ่ง) และ BA.2 (บีเอ สอง) ที่กำลังระบาดในไทยมากกว่า แต่กรณีไวรัสนีโอคอฟ รู้ไว้ไม่เสียหาย เพราะถือว่า เป็นเรื่องดีที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกที่ออกมาช่วยกันเตือน และเฝ้าระวัง
อ้างอิง : ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย