จับตา ศบค. ชุดใหญ่เคาะมาตรการเข้มข้นวาเลนไทน์-สงกรานต์ หลังผู้ติดเชื้อโควิดทะลุหลักหมื่น รักษาตัวกว่าแสนราย!
Highlight
ศูนย์ปฏิบัติการบริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มีพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศปก.ศบค. เป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายวัน ซึ่งเตรียมเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่พิจารณาแนวทางปฏิบัติหรือกำหนดมาตรการเข้มข้นในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์และเทศกาลสงกรานต์ที่จะมาถึงนี้ เนื่องจากขณะนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่าหมื่นรายต่อวัน ป่วยรักษาตัวเพิ่มกว่าแสนราย
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ที่มีพล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศปก.ศบค. เป็นประธานการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายวัน
โดยผลหารือของที่ประชุม ศปก.ศบค.ในวันนี้จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 11 ก.พ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ซึ่งคาดว่าที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่จะพิจารณาแนวทางปฏิบัติหรือกำหนดมาตรการเข้มข้นในช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์และเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากขณะนี้มีความกังวลหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงเกินหมื่นรายต่อวันอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในวันนี้ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จะรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันให้ที่ประชุมรับทราบ รวมทั้งเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวในรูปแบบ Test&Go, การเปิดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา, การตรวจ ATK ให้กับประชาชนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกมากยิ่งขึ้น, แผนการให้บริการฉีดวัคซีน โควิด-19, การจัดทำแผนความตกลง Air Travel Bubble (ATB) ระหว่างไทยกับอินเดีย, แนวทางการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นว่า ต้องดูในภาพรวม ซึ่งเท่าที่ติดตามข้อมูล จำนวนผู้เสียชีวิตยังมีเท่าเดิม ผู้ป่วยรุนแรงยังไม่เพิ่มขึ้น แต่การติดเชื้อมีการติดเชื้อในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ถ้าประชาชนได้รับวัคซีนครบถ้วน แม้ติดเชื้อก็ไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของแพทย์อยู่แล้ว
ส่วนช่วงเทศกาลสงกรานต์ คงต้องเน้นในเรื่องการขอความร่วมมือ รวมถึงวันวาเลนไทน์ ก็ต้องใช้มาตรการ Covid free setting เพื่อรักษาระยะห่างเช่นกัน
“ทุกวันนี้ ได้ขอความร่วมมือในมาตราการ Covid free setting ให้มากที่สุด และเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 และเข็ม 4 รวมถึงเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5 ขวบขึ้นไป คาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่ง ทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ และหากอาการป่วยหนักและอัตราเสียชีวิตยังควบคุมได้ ก็ต้องพยายามอยู่กับโควิดให้ได้”
นพ.ธีระ คาด Q2/65 ยอดโควิดพุ่ง ชี้โอมิครอนทำติดเชื้อซ้ำสูง
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ภาพรวมการระบาดของโควิดสายพันธุ์ Omicron ทั่วโลก หลายทวีปเป็นขาลง ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือและใต้ โอเชียเนีย และแอฟริกา ทั้งนี้ทวีปเอเชียชะลอตัว ยกเว้นหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังอยู่ในขาขึ้นชัดเจน รวมถึงประเทศไทยด้วย
ดังนั้น คาดการณ์ว่า ในไตรมาส 2/65 หลังพีคระลอกโอมิครอนในเดือนก.พ.คาดว่าขาลงของไทยจะมีจำนวนการติดเชื้อต่อวันในระดับสูงกว่าช่วงขาลงของระลอกก่อน ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอจึงมีความจำเป็น โดยการติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันในช่วงไตรมาส 2/65 หากพิจารณาจากธรรมชาติการระบาดของต่างประเทศ อาจเห็น 2 ลักษณะที่เพิ่มมากขึ้นถ้าไม่ป้องกันให้ดี คือ จำนวนผู้ที่ติดเชื้อซ้ำ (reinfection) จะสูงขึ้น และการติดเชื้อในกลุ่มประชากรที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจะมากขึ้นได้
ทั้ง 2 ลักษณะไม่ได้ทำให้แปลกใจ เพราะสอดคล้องกับความรู้เดิมที่มีอยู่ว่า ไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน นั้นหลบหลีกภูมิได้มาก และมีอัตราการทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำสูงกว่าสายพันธุ์เดิม
ทั้งนี้ สายพันธุ์ BA.2 ที่กลายพันธุ์และเป็นที่จับตามองกันอยู่นั้น ข้อมูลขณะนี้พบว่าแพร่เร็วกว่าโอมิครอนดั้งเดิมคือ BA.1 แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันไม่น่าจะต่างจากเดิม และอัตราการติดเชื้อซ้ำนั้นไม่ได้มากไปกว่า BA.1
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนกันคือ การติดเชื้อนั้นแม้จะรุนแรงน้อยกว่าเดลตา แต่ที่ควรระวังคือผลกระทบระยะยาวหลังจากติดเชื้อคือ Long COVID ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบชัดเจนว่าสายพันธุ์โอมิครอน จะทำให้เกิดภาวะนี้มากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนๆ ซึ่งพบว่ามีสัดส่วนสูงถึง 20-40% และเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย เกิดได้ทั้งในคนติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการรุนแรง ทั้งนี้ คาดว่าจะเห็นผลการวิจัยเรื่องนี้สำหรับสายพันธุ์โอมิครอน ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
ดังนั้น การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีกว่า ใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด และคนในที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน และไปตรวจรักษา เป็นการแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม
“โควิด-19 นั้นจะซาลงแน่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่นโยบายระดับชาติและการดำรงชีวิตของประชาชนต้องเป็นไปอย่างมีสติ ไม่ประมาท ขืนกระโดดไล่ตามกิเลส จะเสียหายหนักระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Long COVID”
ขณะที่สถานการณ์ทั่วโลกวันที่ 10 ก.พ. 65 ทะลุ 403 ล้านคน โดยวานนี้ (วันที่ 9 ก.พ.) ทั่วโลกติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 2,298,201 คน เสียชีวิตเพิ่ม 10,132 คน รวมแล้วติดเชื้อรวม 403,304,053 คน เสียชีวิตรวม 5,792,980 คน โดยประเทศ 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด คือ เยอรมนี รัสเซีย บราซิล อเมริกา และตุรกี
สำหรับจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกขณะนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 86.4% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 78.3% ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 51.24% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 34.43% โดยวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 12 ใน 20 อันดับแรกของโลก
อ้างอิง : ศบค. ไทยรู้สู้โควิด, RYT9.com