09 กุมภาพันธ์ 2565
1,757

สธ. พบคลัสเตอร์ตลาดกลับมาระบาด กระจายกว่า 20 จ. กำชับเข้มมาตรการ

สธ. พบคลัสเตอร์ตลาดกลับมาระบาด กระจายกว่า 20 จ. กำชับเข้มมาตรการ
Highlight

จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน ทะลุหลักหมื่น 5 วันติด และยอดวันนี้ (9 ก.พ.) พุ่งพรวดกว่า 13,000 คน เป็นไปตามคาดก่อนหน้าที่ว่า จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากหลังจากเทศกาลตรุษจีน และพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในตลาดมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าในร้านอาหาร สถานบันเทิง และกิจกรรมรวมกลุ่ม กระจายไปกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ สธ.ต้องกลับมาเข้มอีกรอบกับการปฎิบัติตนเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ พบการแพร่เชท้อมาจาก  การสัมผัสธนบัตร และเศษเหรียญ ภาชนะบรรจุอาหาร และไม่มีระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุหลัก


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผ่านมาในช่วง 5 วันพบผู้ติดเชื้อถึงจำนวน 1 หมื่นราย/วัน 

สำหรับสถานการณ์ล่าสุดของการระบาดโควิด-19 ในประเทศ ประจำวันที่ 9 ก.พ.65 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 13,182 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 13,043 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 139 ราย ทำให้มีผู้ป่วยสะสม (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2565) จำนวน 307,616 ราย

20210209-a-01.jpg

จากการสำรวจพบการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนในตลาดมากขึ้น ซึ่งสูงกว่าในร้านอาหาร สถานบันเทิง และกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยพบการระบาดในตลาดกระจายไปกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับจุดเสี่ยงในตลาดที่อาจทำให้ติดโควิด-19 คือ การสัมผัสธนบัตร และเศษเหรีย การสัมผัสผักผลไม้ เนื้อสัตว์ เชื้อโรคที่ปนมากับถุงพลาสติก และไม่มีการเว้นระยะห่างระหว่างที่ใช้บริการ ดังนั้น ขอให้ประชาชนล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสจุดเสี่ยง และสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเข้ามาประเมินตนเอง และผลการประเมินของตลาดสด ตลาดนัด อาหารริมบาทวิถี และค้าส่ง ใน COVID Free Setting : TSC 2 Plus พบว่า มาตรการที่ยังดำเนินการได้ไม่ดี คือ การคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย Thai Save Thai, ผู้รับผิดชอบกำกับติดตาม Timeline ผู้ขายทุกราย และจัดพนักงานควบคุม

ทั้งนี้ควรจำกัดจำนวนคนไม่เกิน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร หรือรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร และเลือกวิธีการชำระเงินด้วยแอปพลิเคชันเพื่อลดการสัมผัส ดังนั้น ขอเน้นย้ำตลาดที่ยังดำเนินการไม่ผ่านเกณฑ์ทำการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ จากข้อมูลการสังเกตจากผู้ที่ไปใช้บริการตลาดในภาพรวม ตั้งแต่วันที่ 1-7 ก.พ. 65 (N=7,000) พบว่า ประชาชน 81% สวมหน้ากากอนามัยถูกต้อง แต่อีก 19% ยังสวมหน้ากากไม่ถูกต้อง 

โดยมาตรการที่สามารถทำได้ดี คือ การกำหนดจุดเข้า-ออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ และมีการประชาสัมพันธ์ให้สวมหน้ากากอย่างถูกวิธี 

ส่วนมาตรการที่ต้องปรับปรุง คือ ไม่ค่อยเห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ที่ตลาด ภาชนะรองรับขยะไม่มีฝาปิดมิดชิด และมาตรการควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด และเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร

20210209-a-02.jpg

อย่างไรก็ดี กรมอนามัย ขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting อย่างเคร่งครัดทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ด้านผู้ให้บริการ และด้านผู้ใช้บริการ 

พร้อมทั้งให้มีการกำกับ ติดตาม และดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อ เพื่อให้สามารถควบคุมได้ในขอบเขตของพื้นที่ตลาด ลดการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือเกิดคลัสเตอร์ซ้ำขณะเดียวกัน เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อมาตรการป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนผู้ใช้บริการภายในตลาด จะได้เลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจ

