18 กุมภาพันธ์ 2565
3,096

เปิดขั้นตอนเข้ารักษา "โควิด" ตามสิทธิฟรี หากปลดพ้นฉุกเฉิน

เปิดขั้นตอนเข้ารักษา "โควิด" ตามสิทธิฟรี หากปลดพ้นฉุกเฉิน
Highlight

เปิดขั้นตอนเข้ารักษา “โควิด” ตามสิทธิฟรี หากปลดพ้นฉุกเฉิน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ และบัตรประกันสุขภาพต่างด้าวสำหรับขั้นตอนเข้ารักษา “โควิด” ตามสิทธิฟรี หากปลดพ้นฉุกเฉิน เนื่องจากอาการเจ็บป่วยจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้มีความรุนแรงอย่างในอดีต ในกรณีที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากถูกนำออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต  ก็สามารถใช้สิทธ์พื้นฐานในการเข้ารับการรักษาตามปกติ


ในช่วงแรกของการระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ที่เรายังไม่มีความรู้มากพอ จึงจำเป็นต้องควบคุมโรคอย่างเข้มงวด เมื่อพบผู้ติดเชื้อจึงนำเข้าสู่การกักรักษาในสถานพยาบาล เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ

แต่เมื่อ รพ.รัฐเริ่มรับผู้ติดเชื้อไม่เพียงพอ ต้องให้ รพ.เอกชนเข้ามาร่วมด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม. จึงมีการนำสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตรักษาทุกที่ (UCEP) มาใช้โดยประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคฉุกเฉินวิกฤต เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาที่ใดก็ได้

ทั้งนี้ การนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาในสถานพยาบาลทั้งหมด ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยโรคอื่นได้รับผลกระทบในการเข้ารับบริการ และไม่มีเตียงรองรับ แม้จะมีการเปิด รพ.สนาม ฮอสปิเทล มารองรับแล้วก็ตาม 

จึงนำมาสู่การรักษาด้วยระบบการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งพบว่า ไม่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อต่อ และเมื่อเชื้อกลายพันธุ์จนมาเป็น “โอมิครอน” ซึ่งแพร่เร็ว แต่ความรุนแรงลดลง โดยผู้ติดเชื้อ 80-90% ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้

ดังนั้น แนวทางการนำผู้ติดเชื้อทั้งหมดเข้าสู่สถานพยาบาลจึงไม่มีความจำเป็นในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงมีแนวคิดนำโรคโควิด 19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต เพราะอาการป่วยของผู้ติดเชื้อไม่ได้ฉุกเฉินวิกฤตอีกต่อไป 

จึงเตรียมปรับให้กลับมาใช้ระบบการรักษาตามสิทธิที่ประชาชนมีอยู่แล้ว ได้แก่ สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) , ประกันสังคม , สวัสดิการข้าราชการ และบัตรประกันสุขภาพต่างด้าว ซึ่ง สธ.ยืนยันชัดเจนว่า ยังเป็นการรักษาฟรีตามเดิม แต่ให้ไปรับบริการใน รพ.ตามสิทธิ

ส่วนกรณีผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการรุนแรงเข้าข่ายภาวะฉุกเฉิน เช่น หอบเหนื่อยรุนแรง ช็อก เป็นต้น ก็สามารถใช้สิทธิ UCEP ได้ตามปกติ ซึ่งมีการกำหนดลักษณะหรือเกณฑ์อาการที่เข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตไว้แล้ว

20210218-a-01.jpg

สำหรับแนวทางหรือขั้นตอนการรักษา “โควิด” ตามสิทธิที่มีฟรี สามารถดำเนินการได้ดังนี้

1. เมื่อผลการตรวจหาเชื้อด้วย ATK เป็นบวก ให้ติดต่อกองทุนสิทธิการรักษาของตนเองเพื่อขอเข้าระบบการดูแลรักษาที่บ้าน ซึ่งโรงพยาบาลเครือข่ายของแต่ละกองทุนจะมีการจัดระบบ Home Isolation ไว้รองรับอยู่แล้ว โดยบัตรทองโทร 1330 , ประกันสังคมโทร 1506 , เบิกจ่ายตรงข้าราชการโทร 02-2706400 และสิทธิต่าวด้าวโทร 02-5901578

2. ผู้ติดเชื้อจะได้รับการติดต่อกลับ เพื่อประเมินอาการ หากสามารถทำ Home Isolation ได้ จะมีสถานพยาบาลใกล้บ้านเข้ามาดูแล โดยแจกอุปกรณ์เพื่อติดตามอาการ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด รวมถึงอาหาร 3 มื้อ และมีการติดตามอาการทุกวัน

3. หากไม่สามารถทำ Home Isolation ได้ จะมีการติดต่อประสานเข้าศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) หรือหากสถานพยาบาลที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลมีฮอสปิเทล ก็อาจปรับมาดูแลยังฮอสปิเทลได้

4. หากระหว่างการดูแลรักษาที่บ้านมีอาการเปลี่ยนแปลง หรือมีอาการรุนแรงขึ้น จะได้รับการส่งต่อเพื่อเข้าสู่สถานพยาบาลตามระบบ

5. กรณีผลตรวจ ATK เป็นบวก หากไม่ได้โทรเข้าระบบ อาจติดต่อสถานพยาบาลเครือข่ายตามสิทธิ เพื่อขอเข้ารับการดูแล โดยสิทธิข้าราชการสามารถเข้ารับการดูแลจาก รพ.รัฐได้ทุกแห่ง , สิทธิบัตรทอง เข้ารับการดูแลจากโรงพยาบาลเครือข่ายบัตรทองตามนโยบายรักษาทุกที่ , สิทธิประกันสังคม มีแนวทางให้เข้ารักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายประกันสังคมทั้งหมดเช่นกัน และสิทธิต่างด้าวให้เข้า รพ.ที่ลงทะเบียนไว้

6. กรณีผลตรวจเป็นบวก แต่ไม่ต้องการเข้ารับการดูแลตามสิทธิการรักษาที่มี โดยต้องการเข้า รพ.เอกชนที่อยู่นอกเครือข่ายสถานพยาบาลตามสิทธิการรักษา กรณีนี้จำเป็นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง หรือใช้ประกันสุขภาพเอกชนที่ซื้อไว้มาเคลมได้

7. กรณีติดเชื้อโควิดแล้วมีอาการฉุกเฉินวิกฤตสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาได้ทุกที่ที่ใกล้บ้าน โดยเกณฑ์พิจารณาอาการวิกฤตมี 6 กลุ่มอาการ ได้แก่

  1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ
  2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัด มีเสียงดัง
  3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น 
  4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง
  5. แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีกพูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด
  6. อาการอื่นที่มีผลต่อการหายใจ ระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

ดังนั้น แม้จะปรับโรคโควิด 19 ออกจากโรคฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งขณะนี้ยังไม่แน่ชัดว่าจะเริ่ในวันที่ 1 มีนาคม หรือ 1 เมษายน ตามข้อเสนอของนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ที่ยืนยันได้แน่คือ การรักษาโควิดยังฟรีตามเดิม แค่เปลี่ยนกระเป๋าเงินจ่าย จากงบกลางโควิดมาเป็นกองทุนสิทธิการรักษาที่มีอยู่เดิมก็เท่านั้น

ติดต่อโฆษณา!