“เน้นย้ำว่าผู้ประกอบการตลาด และผู้กำกับดูแลต้องร่วมกันทำแผนเผชิญเหตุ เนื่องจากช่วงการระบาดของโอมิครอนสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถดำเนินการได้โดยไม่กระทบทั้งตลาด เช่น หากพบการระบาดให้ปิดพื้นที่ที่ควรปิดบางส่วนเท่านั้น เป็นต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ด้านสมาคมประกันชีวิตไทยได้ปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากการติด้ชื้อโควิด โดยได้หารือกับทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และได้ข้อสรุปการปรับหลักเกณฑ์เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์  

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับ คปภ. กล่าวว่า กรณีสมาคมประกันชีวิตไทยได้ออกแนวปฏิบัติการให้ความคุ้มครองการประกันสุขภาพ สำหรับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อโควิดใหม่ มีผลตั้งแต่ 15 ก.พ. 2565 ว่า การออกแนวปฏิบัติดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วยโควิด รูปแบบผู้ป่วยในของกระทรวงสาธารณสุข ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ไปเมื่อ 4 ม.ค.65 ซึ่งจะส่งผลให้เงื่อนไขการจ่ายเคลมค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้ป่วยโควิดปรับเปลี่ยนไปด้วย

ทั้งนี้ เดิมหากติดเชื้อโควิดจะถือเป็นผู้ป่วยในทั้งหมด ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเคลมค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยรายวันตามเงื่อนไข แต่ในเมื่อปัจจุบันกระทรวงสาธารณะได้กำหนดเงื่อนไขการเป็นผู้ป่วยในสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดใหม่

ดังนั้นผู้ที่จะได้รับเคลมค่ารักษาพยาบาลระยะต่อไป จะต้องมีอาการตามที่สาธารณสุขกำหนด ดังต่อไปนี้ 

1. มีอาการไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส นานกว่า 24 ชั่วโมง
2. ผู้ใหญ่หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาที
3. มีความเข้มขนของออกซิเจนในเลือดน้อยกว่า 94%
4. มีโรคประจำตัวที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิดตามดุลยพินิจของแพทย์ 
5. สำหรับในเด็กหากมีอาการหายใจลำบาก ซึมลง ดื่มนมหรือทานอาหารน้อยลง จึงจะมีสิทธิได้รับการเคลมค่ารักษา หรือค่าชดเชย 

นายอาภากรกล่าวว่า กรณีผู้ติดเชื้อโควิด ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการไม่รุนแรง แม้จะมีการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ฮอสปิเทล โฮมไอโซเลชัน โดยแพทย์ไม่ได้วินิจฉัยถึงความจำเป็น ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองค่ารักษา และค่าชดเชยรายวัน ยกเว้นกรณีที่อยู่นอกเหนือเงื่อนไข 5 ข้อที่กำหนด หากแพทย์วินิจฉัยว่ามีความจำเป็นต้องรักษาอาการ ก็มีสิทธิรับความคุ้มครองได้อยู่

อย่างไรก็ตาม การปรับแนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ของสาธารณสุขครั้งนี้ จะครอบคลุมเฉพาะกรมธรรม์ประกันโควิด และประกันสุขภาพ ของบริษัทประกันชีวิตและวินาศภัย ที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน และค่าชดเชยรายวันเท่านั้น  ไม่เกี่ยวข้องกับประกันโควิดเจอจ่ายจบ 

ซึ่งในส่วนประกันโควิดเจอจ่ายจบ ยังคงเรียกเคลมได้ตามเดิม เพียงแค่มีผลตรวจพบเชื้อโควิด ด้วยวิธีอาร์ที-พีซีอาร์ จากโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่ได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็สามารถนำหลักฐานมาแจ้งเคลมกับบริษัทประกันได้

ปกติบริษัทประกันภัยจะใช้แนวทางปฏิบัติทางการแพทย์ของสาธารณสุข ยึดเป็นแนวทาง กำหนดเงื่อนไขความคุ้มครองอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อแนวทางจากสาธารณสุขเปลี่ยนไป เงื่อนไขความคุ้มครองของบริษัทประกันต้องปรับเปลี่ยนตาม จึงไม่ใช่เป็นเหตุมาจากบริษัทประกันปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด เช่น ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุข เคยกำหนดไว้ผู้ติดเชื้อโควิดจะต้องเข้ารักษาเป็นผู้ป่วยในทั้งหมด ก็เท่ากับว่าผู้ติดเชื้อจะได้รับความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล และค่าชดเชยทันที แต่ปัจจุบันเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนใหม่ สิทธิในการเคลมค่ารักษาผู้ป่วยในต้องเปลี่ยนไปด้วย นายอาภากร กล่าว

ติดต่อโฆษณา!